กรุงเทพฯ--16 มิ.ย.--ซูม พีอาร์
ถ้าจะพูดถึงสถานการณ์ข้าวในขณะนี้ คาดว่าอารมณ์ความรู้สึกของพี่น้องชาวนาชาวไร่คงจะมีความรู้สึกที่แตกต่างจากห้วงเวลา 3-4 เดือนที่ผ่านมา เนื่องด้วยทาง คสช. (คณะรักษาความสงบแห่งชาติ) ได้นำเงินส่วนที่เหลือจากการค้างจ่ายให้ชาวนาอีก 92,000 ล้านบาทนั้นออกมาทยอยจ่ายให้เรียบร้อยแล้ว และคาดว่าจะเสร็จสิ้นภายในเดือนมิถุนายน 57 นี้อย่างแน่นอน ขยายความให้เห็นชัดเจนขึ้นก็คือในเดือนกรกฎาคม 57 เป็นต้นไป เงินจำนวนนี้จะช่วยทำให้ไพร่ฟ้าหน้าใสขึ้นมาได้บ้างไม่มากก็น้อย โดยจะมีเงินไปจ่ายค่าเทอม ค่าปุ๋ย ค่ายา ค่าน้ำ ค่าไฟ และดอกเบี้ยให้พอได้มีชีวิตที่ลื่นไหลไปตามอัตภาพ
หากมองออกไปนอกรั้วนอกบ้านของเรา จะเห็นว่าความต้องการข้าวทั่วโลก มีแต่จะเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆเนื่องจากประชากรโลกที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับความต้องการสต๊อกข้าวขององค์การเกษตรและอาหารแห่งสหประชาชาติ (FAO) ที่ต้องการสำรองข้าวไว้เผื่อกรณีฉุกเฉิน ถ้าไปดูปริมาณผลผลิตข้าวโลกที่ทาง FAO. คาดการณ์ในปี 2557/58 มี 501.1 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 0.8 % ทำให้ปริมาณสต๊อกข้าวโลกมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 174.8 ล้านตันเป็น 180.9 ล้านตัน ตัวเลขเหล่านี้สะท้อนนัยยะบางอย่างเกี่ยวกับความสำคัญ หรือความจำเป็นเกี่ยวกับอาหารของมนุษยชาติที่มีการตื่นตัว สอดคล้องกับคำกล่าวที่อมตะของหม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร " เงินทองคือมายา ข้าวปลาคือของจริง "
หลายคนยังคงเข้าใจผิดว่า ประเทศประเทศไทย คือผู้ผลิตข้าวได้มากที่สุดในโลก ซึ่งความจริงคือ ประเทศจีน อินเดีย บังคลาเทศ และเวียดนาม ตามลำดับ แต่ไทยเรานั้นโชคดีที่มีผลิตผลออกมา เหลือสำหรับจำหน่ายได้มากเป็นอันดับหนึ่ง เพราะประชากรของเราน้อยกว่าประเทศที่มีพื้นที่ปลูกข้าว จึงมีข้าวเหลือเฟือให้โรงสีกว่า 5,000 แห่ง รวมถึงพ่อค้าผู้ส่งออกกว่า 200 ราย แต่ถ้ายักษ์ใหญ่อย่างจีนและอินเดีย สามารถพัฒนาจนเป็นผู้ผลิตข้าวเพื่อการส่งออก และเป็นผู้กำหนดราคาข้าวโลก คงจะสร้างความปั่นป่วนวงการค้าข้าวโลกอย่างมาก โดยเฉพาะกับประเทศไทยเรา
ดังนั้นลูกหลานไทยที่มีหัวใจเกษตร และบรรพชนกระดูกสันหลังของชาติ จะต้องช่วยกันรณรงค์พัฒนาให้ภาคเกษตรของไทย มีความก้าวหน้าให้ทัดเทียมนานาอารยะประเทศ ในแง่การทำเกษตรควบคู่ไปกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ไม่เผาอินทรียวัตถุ ตอซัง ฟางข้าว ไม่ใช้สารพิษ ลดการใช้เมล็ดพันธุ์ หันมาใช้วัสดุทดแทนปุ๋ยเคมีจากหินแร่ภูเขาไฟธรรมชาติ ใช้ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก ใช้สมุนไพรไล่แมลง ใช้จุลินทรีย์ชีวภาพทดแทนยาฆ่าแมลง และตรวจวัดกรดด่างของดินก่อนปลูก ถือเป็นทางเลือกให้พี่น้องเกษตรกร ในการลดต้นทุน และเป็นทางเลือกให้ผู้บริโภคได้มีอาหารที่ปลอดภัยไว้รับประทาน แถมยังเป็นการรักษ์โลกและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมด้วย
ชมรมเกษตรปลอดสารพิษ จึงขอเชิญชวนให้ ลด ละ เลี่ยง เลิก การใช้สารพิษในการเกษตร และหันมาทำเกษตรแบบปลอดสารพิษ ซึ่งเป็นวิถีที่ทำมาแต่ดั้งเดิม ให้เป็นแนวทางในการปฏิบัติแบบบูรณาการ เพื่อความปลอดภัยของพี่น้องเกษตรกร และผู้บริโภคอย่างยั่งยืน
สำหรับผู้ที่มีข้อสงสัย หรือต้องการคำปรึกษา สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้โดยตรงที่ 02 986 1680-2
สนับสนุนบทความโดย นายมนตรี บุญจรัส
กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทยกรีน อะโกร จำกัด