กรุงเทพฯ--12 มิ.ย.--กสทช.
วันนี้(12 มิ.ย.57) นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. เปิดเผยเหตุผลคัดค้าน ต่อกรณีการสนับสนุนนำเงินจาก กองทุนวิจัยฯ ตามที่คณะกรรมการบริการกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ(กทปส.) ได้เสนอให้พิจารณากรอบวงเงิน 427 ล้านบาท(ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) เพื่อให้แก่ บริษัทอาร์เอส อินเตอร์เนชั่นแนล บรอดคาสติ้ง แอนด์ สปอร์ต แมแนจเม้นท์ จำกัด ในฐานะเจ้าของลิขสิทธิ์ ถ่ายทอดฟุตบอลโลก 2014 เพื่อดำเนินการให้ประชาชนคนไทย รวมถึงคนพิการ ผู้รายได้น้อย คนด้อยโอกาส สามารถรับชมการแข่งขันบอลโลกรอบสุดท้าย รวม 64 นัด เนื่องจาก ความกังวลต่อความสอดคล้องของวัตถุประสงค์ของกองทุนวิจัยฯ ตามเจตนารมณ์ของพ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 รวมทั้งการพิจารณาครั้งนี้เป็นกระบวนการพิจารณาอย่างกะทันหัน ในระยะเวลาที่กระชั้นชิด โดยที่ยังไม่ได้มีการการประเมินผลกระทบอย่างรอบคอบรอบด้าน โดยก่อนหน้านี้ ตนได้ทำหนังสือถึง เลขาธิการ กสทช. ลงวันที่ 28 เม.ย. 2557 เพื่อเสนอให้สำนักงานดำเนินการเจรจากับ อาร์เอส เพื่อคุ้มครองประโยชน์ของประชาชนและผู้บริโภคในการรับชมกีฬาดังกล่าว
“....เงินกองทุนเป็นเงินสาธารณะ ไม่ใช่เงินส่วนตัวเหมือนเงินในตู้เอทีเอ็มที่เราจะกดใช้เมื่อไหร่ก็ได้ มันจะต้องมีธรรมมาภิบาลความโปร่งใส ยิ่งในยุคนี้ที่ คสช.เข้ามาบริหารประเทศ อยากให้หน่วยงานรัฐบริหารงบอย่างมีเหตุผล ส่วนตัวคิดว่า กระบวนการพิจารณาให้เงินอาร์เอสภายในวันเดียว น่าจะขัดหลักธรรมมาภิบาล ความโปร่งใส และประสิทธิภาพการใช้เงินต่อการตอบสนองผลประโยชน์สาธารณะอย่างแท้จริง...” สุภิญญา กล่าว
ทั้งนี้ คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดได้ตัดสินคดี โดยได้ระบุว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 กรรมการ กสทช. ควรจะต้องกำหนดบทเฉพาะกาล หรือมาตรการชดเชย หรือบรรเทาความเสียหายของผู้ฟ้องคดีที่มีสิทธิอยู่เดิม ตามมาตรา 36 แห่ง พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 (มีใจความว่า เพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิของคนพิการและคนด้อยโอกาสให้เข้าถึงหรือรับรู้และใช้ประโยชน์จากรายการฯได้อย่างเสมอภาคกับบุคคลทั่วไป ให้คณะกรรมการกำหนดมาตรการพื้นฐานบางประการ เพื่อให้ผู้รับใบอนุญาตจัดให้มีบริการที่เหมาะสมเพื่อประโยชน์ต่อกลุ่มบุคคลดังกล่าว โดยอาจกำหนดมาตรการใดๆเพิ่มเติมเพื่อให้ผู้รับใบอนุญาตพิจารณาปฏิบัติตามเหมาะสม โดยอาจพิจารณาสนับสนุนค่าใช้จ่ายจากกองทุนหรือวิธีอื่นๆ...) ซึ่งการพิจารณาให้งบครั้งนี้ เป็นการให้เงินแก่ บ.อาร์เอส อินเตอร์เนชั่นแนลฯ ที่ไม่ใช่เป็นผู้รับใบอนุญาตจาก กสทช. ตามมติ กสท. ครั้งที่ 16 วันที่ 29 เม.ย. 2556
ส่วนที่มาการวิเคราะห์ค่าใช้จ่ายนั้น สำนักงานได้คำนวณมาจาก คณะทำงานเพื่อประเมินมูลค่ากล่องรับสัญญาณสัญญาณโทรทัศน์ฯ ได้ทำการศึกษาพบว่า ต้นทุนกล่องราคาที่ 475 บาท ประกอบกับค่าเฉลี่ยค่าจัดการและกำไรอยู่ที่ 33% และต้นทุนอยู่ที่ 67% ของราคาขาย ดังนั้นค่าบริหารจัดการและกำไรควรไม่เกิน 233 บาทต่อกล่อง ซึ่งจากนี้ชวนสาธารณะช่วยกันตรวจสอบการใช้งบประมาณของกองทุนวิจัยฯ โดยเฉพาอย่างยิ่ง ผลกระทบต่อการใช้คูปองต่อไปในอนาคต
ในวันพรุ่งนี้ (13 มิ.ย.57) เวลา 14.30 ณ ชั้น 22 ตึกเอ็กซิมแบงก์ คณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์ ได้มีมติ เชิญตัวแทนอาร์เอส PSI และทรูวิชั่นส์ มาร่วมหาแนวทางเยียวยาผู้บริโภคที่ซื้อสิทธิไป