กรุงเทพฯ--18 มิ.ย.--กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์
กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เผยสถานการณ์เชื้อแบคทีเรียดื้อยาต้านจุลชีพหรือยาปฏิชีวนะในประเทศมีแนวโน้มสูงขึ้น พร้อมเร่งผสานเครือข่ายความร่วมมือกับโรงพยาบาล 60 แห่งทั่วประเทศจัดทำฐานข้อมูลรายงานสถานการณ์ด้วยโปรแกรมฮูเน็ต (WHONET) เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการเฝ้าระวังเชื้อดื้อยาในพื้นที่ได้อย่างถูกต้อง รวดเร็วทันต่อสถานการณ์
นายแพทย์อภิชัย มงคล อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมามีเชื้อโรคหลากหลายชนิดทวีการดื้อยามากขึ้นเรื่อยๆในส่วนสถานการณ์ปัญหาการดื้อยาของเชื้อแบคทีเรียในประเทศไทย จากการศึกษาวิจัยและเฝ้าระวังปัญหาเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพของศูนย์เฝ้าระวังเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพแห่งชาติ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข พบว่า ขณะนี้ปัญหาการดื้อยาต้านจุลชีพหรือยาปฏิชีวนะของเชื้อแบคทีเรียในประเทศไทยค่อนข้างน่าเป็นห่วง เพราะเชื้อหลายชนิดมีแนวโน้มการดื้อยามากขึ้นเป็นลำดับ จากการรวบรวมข้อมูลของศูนย์เฝ้าระวังเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพแห่งชาติ ร่วมกับเครือข่ายโรงพยาบาล 60 แห่งทั่วประเทศ เก็บรวบรวมข้อมูลการดื้อยาของเชื้อโรคแต่ละชนิด พบว่า เชื้อโรคหลายชนิดมีอัตราการดื้อยาสูง เช่น เชื้อสเตร็ปโตค็อกคัส นิวโมเนียอี (Streptococcus pneumoniae) ทำให้เกิดโรคปอดอักเสบที่พบในเด็กอายุไม่เกิน 5 ขวบ มีการดื้อยามากขึ้นเป็นลำดับจาก 47% ในปี 2541 เพิ่มเป็น 65.6% ในปี 2556 เชื้อเอ็นเทอโรค็อคคัส ฟีเชียม (Enterococcus faecium) มีอัตราดื้อยา vancomycin เฉลี่ยในรอบ 10 ปี (2545-2555) 0.8% เพิ่มเป็น 3.2% ในปี 2556
สิ่งที่น่าตกใจและวงการแพทย์กังวลมากที่สุด ขณะนี้ก็คือการดื้อยาของเชื้อในกลุ่มเอซินีโทแบคเตอร์ (Acinetobacter) ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคติดเชื้อในโรงพยาบาลที่มักฉวยโอกาสก่อโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจผ่านเครื่องช่วยหายใจของผู้ป่วยไอซียู เชื้อเหล่านี้ดื้อต่อยาทุกตัวและมีแนวโน้มดื้อยา กลุ่ม carbapenems ซึ่งเป็นยาที่ดีที่สุดสำหรับการรักษาโรคติดเชื้อจากแบคทีเรียแกรมลบ โดยมีอัตราการดื้อยา imipenem เพิ่มจาก 14.4% ในปี 2543 เป็น 66.3 % ใน ปี 2556 นอกจากนี้ยังพบเชื้อ เช่น อีโคไล (E.coli) และเคลบซิลล่า นิวโมเนียอี (Klebsiella pneumoniae) มีแนวโน้มดื้อยากลุ่ม carbapenems อย่างต่อเนื่องด้วย สมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทยก็เป็นกังวลจึงได้ร่วมกับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เฝ้าระวังเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด
นายแพทย์อภิชัย กล่าวต่ออีกว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จัดตั้งศูนย์เฝ้าระวังเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพแห่งชาติ ตั้งแต่ พ.ศ. 2540 โดยการสนับสนุนขององค์การอนามัยโลกเพื่อสร้างเครือข่ายเฝ้าระวังเชื้อแบคทีเรียดื้อยาต้านจุลชีพ ซึ่งใน 2 ปีแรกมีโรงพยาบาลสมัครเข้าร่วมเป็นเครือข่าย 33 แห่ง และเพิ่มขึ้นเป็น 60 แห่ง ในปี พ.ศ.2547 หนึ่งในภารกิจหลักของศูนย์เฝ้าระวังเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพแห่งชาติ คือ จัดทำ antibiogram ซึ่งจะทำให้ทราบสถานการณ์ของเชื้อดื้อยาในภาพรวมของประเทศ องค์การอนามัยโลกแนะนำให้ใช้โปรแกรม WHONET ในการจัดทำฐานข้อมูลของโรงพยาบาลเครือข่ายและวิเคราะห์ข้อมูลผลการทดสอบความไวของเชื้อแบคทีเรียต่อยาเพื่อจัดทำ antibiogram โปรแกรมนี้ดูแลโดยผู้เชี่ยวชาญขององค์การอนามัยโลกและถูกแนะนำไปยังทุกประเทศที่เป็นสมาชิก ตัวโปรแกรมมีการปรับปรุง อย่างสม่ำเสมอมี 17 ภาษา รวมทั้งภาษาไทย และสามารถนำไปใช้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย เพื่อให้ทุกประเทศรายงานสถานการณ์เชื้อแบคทีเรียดื้อยาต้านจุลชีพได้อย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว
ด้วยเหตุนี้ ศูนย์เฝ้าระวังเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพแห่งชาติ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข จึงจัดทำโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการเรื่องการวิเคราะห์ข้อมูลผลการทดสอบความไวของเชื้อแบคทีเรียต่อยาต้านจุลชีพด้วยโปรแกรม WHONET โดยการอบรมครั้งนี้เป็นโครงการต่อเนื่องจากโครงการข้อมูลสารสนเทศเชื้อแบคทีเรียดื้อยาระดับประเทศ โดยมีผู้เข้าร่วม ประกอบด้วย นักเทคนิคการแพทย์ นักวิทยาศาสตร์การแพทย์ และเจ้าหน้าที่จากสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์การแพทย์ ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ และโรงพยาบาลเครือข่าย เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนประสบการณ์ การวิเคราะห์และองค์ความรู้ใหม่ๆ ซึ่งจะเป็นการพัฒนาเครือข่ายการเฝ้าระวังทางห้องปฏิบัติการที่ช่วยให้การป้องกันและควบคุมโรคของประเทศ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