กรุงเทพฯ--16 มิ.ย.--ปตท.
ฝ่ายกลยุทธ์และแผนธุรกิจ หน่วยธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) รายงานสรุปสถานการณ์น้ำมัน โดยราคาเฉลี่ยในสัปดาห์ที่ผ่านมาเมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อนหน้า ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) เพิ่มขึ้น 2.30 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 110.99 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดิบดูไบ (Dubai) เพิ่มขึ้น 1.34 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 106.65 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดิบเวสท์เท็กซัสฯ (WTI) เพิ่มขึ้น 2.74 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 105.32 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95 เพิ่มขึ้น 0.68 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 120.87 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้น 1.30 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 119.67 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ปัจจัยที่ส่งผลกระทบ ได้แก่
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก
- Islamic State in Iraq and the Levant (ISIL) กลุ่มมุสลิมหัวรุนแรงนิกายสุหนี่ในอิรักผนึกกำลังกับนักรบ al Qaeda ขยายขอบเขตการยึดครองพื้นที่ทางตอนเหนือของเมืองโมซุลรุกคืบออกสู่ด้านใต้ ซึ่งรวมไปถึงโรงกลั่นน้ำมัน Baiji (กำลังการกลั่น 300,000 บาร์เรลต่อวัน) ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศ เพื่อท้าทายอำนาจของรัฐบาลที่นำโดยชาวมุสลิมนิกายชีอะห์
- สำนักงานสารสนเทศพลังงานของสหรัฐฯ (EIA) ปรับเพิ่มประมาณการอัตราการเพิ่มอุปสงค์น้ำมันดิบในปี 57 เพิ่มขึ้นจากคาดการณ์ครั้งก่อน 230,000 บาร์เรลต่อวัน เพิ่มขึ้นจากปี 56 มาอยู่ที่ 1.31 ล้านบาร์เรลต่อวัน และโลกจะมีอุปสงค์น้ำมันในปี 57 ที่ระดับ 91.79 ล้านบาร์เรลต่อวัน
- ธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) เปิดเผยยอดสินเชื่อผู้บริโภคของสหรัฐฯในเดือน เม.ย.57 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 10.2% อยู่ที่ 3.18 ล้านล้านดอลลาร์ สูงสุดในรอบเกือบ 3 ปี ซึ่งมูลค่าการกู้ยืมของผู้บริโภคเพิ่มขึ้นบ่งชี้ผู้บริโภคกู้ยืมเงินเพื่อนำมาใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น นับเป็นสัญญาณบวกต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจสหรัฐฯที่การใช้จ่ายผู้บริโภคคิดเป็นประมาณ 70% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ
- กรมศุลกากรจีน รายงานปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบของประเทศ ในเดือน พ.ค. 57 ลดลงสู่ระดับ 6.17 ล้านบาร์เรลต่อวัน (ลดลงจากเดือนก่อน 640,000 บาร์เรลต่อวัน) อุปสงค์น้ำมันดิบลดลงจากการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศช่วงต้นปีไม่แข็งแกร่ง และโรงกลั่นหลายแห่งปิดซ่อมบำรุง และสำนักวิจัยพลังงาน Energy Aspects รายงานอัตราการกลั่นของจีนเดือน พ.ค. 57 ลดลง 130,000 บาร์เรลต่อวัน อยู่ที่ 9.52 ล้านบาร์เรลต่อวัน เนื่องจากผลตอบแทนการกลั่นของน้ำมันสำเร็จรูปไม่คุ้มทุนในการส่งออก
- EIA รายงานกำลังการผลิตน้ำมันดิบในสหรัฐฯซึ่ง รายงาน ณ. สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 23 พ.ค. 57 อยู่ที่ระดับ 8.47 ล้านบาร์เรลต่อวัน (สูงสุดในรอบ 27 ปี) และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอีกกว่า 67,000 บาร์เรลต่อวัน ในเดือน ก.ค. 57 จากกำลังการผลิต Shale oil ประกอบกับปริมาณสำรองน้ำมันดิบของสหรัฐฯยังคงอยู่ในระดับสูง
- ที่ประชุม OPEC มีมติคงเป้าหมายการผลิตน้ำมันดิบของกลุ่มไว้ที่ 30 ล้านบาร์เรลต่อวันเช่นเดิม ในการประชุมประจำครึ่งปีที่กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย เนื่องจากเห็นว่าอุปสงค์กับอุปทานน้ำมันดิบโลกอยู่ในภาวะสมดุลดีแล้ว และราคาในปัจจุบันได้เหมาะสมสอดคล้องกับความต้องการของทุกฝ่ายทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค
แนวโน้มราคาน้ำมันดิบ
