กรุงเทพฯ--17 มิ.ย.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์
สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เผยต้นแบบอุปกรณ์รักษาความปลอดภัยของข้อมูลโดยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการเข้ารหัส – ถอดรหัสลับแบบเคออติก ซึ่งอาศัยการเกิดปรากฏการณ์เคออส (Chaos) ที่เกิดขึ้นในวงจรกรองสัญญาณดิจิตอลมาประยุกต์ใช้งานในด้านการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลจากฝีมือคนไทย ที่มีจุดเด่นคือ เป็นระบบที่ไวต่อการเปลี่ยนแปลงของค่าเงื่อนไขเบื้องต้น ทำให้ไม่สามารถทำนายค่าระบบเคออติกได้ในระยะยาว ซึ่งส่งผลให้ได้ระบบเข้ารหัสลับที่มีความปลอดภัยของข้อมูลสูง ทั้งนี้เพื่อรองรับความปลอดภัยจากการโจรกรรมข้อมูล รวมถึงการทำธุรกรรมบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ตต่าง ๆ ดังข้อมูลจาก ไซแมนเทค บริษัทผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยเผยว่า ภัยคุกคามด้านความปลอดภัยบนอินเทอร์เน็ตของประเทศไทยในปี 2556 อยู่อันดับที่ 28 ของโลก โดยมีเป้าหมายหลักคือ การโจรกรรมข้อมูลเพื่อนำไปแอบอ้างในการทำธุรกรรมทางการเงิน โดยกลุ่มผู้บริโภคสินค้าออนไลน์มีความเสี่ยงจากการโจรกรรมข้อมูลสำคัญสูง ซึ่งเป็นผลจากการกรอกข้อมูลสำคัญในการทำธุรกรรมทางการเงินบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ทั้งนี้ ความก้าวหน้าของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมถึงอิทธิพลของสื่อสังคมออนไลน์ ทำให้ผู้ประกอบการขยายช่องทางการตลาดเพื่ออำนวยความสะดวกสบายในการซื้อขายสินค้าและชำระเงิน โดยกลุ่มผู้บริโภคมีอายุตั้งแต่ 15 – 40 ปีขึ้นไป สินค้าที่ได้รับความนิยมซื้อผ่านสื่อสังคมออนไลน์มีมากมาย อาทิ สินค้าแฟชั่น สินค้าไอที ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมเพื่อสุขภาพและความงาม และเครื่องสำอาง พร้อมกันนี้ภายในงานได้มีการแนะนำและสาธิตระบบการเข้ารหัส – ถอดรหัสลับแบบเคออติกบนอุปกรณ์ Raspberry Pi ผ่านการรับ – ส่งข้อมูลระหว่างเครื่องคอมพิวเตอร์ 2 เครื่อง และต้นแบบแอปพลิเคชันบนสมาร์ทโฟนสำหรับการรับ – ส่งข้อมูลลับในรูปแบบข้อความสั้น (SMS)
สำหรับนิสิต นักศึกษาและประชาชนทั่วไป สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ส่วนสารนิเทศและประชาสัมพันธ์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง หมายเลขโทรศัพท์ 02-329-8111 หรือเข้าไปที่ www.pr.kmitl.ac.th
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ศรวัฒน์ ชิวปรีชา อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมโทรคมนาคม คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) นักวิจัยเจ้าของนวัตกรรมรักษาความปลอดภัยของข้อมูลกล่าวว่า วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมีความเจริญก้าวหน้าขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อกระบวนการดำเนินชีวิตของมนุษย์หลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านสังคม วัฒนธรรม เศรษฐกิจ การเมือง อีกทั้งเทคโนโลยียังช่วยตอบสนองความต้องการของผู้ใช้ในการประกอบการหรือดำเนินกิจกรรมในทุกสถานที่และทุกเวลา