กรุงเทพฯ--18 มิ.ย.--กองเกษตรสารนิเทศ กระทรวงเกษตรฯ
กระทรวงเกษตรฯ พิจารณาร่างมาตรฐานสินค้าเกษตร เพื่อให้ครอบคลุมข้อกำหนดการปฏิบัติที่ดีในทุกขั้นตอนของการผลิตสินค้าเกษตร และไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ด้าน มกอช. ชูงานพัฒนาห้องปฏิบัติการตรวจสอบสินค้าเกษตรและอาหาร ทั้งการขึ้นทะเบียน การฝึกอบรม และการจัดทำข้อมูลเฝ้าระวัง
นายชวลิต ชูขจร ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการมาตรฐานสินค้าเกษตร ว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบในหลักการร่างมาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่อง หลักปฏิบัติสำหรับกระบวนการรมผลไม้สดด้วยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ และร่างกฎกระทรวงกำหนดให้มาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่อง หลักปฏิบัติสำหรับกระบวนการรมผลไม้สดด้วยซัลเฟอร์ไดออกไซด์ เป็นมาตรฐานบังคับ ซึ่งเป็นหลักปฏิบัติสำหรับกระบวนการรม (fumigation) ผลไม้สดด้วยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ เพื่อให้ได้ผลไม้สดที่ปลอดภัย มีคุณภาพเหมาะสมสำหรับการบริโภคโภคและไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งให้ยกเลิกประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง กำหนดมาตรฐานสินค้าเกษตร : การปฏิบัติที่ดีสำหรับการรมผลลำไยสดด้วยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ มาตรฐานเลขที่ มกษ.1002-2553
สำหรับมาตรฐานทั่วไปได้พิจารณา 4 เรื่อง คือ การปฏิบัติทางการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ดีสำหรับฟาร์มเลี้ยงกุ้งทะเล เพื่อให้ครอบคลุมข้อกำหนดการปฏิบัติที่ดีในทุกขั้นตอนของการเลี้ยงกุ้งทะเลตั้งแต่การเลี้ยง การจับ จนถึงหลังการจับก่อนการขนส่งออกจากฟาร์ม เพื่อให้ได้กุ้งทะเลที่มีคุณภาพดี ปลอดภัยต่อผู้บริโภค โดยคำนึงถึงสุขภาพและสวัสดิภาพของสัตว์ ส่วนแนวปฏิบัติทางการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ดีสำหรับฟาร์มสัตว์น้ำจืด: ปลาช่อน แนวปฏิบัติทางการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ดีสำหรับฟาร์มสัตว์น้ำจืดสวยงาม และแนวทางการปฏิบัติที่ดีสำหรับโรงฆ่าแพะและแกะ เพื่อใช้อธิบายและขยายความทางวิชาการครอบคลุมเหตุผลและการปฏิบัติตามเกณฑ์กำหนดแต่ละข้อของมาตรฐานสินค้าเกษตรในเรื่องดังกล่าว
นอกจากนี้ สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ(มกอช.) ได้รายงานการดำเนินการพัฒนางานด้านห้องปฏิบัติการตรวจสอบสินค้าเกษตรและอาหารในด้านต่างๆ ทั้งการขึ้นทะเบียนห้องปฏิบัติการที่ได้รับการรับรองตามมาตรฐาน ISO/IEC 17025 จำนวน 86 แห่ง แบ่งเป็น ห้องปฏิบัติการประเภทโรงงาน 51 แห่ง ห้องปฏิบัติการประเภทบริการ 27 แห่ง และห้องปฏิบัติโรงงานและบริการ 8 แห่ง การฝึกอบรมเพื่อพัฒนาห้องปฏิบัติการทั้งภาครัฐและเอกชนใน 2 ลักษณะ คือ 1.หลักสูตรต่างๆที่เกี่ยวข้องกับระบบมาตรฐาน ISO/IEC 17025 เพื่อให้ห้องปฏิบัติการสามารถพัฒนาไปสู่การได้รับการรับรองได้ 2.หลักสูตรเกี่ยวกับวิธีตรวจวิเคราะห์สินค้าเกษตรและอาหาร การจัดทำข้อมูลเฝ้าระวังและการทำความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น การจัดฝึกอบรมการใช้ test kit ให้กับบุคลากรของประเทศลาว และภูฏาน การสำรวจศักยภาพห้องปฏิบัติการ สปป.ลาว เพื่อพัฒนาสู่มาตรฐาน ISO/IEC 17025 เป็นต้น