ราคาน้ำมันดิบปรับเพิ่มขึ้นจากกลุ่มติดอาวุธ รัฐอิสลามในอิรักและลีแวนต์ (Islamic State of Iraq and the Levant หรือ ISIL) ที่เป็นชาวมุสลิมนิกายสุหนี่ จู่โจมยึดเมืองสำคัญในดินแดนอิรักจากรัฐบาลนิกายชีอะห์ ISIL เข้าควบคุมเมืองสำคัญได้หลายแห่งและกระจายกองทัพไปทางใต้ของประเทศบุกโจมตีเมืองต่างๆ ต่อเนื่องและรุกคืบใกล้ถึงเมืองหลวงแบกแดดที่หัวหน้ากองกำลังขู่ฝ่ายรัฐบาลว่าจะเข้ายึดเมืองหลวง ขณะที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ส่งกองเรือบรรทุกเครื่องบินสู่อ่าวเปอร์เซีย และอพยพเจ้าหน้าที่สถานฑูตบางส่วนอนึ่งกำลังการผลิตน้ำมันดิบของอิรักปริมาณกว่า 3.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน ไม่ได้รับผลกระทบเนื่องจากแหล่งผลิตและส่งออกน้ำมัน ส่วนใหญ่อยู่ทางตอนใต้ของประเทศ จากท่า Basrah ในอ่าวเปอร์เซีย ด้านตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐฯสหรัฐฯปรับดีขึ้นซึ่ง ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯสาขาเมือง เซนต์หลุยส์ระบุเศรษฐกิจตัวฟื้นตัวใกล้สู่สภาวะระดับเดียวกันช่วง 5 ปีก่อน ขณะที่ทางการจีนเร่งออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ โดยธนาคารกลางจีนประกาศปรับลดสัดส่วนการกันสำรองของธนาคารพาณิชย์ (RRR หรือ Required Reserve Ratio) ตั้งแต่วันที่ 16 มิ.ย.57 เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้เงินทุนของผู้ประกอบการและส่งเสริมการบริโภคของประชาชน อย่างไรก็ตามกำลังการผลิตน้ำมันดิบในสหรัฐฯ ที่ EIA รายงานสูงสุดในรอบ 27 ปี ณ. สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 23 พ.ค. 57 ที่ระดับ 8.47 ล้านบาร์เรลต่อวัน ทางเทคนิคราคาน้ำมันดิบ ทางเทคนิคสัปดาห์นี้ราคาน้ำมันดิบ Brent จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ
112 - 115.13 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันดิบ Dubai มีแนวรับและแนวต้านอยู่ที่ 108-111.1 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล และน้ำมันดิบ WTI จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 106 - 108.72 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันเบนซิน
สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาน้ำมันเบนซินปรับเพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันดิบ และจากโรงกลั่นน้ำมัน Oita (กำลังการกลั่น 136,000 บาร์เรลต่อวัน) ของผู้ประกอบการกลั่นน้ำมัน JX Nippon Oil & Energy ในญี่ปุ่นเลื่อนเปิดดำเนินการออกไป 3 วันจากเดิมที่กำหนดไว้เป็นวันที่ 17 มิ.ย. 57 ประกอบกับยอดส่งออกน้ำมันเบนซินจากไต้หวันเดือน เม.ย. 57 ลดลง มาอยู่ที่ 2.30 ล้านบาร์เรล ลดลงจากเดือนก่อน 27.8% และต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีก่อน 33.7% เพราะโรงกลั่นน้ำมัน Mailiao (กำลังการกลั่น 540,000 บาร์เรลต่อวัน) ของผู้ประกอบการกลั่นน้ำมัน Formosa Petrochemical Corp. (FPC) ปิดซ่อมบำรุง และ Petroleum Association of Japan (PAJ) รายงานปริมาณสำรองน้ำมันเบนซิน ของญี่ปุ่น สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 7 มิ.ย. 57 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 32,000 บาร์เรล อยู่ที่ 12.14 ล้านบาร์เรล อย่างไรก็ตามอุปสงค์น้ำมันเบนซินในภูมิภาคยังไม่แข็งแกร่งนักเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า สำหรับสัปดาห์นี้คาดว่า ราคาน้ำมันเบนซินเคลื่อนไหวที่ระดับ 122-125.1 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซล
สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาน้ำมันดีเซลปรับเพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันดิบ และ เหตุระเบิดที่โรงกลั่นน้ำมัน Yangzi (กำลังการกลั่น 250,000 บาร์เรลต่อวัน) ของบริษัท Sinopec ของจีนในมณฑลเจียงซู อย่างไรก็ตาม Reuters รายงานจากมุมมองของผู้ค้าว่าไม่น่ามีผลกระทบต่ออุปทานน้ำมันดีเซลปในจีนที่อยู่ในภาวะล้นตลาดและเหลือตกค้างมาจากก่อนหน้าซึ่ง Reuters รายงานว่าจีนมีแนวโน้มส่งออกน้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้นเนื่องจากอุปสงค์ในประเทศตกต่ำตามสภาวะเศรษฐกิจ ขณะที่ปริมาณสำรองน้ำมันดีเซล ของญี่ปุ่น สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 7 มิ.ย. 57 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 30,000 บาร์เรล อยู่ที่ 10.42 ล้านบาร์เรล เป็นอีกปัจจัยที่สนับสนุนราคาน้ำมันดีเซลปรับตัวเพิ่มขึ้น สำหรับสัปดาห์นี้คาดว่า ราคาน้ำมันดีเซลเคลื่อนไหวที่ระดับ 121.15-124.25 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล