กรุงเทพฯ--16 มิ.ย.--เอเอสวี อินเตอร์ กรุ๊ป
เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลนั้นเป็นแมลงปากดูด ตัวเต็มวัยจะมีสีน้ำตาลปนดำ แบ่งออกเป็น ชนิดปีกสั้นและชนิดปีกยาว อพยพเคลื่อนย้ายด้วยการอาศัยกระแสลมช่วย ลักษณะการเข้าทำลายทั้งตัวอ่อนและตัวเต็มวัยสามารถเข้าทำลายด้วยการดูดกินน้ำเลี้ยงบริเวณโคนต้นเหนือผิวน้ำ ทำให้ต้นข้าวมีอาการใบเหลืองแห้งตายเป็นหย่อมๆ โดยมากจะพบในระยะแตกกอถึงออกรวง นอกจากนี้ยังเป็นพาหะของโรคใบหงิกในข้าวอีกด้วย
นายโอฬาร พิทักษ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลเป็นศัตรูพืชสำคัญอีกชนิดหนึ่ง ที่ทำความเสียหายให้กับเกษตรกรผู้ปลูกข้าวมาตลอด โดยเฉพาะในเขตชลประทาน พื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง และภาคกลาง ซึ่งมีการปลูกข้าวกันอย่างต่อเนื่อง 2-3 รอบการผลิตต่อปี ทำให้ไม่สามารถตัดวงจรการระบาดให้หมดไปได้ อีกทั้งยังมีการใช้สารเคมีในนาข้าวทำให้เกิดการดื้อยา และทำลายแมลงศัตรูธรรมชาติของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล ยิ่งทำให้การระบาดทวีความรุนแรงมากขึ้น จนบางครั้งสร้างความเสียหายจนสิ้นเนื้อประดาตัวกันเลยทีเดียว
อธิบดีฯ กล่าวเพิ่มเติมว่าจากรายงานสถานการณ์ศัตรูข้าวล่าสุด เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2557 มีพื้นที่ปลูกข้าวจำนวน 12,791,554 ไร่ ใน 68 จังหวัด เวลานี้ยังไม่พบการระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล แต่ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ กรมส่งเสริมการเกษตรโดยสำนักงานเกษตรจังหวัดในพื้นที่ได้มีการรณรงค์ให้ความรู้ และดำเนินการจัดทำข่าวแจ้งเตือนการระบาดให้เกษตรกรทราบอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งให้คำแนะนำในการป้องกันกำจัดอย่างถูกวิธีแก่เกษตรกร เนื่องจากในช่วงฤดูนาปีพื้นที่โดยรอบที่เคยเกิดการระบาด และพื้นที่ใกล้เคียงอาจจะเกิดการระบาดซ้ำขึ้นอีก จึงขอให้เกษตรกรเฝ้าระวัง สำรวจปริมาณของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล ตั้งแต่ระยะกล้า โดยเฉพาะในพื้นที่การปลูกข้าวพันธุ์อ่อนแอต่อเพี้ยกระโดดสีน้ำตาล เช่น พันธุ์ปทุมธานี1 ชัยนาท1 ชัยนาท2 และชัยนาท80 เป็นต้น หากเกษตรกรสำรวจพบเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล 7 – 10 ตัวต่อจุดสำรวจ ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ทราบโดยด่วน เพื่อดำเนินการควบคุมตามคำแนะนำทางวิชาการ เช่น ควรกำจัดตัวแก่ที่มาเล่นแสงไฟตามบ้านด้วยการใช้สวิงโฉบ ใช้ใบตองทาน้ำมันพืชหรือน้ำมันเครื่องที่ใช้แล้วหรือกาวเหนียว ใช้เครื่องดูดแมลงกับดักแสงไฟทั้งนี้ควรทำโดยพร้อมเพรียงกันในแต่ละชุมชนเพื่อลดจำนวนตัวแก่ที่จะวางไข่ในนา การระบายน้ำออกจากแปลงนาเพื่อให้แปลงนาไม่เหมาะสมกับการอยู่อาศัยของเพลี้ย และมดสามารถขึ้นมากัดกินเพี้ยได้ แต่ถ้าพบมากกว่า 5 ตัวต่อจุดสำรวจ ควรฉีดพ่นด้วย “เชื้อราบิวเวอเรีย” หรือสารสกัดสะเดา หากการระบาดมีความรุนแรงมากก็จำเป็นต้องใช้สารเคมีในการควบคุมแต่ต้องเป็นไปตามคำแนะนำของราชการ เป็นต้น
อย่างไรก็ตามเกษตรกรต้องให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรในพื้นที่ ในการเฝ้าระวังการระบาดในแปลงของตนเองอย่างสม่ำเสมอ และปฏิบัติตามคำแนะนำของทางการอย่างเคร่งครัด ไม่ควรใช้สารเคมีโดยไม่มีความจำเป็นเพราะจะทำให้เกิดการอพยพของเพลี้ยกระโดดสีน้ำ แพร่กระจายมากขึ้น และยังเป็นการเสียค่าใช้จ่ายโดยเปล่าประโยชน์ อธิบดีฯ กล่าวในที่สุด