จากข้อมูลของสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) ได้แบ่งประเภทการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ตามลักษณะการดำเนินงานไว้ 5 ประเภท คือ 1. E-Payment การชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ 2. E-Trading and Service การซื้อขายสินค้าและบริการทางอิเล็กทรอนิกส์ 3. E-Certificate การรับรองสิทธิ์ทางอิเล็กทรอนิกส์ 4. E-Health การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ และ 5. E-Filing and E-Reporting การยื่นคำร้องคำขอหนังสือ/เอกสารทางอิเล็กทรอนิกส์และการจัดทำรายงานและเผยแพร่ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงการติดต่อสื่อสารบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ตที่การรับส่งข้อมูลและข่าวสารมีความทันสมัยและสะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น การติดต่อสื่อสารมีทั้งระหว่างบุคคล สื่อสารภายในองค์กร และสื่อสารระหว่างองค์กร ซึ่งการติดต่อสื่อสารมักจะมีข้อมูลสำคัญที่ต้องการปกปิดเป็นความลับ ผู้ส่งและผู้รับสารจึงจำเป็นต้องระมัดระวังในการส่งข้อมูลเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในยุคปัจจุบันที่มีเครือข่ายอินเทอร์เน็ตเป็นตัวเชื่อมโยงถึงกันทุกภาคส่วน ทำให้กลุ่มคนมิจฉาชีพสามารถใช้ช่องทางนี้ในการโจรกรรมข้อมูลส่วนตัว หรือข้อมูลที่เป็นความลับต่าง ๆ ได้ ซึ่งปัจจุบันภัยจากการโจรกรรมข้อมูลมีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น ดังข้อมูลจาก ไซแมนเทค บริษัทผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยเผยว่า ภัยคุกคามด้านความปลอดภัยบนอินเทอร์เน็ตของประเทศไทยในปี 2556 อยู่อันดับที่ 28 ของโลก โดยขึ้นจากปี 2555 ซึ่งอยู่อันดับที่ 29 โดยมีเป้าหมายหลักคือ การโจรกรรมข้อมูลเพื่อนำไปแอบอ้างในการทำธุรกรรมทางการเงิน
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ศรวัฒน์ กล่าวเสริมถึงเทคโนโลยีรักษาความปลอดภัยของข้อมูลว่า การเข้ารหัส – ถอดรหัสลับ เป็นอีกหนึ่งเทคโนโลยีที่ใช้ในการป้องกันข้อมูลอย่างแพร่หลาย ซึ่งเทคโนโลยีนี้มีหลากหลายรูปแบบ ทางทีมวิจัยได้มีการพัฒนารูปแบบของการเข้ารหัสลับข้อมูลให้มีความปลอดภัยสูงขึ้น โดยการประยุกต์ใช้ทฤษฎีเคออส (Chaos) ที่มีจุดเด่นคือ เป็นระบบที่ไวต่อการเปลี่ยนแปลงของค่าเงื่อนไขเบื้องต้น ทำให้ไม่สามารถทำนายค่าระบบเคออติกได้ในระยะยาว ซึ่งการเข้ารหัสลับทั่วไปเมื่อป้อนข้อมูลเข้าเหมือนเดิมซ้ำ ๆ ข้อมูลที่ผ่านการเข้ารหัสลับจะไม่มีการเปลี่ยนแปลง ทำให้คาดเดาความสัมพันธ์ระหว่างข้อมูลเข้ากับข้อมูลออกได้ แต่สำหรับการเข้ารหัสลับแบบเคออติก สัญญาณที่ผ่านการเข้ารหัสลับมีลักษณะคล้ายสัญญาณรบกวน และไม่ปรากฏความสัมพันธ์ใด ๆ กับสัญญาณข้อมูลเข้าแม้แต่ในกรณีที่มีการป้อนข้อมูลเข้าเหมือนเดิมซ้ำ ดังนั้นการเข้ารหัส – ถอดรหัสลับแบบเคออติกจึงมีประสิทธิภาพสูงในการนำมาประยุกต์ใช้ในด้านการรักษาความปลอดภัยของข้อมูล
