กทม.เดินหน้าโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชตามแนวพระราชดำริ

ข่าวทั่วไป Tuesday May 31, 2005 12:17 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--31 พ.ค.--กทม.
กทม.ร่วมกับโรงเรียนทุกสังกัดในพื้นที่ จัดสวนพฤกษศาสตร์ในโรงเรียนสานโครงการตามแนวพระราชดำริฯ พร้อมเร่ง 50 เขตสำรวจพันธุ์พืชหายาก และควรแก่การอนุรักษ์ เบื้องต้นนำร่อง 8 สวนสวยในกทม.
เมื่อวานนี้ (30 พ.ค.48) เวลา 10.00 น. นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช ตามโครงการตามพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อพิจารณาแผนแม่บท พื้นที่เข้าร่วมโครงการ และแผนปฏิบัติการรายปี 2548-2549
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กทม.ได้สนองโครงการตามแนวพระราชดำริฯ โดยจะดำเนินโครงการใน 433 โรงเรียนในสังกัดกทม. และประสานความร่วมมือกับโรงเรียนในสังกัดอื่นๆ ในเขตกรุงเทพมหานคร เพื่อจัดทำโครงการสวนพฤกษศาสตร์ใน โรงเรียน อีกทั้งยังมอบหมายให้ 50 สำนักงานเขตไปสำรวจพื้นที่ เช่น บริเวณวัด และชุมชน ซึ่งมีต้นไม้เก่าแก่ พันธุ์พืชหายาก และพันธุ์พืชที่ควรอนุรักษ์ เพื่อรวบรวมเป็นข้อมูลความรู้ตามโครงการ นอกจากนี้สำนักงานสวนสาธารณะจะสำรวจสวนสาธารณะทุกแห่งในกทม.จัดเป็นสวนพฤกษศาสตร์ภายในพื้นที่เพิ่มเติม ในเบื้องต้นมี 8 สวน ได้แก่ สวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ สวนธนบุรีรมย์ สวนวชิรเบญจทัศ (สวนรถไฟ) สวนหลวง ร.9 สวนหนองจอก สวนลุมพินี สวนสราญรมย์ และสวนธรรมะซึ่งเป็นสวนแห่งใหม่ที่กำลังก่อสร้างในพื้นที่เขตสวนหลวง โดยจะติดป้ายชื่อต้นไม้ทุกต้นทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ เพื่อเผยแพร่ให้เป็นที่รู้จัก อีกทั้งสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์พันธุ์พืชให้แก่เกษตรกร ชุมชน ครู นักเรียน ประชาชน และหน่วยงานต่างๆ ในการร่วมกันปกปักรักษาพันธุ์พืชที่มีชื่อเสียงและพืชประจำท้องถิ่นให้คงอยู่สืบไป
อย่างไรก็ตาม โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชฯ เป็นโครงการตามแนวพระราชดำริที่มีความสำคัญยิ่ง โดยกทม.ตั้งเป้าที่จะสร้างจิตสำนึกให้กับเยาวชน เกษตรกร ประชาชน และองค์กรต่างๆ ในพื้นที่ กทม.ให้มีความรู้ทางทรัพยากรธรรมชาติ มีการจัดทำระบบฐานข้อมูลพันธุกรรมพืชและจัดตั้งศูนย์ข้อมูลพันธุ์ไม้โบราณ อีกทั้งจัดสร้างสวนพฤกษศาสตร์ ตลอดจนอนุรักษ์พันธุ์ไม้โบราณของท้องถิ่นที่หายากและใกล้สูญพันธุ์ เนื่องจากต้นไม้ 1 ต้นเป็นแหล่งเรียนรู้ของเด็กและเยาวชน โดยใช้สื่อธรรมชาติรอบตัว เป็นสื่อการเรียนการสอนเพื่อให้เด็กรู้จักตั้งคำถามและหาคำตอบด้วยตนเอง ทั้งนี้ กทม.พร้อมจะน้อมรับแนวพระราชดำริดังกล่าว และสนับสนุนนโยบายการเรียนการสอนจากห้องเรียนธรรมชาติ ตลอดจนการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม การอนุรักษ์พันธุกรรมพืชฯ การเรียนรู้ทรัพยากร การใช้ประโยชน์ และการสร้างจิตสำนึกของคนในชาติให้รู้รักหวงแหนพืชพรรณไม้ของไทยและอนุรักษ์ไว้ โดยดำเนินตามแนวทาง 8 กิจกรรม คือ กิจกรรมปกปัก กิจกรรมสำรวจรวบรวม กิจกรรมปลูกรักษา กิจกรรมอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ กิจกรรมศูนย์ข้อมูล กิจกรรมวางแผนและพัฒนา กิจกรรมสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์ และกิจกรรมพิเศษสนับสนุนการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช นอกจากนี้จะนำข้อมูล เกี่ยวกับโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชรวบรวมลงในเว็บไซต์ของกทม.ที่ www.bma.go.th เพื่อเผยแพร่ข้อมูลต่างๆ ให้เป็นที่รู้จักกว้างขวางมากยิ่งขึ้นด้วย
อนึ่ง กรุงเทพมหานคร ได้เข้าร่วมโครงการฯ ตั้งแต่ต้นปี พ.ศ.2546 โดยมีสำนักงานเขตจอมทองเป็นหน่วยงานหลักในการร่วมจัดกิจกรรม เนื่องจากมีพืชพันธุ์ไม้เก่าแก่เป็นจำนวนมาก สำหรับในปีนี้ สำนักพระราชวัง กำหนดจะจัดการประชุมวิชาการและนิทรรศการ หัวข้อ “สรรพสิ่งล้วนพันเกี่ยว” ณ ต.คลองไผ่ อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา ในเดือนตุลาคม 2548--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