กรุงเทพฯ--16 มิ.ย.--Master Poll
มาสเตอร์โพลล์ (Master Poll) ชมรมนักวิจัยไทยความสุขชุมชน เสนอผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง ความสุขมวลรวมของคนไทยภายหลังมีคณะรักษาความสงบแห่งชาติ: กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป
ดร.นพดล กรรณิกา ประธานชมรมนักวิจัยไทยความสุขชุมชน (Thai Researchers in Community Happiness Association, TRICHA) เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจ Master Poll เรื่อง ความสุขมวลรวมของคนไทยภายหลังมีคณะรักษาความสงบแห่งชาติ กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไปใน 17 จังหวัดทั่วประเทศ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ อุตรดิตถ์ สุโขทัย เพชรบูรณ์ ปทุมธานี ชลบุรี ฉะเชิงเทรา กาญจนบุรี เพชรบุรี หนองบัวลำภู สกลนคร ศรีสะเกษ ขอนแก่น พัทลุง ระนอง และสุราษฎร์ธานี จำนวนทั้งสิ้น 1,209 ครัวเรือน ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 8-14 มิถุนายน 2557 ที่ผ่านมา ผลการสำรวจพบว่า
หลังจากมีคณะรักษาความสงบแห่งชาติเกิดขึ้น ประชาชนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 80.8 ระบุมีความสุขเพิ่มขึ้น ในที่ร้อยละ 19.2 ระบุความสุขลดลง โดยผลการวิเคราะห์พบสาเหตุหลักที่ทำให้ประชาชนมีความสุขเพิ่มขึ้น เพราะคณะรักษาความสงบแห่งชาติช่วยลดความแตกแยกทางการเมืองของคนในชาติ ความรักความสามัคคีของคนในชาติเพิ่มขึ้น ปัญหาปากท้องได้รับการแก้ไข รายได้เพิ่มขึ้น ได้รับการแก้ปัญหาที่ค้างคาไว้นานในช่วงที่มีการชุมนุมประท้วง รู้สึกปลอดภัยมากขึ้น ความตึงเครียดทางการเมืองลดลง และสุขภาพจิตดีขึ้น เป็นต้น
เมื่อจำแนกตามภูมิภาคพบว่า ตัวอย่างมากกว่า 2 ใน 3 ของทุกภูมิภาคระบุมีความสุขเพิ่มมากขึ้นหลังจากที่มีคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เรียงตามลำดับดังนี้ ภาคใต้ คิดเป็นร้อยละ 94.0 ภาคกลาง คิดเป็นร้อยละ 83.2 ภาคเหนือ คิดเป็นร้อยละ 82.8 กรุงเทพมหานคร คิดเป็นร้อยละ 80.9 ในขณะที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือนั้น คิดเป็นร้อยละ 72.4 ตามลำดับ
เมื่อสอบถามความคิดเห็นของตัวอย่างถึงความสุขที่มีอยู่ในวันนี้หลังจากที่มีคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ผลการสำรวจพบว่า ตัวอย่างร้อยละ 1.2 ระบุไม่มีความสุขเลย ร้อยละ 5.8 ระบุน้อย ร้อยละ 28.2 ระบุปานกลาง ในขณะที่ประมาณครึ่งหนึ่งคือ ร้อยละ 53.3 ระบุมีความสุขมาก และร้อยละ 11.5 ระบุมีความสุขมากที่สุด ทั้งนี้คะแนนเฉลี่ยความสุขโดยภาพรวมเท่ากับ 7.0 จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน
สอดคล้องกับผลการวิเคราะห์เมื่อจำแนกตามภูมิภาค ที่พบว่า ประชาชนประมาณ 2 ใน 3 ของทุกภูมิภาคระบุมีความสุขมาก - มากที่สุด ทั้งนี้หากพิจารณาคะแนนความสุขเฉลี่ยของแต่ละภูมิภาค พบว่า ภาคใต้มีคะแนนความสุขเฉลี่ยสูงสุดเท่ากับ 7.45 จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน รองลงมาคือ ภาคกลาง เท่ากับ 7.19 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เท่ากับ 6.97 กรุงเทพมหานคร เท่ากับ 6.94 และภาคเหนือเท่ากับ 6.76 คะแนนตามลำดับ
จากการพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 54.6 เป็นหญิง ร้อยละ 45.4 เป็นชาย ตัวอย่างร้อยละ 6.8 อายุน้อยกว่า ปี ร้อยละ 2017.5 อายุระหว่าง 20 – 29 ปี ร้อยละ 23.2 อายุระหว่าง 30 – 39 ปี ร้อยละ 21.9 อายุระหว่าง 40–49 ปี และร้อยละ 30.6 อายุ 50 ปีขึ้นไป ตัวอย่างร้อยละ 74.0 สำเร็จการศึกษาต่ำกว่าระดับปริญญาตรี ร้อยละ 25.0 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี และร้อยละ 1.0 สำเร็จการศึกษาสูงกว่า ปริญญาตรี ตัวอย่างร้อยละ 39.0 ระบุอาชีพค้าขาย/ธุรกิจส่วนตัว ร้อยละ 22.4 ระบุเป็นพนักงานเอกชน ร้อยละ 20.0 ระบุอาชีพรับจ้างทั่วไป ร้อยละ 9.7 ระบุเป็นข้าราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 4.0 เป็นแม่บ้าน /พ่อบ้าน /เกษียณอายุ ร้อยละ 4.0 ระบุเป็นนักเรียน/นักศึกษา ในขณะที่ร้อยละ 0.9 ระบุว่างงาน /ไม่ประกอบอาชีพ