ทีมวิจัยได้พัฒนาอุปกรณ์ต้นแบบในการรักษาความปลอดภัยบนเครือข่าย โดยสร้างระบบการเข้ารหัส – ถอดรหัสลับแบบเคออติกลงบนอุปกรณ์ Raspberry Pi ที่ใช้เป็นตัวกลางสำหรับรักษาความปลอดภัยของข้อมูลกับการสื่อสารข้อมูลระหว่างคอมพิวเตอร์ในเครือข่ายที่ใช้รูปแบบการสื่อสารเช่นเดียวกับเครือข่ายอินเทอร์เน็ตคือ โปรโตคอล TCP/IP โดยผู้ส่งสารที่ส่งข้อมูล ต้นฉบับ (Plain Text) ออกจากทางฝั่งผู้ส่งข้อมูลไปบนเครือข่าย ข้อมูลจะผ่านการเข้ารหัสลับแบบเคออติกก่อนด้วยต้นแบบของอุปกรณ์ที่ได้พัฒนาขึ้น และเมื่อข้อมูลส่งไปถึงฝั่งผู้รับข้อมูลก็จะถูกทำการถอดรหัสลับเพื่อให้ได้ข้อมูลต้นฉบับกลับคืนมาด้วยอุปกรณ์ที่ได้พัฒนาขึ้นเช่นกัน โดยกุญแจลับที่ใช้ในกระบวนการเข้ารหัส-ถอดรหัสลับทั้งฝั่งของผู้ส่งและผู้รับจะต้องตรงกัน หากมีคอมพิวเตอร์เครื่องอื่นทำการดักจับข้อมูลบนเครือข่าย ข้อมูลที่ดักจับได้นั้นจะเป็นข้อมูลลับ (Cipher Text) ที่ผ่านการเข้ารหัสลับแบบเคออติก ทั้งนี้ อุปกรณ์ต้นแบบชิ้นนี้สามารถนำไปพัฒนาต่อยอดและประยุกต์ใช้งานในองค์กรหรือหน่วยงานที่ต้องการความปลอดภัยในการสื่อสารข้อมูลสำคัญและเพื่อให้เป็นความลับเฉพาะในองค์กรเดียวกันเท่านั้น รวมทั้งในขณะนี้ทางทีมวิจัยมีความตั้งใจและกำลังพัฒนาระบบต้นแบบการเข้ารหัสลับแบบเคออติกให้เป็นแอปพลิเคชันที่สามารถใช้งานได้บนสมาร์ทโฟน และแท็บเล็ตสำหรับการรับ – ส่งข้อความสั้น (SMS) ซึ่งจะช่วยป้องกันการโจรกรรมข้อมูลลับ และข้อมูลสำคัญในการทำธุรกรรมทางการเงินต่าง ๆ ได้ รวมถึงการพัฒนาแอปพลิเคชันสำหรับการปกปิดข้อความการสนทนาทางเสียงบนระบบโทรศัพท์ ทั้งในรูปของสมาร์ทโฟนและโทรศัพท์พื้นฐานอีกด้วย อย่างไรก็ตาม ปัญหาหนึ่งที่คนในสังคมให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก คือความปลอดภัยของข้อมูลสำคัญต่าง ๆ จากภัยคุกคามบนอินเทอร์เน็ตในขณะรับ – ส่งข้อมูลสำคัญ รวมถึงทำธุรกรรมทางการเงินผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต อาทิ หมายเลขบัตรประจำตัวประชาชน หมายเลขบัญชีธนาคาร หมายเลขบัตรเครดิต เป็นต้น หากนำนวัตกรรมระบบรักษาความปลอดภัยของข้อมูลไปใช้จริงในระบบต่าง ๆ บนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต จะทำให้ผู้บริโภคมีความมั่นใจในการใช้บริการและการทำธุรกรรมบนเครือข่ายอื่น ๆ เพิ่มมากขึ้น รวมถึงทำให้การประมวลผลด้านความปลอดภัยจะมีประสิทธิภาพที่ดีขึ้นอีกด้วย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ศรวัฒน์ กล่าวเพิ่มเติม
รองศาสตราจารย์ ดร. กุลกัญญา ณ ป้อมเพชร์ อาจารย์ประจำวิทยาลัยการบริหารและจัดการ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีการสื่อสารในยุคปัจจุบัน ทำให้การขยายตัวของผู้ใช้สมาร์ทโฟนมีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง วิถีชีวิตของคนในสังคมจึงเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม อีกทั้งผู้ให้บริการเครือข่ายอินเทอร์เน็ตที่กระจายสัญญาณในการให้บริการครอบคลุมทุกพื้นที่ ทำให้การสื่อสารในยุคปัจจุบันเป็นเรื่องง่ายขึ้น ผู้บริโภคสามารถรับข่าวสารและความบันเทิงได้อย่างรวดเร็วจากทั่วทุกมุมโลก ทั้งนี้ ผู้ประกอบการตั้งแต่รายย่อยจนถึงรายใหญ่จึงเริ่มปรับตัวให้เข้ากับสภาพสังคม และการแข่งขันทางการตลาด โดยการเพิ่มช่องทางการขายสินค้าและการสื่อสารทางการตลาดผ่านพฤติกรรมของคนในสังคมจากการใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นเฟซบุ๊ก อินสตาแกรม และ ไลน์ รวมถึงเว็บไซต์ต่าง ๆ สำหรับการซื้อขายสินค้าออนไลน์ได้รับความนิยม อาทิ www.siambrandname.com แหล่งซื้อขายสินค้าแฟชั่นแบรนด์เนมระดับไฮเอนด์ www.pdamobiz.com เว็บไซต์สำหรับซื้อขายโทรศัพท์มือถือและอุปกรณ์เสริมต่าง ๆ และ www.olx.co.th เว็บไซต์ที่รวบรวมสินค้าอย่างหลากหลาย ซึ่งล้วนแต่เป็นช่องทางที่ใช้ต้นทุนต่ำทั้งในระยะเริ่มต้นและระยะยาว ทำให้แนวโน้มการซื้อขายสินค้าออนไลน์มีการขยายตัวเพิ่มมากขึ้น โดยเห็นได้จากข้อมูลของศูนย์วิจัยกสิกรไทย เผยว่า มูลค่าอีคอมเมิร์ซของไทยในปี 2556 มีอัตราการเติบโตร้อยละ 25 – 30 หรือคิดเป็นมูลค่าราว 1.32 – 1.35 แสนล้านบาท
ทั้งนี้ข้อมูลจากไอพีจี มีเดียแบรนด์ส เผยผลวิจัยว่า กลุ่มผู้บริโภคสินค้าออนไลน์มีตั้งแต่อายุ 15 – 40 ปีขึ้นไป และมีทั้งกลุ่มผู้ชายและกลุ่มผู้หญิง ซึ่งสินค้าที่ได้รับความนิยมซื้อผ่านสื่อสังคมออนไลน์มีมากมาย อาทิ สินค้าแฟชั่น สินค้าไอที อาทิ โทรศัพท์มือถือ กล้องถ่ายรูปและอุปกรณ์เสริมต่าง ๆ ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมเพื่อสุขภาพความงาม และเครื่องสำอาง โดยผู้บริโภคจะใช้สื่อออนไลน์เป็นแหล่งค้นหาข้อมูลสำหรับการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้า นอกจากนี้ มีปัจจัยอื่น ๆ ที่สนับสนุนให้ผู้บริโภคหันมาใช้บริการการซื้อสินค้าออนไลน์เพิ่มขึ้น อาทิ ความหลากหลายของสินค้าที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โปรโมชั่นหรือกิจกรรมส่งเสริมการขายที่ช่วยดึงดูดความสนใจผู้บริโภค ความสะดวกสบายในการเลือกซื้อสินค้า โดยที่ผู้บริโภคสามารถเลือกซื้อได้ทุกสถานที่ทุกเวลา บริการการส่งสินค้าที่รวดเร็วทันใจ รวมถึงการชำระที่หลากหลายช่องทาง ไม่ว่าจะเป็นการชำระเงินผ่านตู้เอทีเอ็ม ชำระผ่านบัตรเครดิต หรือชำระผ่านระบบออนไลน์ของธนาคารต่าง ๆ
รองศาสตราจารย์ ดร. กุลกัญญา กล่าวเสริมถึงงานวิจัยเรื่อง พฤติกรรมการซื้อเสื้อผ้าผ่านทางพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์บนเครือข่ายสังคมออนไลน์ของผู้บริโภคว่า จากการศึกษากลุ่มตัวอย่างผู้ใช้งานเครือข่ายสังคมออนไลน์ จำนวน 412 คน พบว่า ผู้ใช้งานส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง มีจำนวน 336 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 81.6 มีอายุระหว่าง 26 - 35 ปี คิดเป็นร้อยละ 63.6 มีระดับการศึกษาสูงสุด คือ ระดับปริญญาตรี คิดเป็นร้อยละ 70.4 มีสถานภาพโสด คิดเป็นร้อยละ 75.0 ประกอบอาชีพพนักงานบริษัทเอกชนมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 38.1 มีรายได้ต่อเดือนระหว่าง 10,001 – 15,000 บาท คิดเป็นร้อยละ 43.7 ทั้งนี้ จากการศึกษาพบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่แลกเปลี่ยนข่าวสารผ่านทางเฟซบุ๊ก คิดเป็นร้อยละ 56.3 โดยการอ่านข้อมูลจากผู้ใช้คนอื่น ซึ่งจะเลือกซื้อสินค้าที่ไม่มีตัวแทนจำหน่ายในประเทศไทย โดยปัจจัยที่มีผลต่อการซื้อเสื้อผ้าบนเครือข่ายสังคมออนไลน์ คือ อิทธิพลของสื่อสังคมออนไลน์ ความหลากหลายของสินค้า สินค้าตรงตามความต้องการ การชำระเงินที่สะดวก และส่วนลด
สำหรับ นิสิต นักศึกษาและประชาชนทั่วไปสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ส่วนสารนิเทศและประชาสัมพันธ์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง หมายเลขโทรศัพท์ 02-329-8111 หรือเข้าไปที่ www.pr.kmitl.ac.th