กรุงเทพฯ--19 มิ.ย.--โฟร์ พี แอดส์
กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับกรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม ลงนามบันทึกความเข้าใจและจัดประชุมเชิงปฏิบัติการ "แนวทางการดำเนินงานคัดกรองวัณโรคในเรือนจำ" เน้นร่วมการดำเนินงานสนับสนุน เพื่อวางระบบป้องกันการแพร่กระจายเชื้อโรค ค้นหาและการดูแลรักษาผู้ติดเชื้อวัณโรคที่ครบวงจรแก่ผู้ต้องขัง พร้อมทั้งพัฒนาระบบการส่งต่อผู้ป่วยระหว่างเรือนจำและโรงพยาบาล
ที่กรมควบคุมโรค นายแพทย์โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรคกระทรวงสาธารณสุข พร้อม นายวสันต์ สิงคเสลิต รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจ เพื่อสร้างความเข้มแข็งของระบบสุขภาพแก่ผู้ต้องขังในเรือนจำ ให้เข้าถึงมาตรฐานการป้องกันการติดเชื้อ การควบคุมการแพร่กระจาย และการรักษาวัณโรคอย่างเท่าเทียมกับประชาชนทั่วไป เพื่อเฉลิมพระเกียรติและถวายเป็นพระราชกุศลในวโรกาสพระชนมายุครบ 86 พรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช
นายแพทย์โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่าวัณโรคยังเป็นปัญหาสาธารณสุขในประเทศไทยและทั่วโลก โดยมีประเทศมีการตรวจพบผู้ป่วยวัณโรครายใหม่ทุกประเภทมากกว่า 60,000 ราย ในขณะที่องค์การอนามัยโลกประมาณการไว้ถึง 80,000 ราย เนื่องจากวัณโรคติดต่อโดยการหายใจ ซึ่งสถานที่ใดมีการอยู่รวมกันอย่างแออัด ร่วมกับมีการระบายอากาศไม่ดี อาจจะทำให้วัณโรคแพร่กระจายได้ง่ายขึ้น สุ่มเสี่ยงที่มีโอกาสป่วยเป็นวัณโรคมากที่สุดคือผู้ที่มีภูมิต้านทานบกพร่อง ผู้สัมผัสร่วมบ้านและอาศัยในสถานที่เดียวกับผู้ป่วย สำหรับในเรือนจำเป็นสถานที่ที่มีคนอยู่รวมกันอย่างแออัด ถึงแม้การดูแลรักษาวัณโรคในเรือนจำจะดำเนินการอย่างเข้มข้น แต่สถานการณ์วัณโรคในเรือนจำยังพบว่ามีแนวโน้มคงที่ เนื่องจากผู้ต้องขังมีการเคลื่อนย้ายเข้า-ออก ตลอดเวลา ส่งผลให้การค้นหาวัณโรคในเรือนจำมีความท้าทายมาก โดยในรอบ 5 ปีที่ผ่านมาพบว่า ความชุกผู้ป่วยวัณโรคในเรือนจำมีการรายงานผู้ต้องขังติดเชื้อ 1,000 คนต่อผู้ต้องขังแสนคน ซึ่งมีความชุกสูงกว่าประชาชนทั่วไปประมาณ 10 เท่า (ความชุกของประชาชนทั่วไปประมาณ 90 คนต่อประชากรแสนคน) ดังนั้นการเร่งรัดค้นหาผู้ป่วยวัณโรคในเรือนจำจึงจำเป็นและเร่งด่วน เพื่อตัดวงจรการแพร่เชื้อวัณโรค ทั้งนี้กรมควบคุมโรคและกรมราชทัณฑ์จึงได้ตกลงร่วมกันดำเนินการเร่งรัด ค้นหาวัณโรคในเรือนจำ เพื่อค้นหาวัณโรคในผู้ต้องขังอย่างน้อยร้อยละ 90 ได้แก่ ผู้ต้องขังรับใหม่ ผู้ต้องขังรับย้ายทุกราย ผู้ต้องขังเก่า รวมทั้งผู้ต้องขังที่มีอาการสงสัยวัณโรค โดยที่กรมควบคุมโรค ให้การสนับสนุนการดำเนินงานดังนี้ 1. สนับสนุนด้านวิชาการ เช่น คู่มือการดำเนินงาน และแบบฟอร์ม เพื่อให้การเร่งรัด ค้นหาวัณโรคในเรือนจำสอดคล้องกับมาตรฐานสากล 2.ประสานหน่วยงานในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ดำเนินการตรวจผู้ต้องขังที่มีอาการสงสัย 3. ประสานความช่วยเหลือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ผู้ต้องขังที่ป่วยเป็นวัณโรคและไม่มีประกันสุขภาพ ให้ได้รับการดูแลตามสิทธิมนุษยชน 4. ติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงาน และรวบรวมข้อมูลเพื่อประเมินผลการดำเนินงาน
ด้านนายวสันต์ สิงคเสลิต รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวว่า ในส่วนกรมราชทัณฑ์ ได้สนับสนุนการเร่งค้นหาวัณโรคในเรือนจำ ดังนี้ 1. รณรงค์เรื่องการเร่งรัดค้นหาวัณโรคในเรือนจำ โดยให้ความรู้แก่เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์และผู้ต้องขังในเรือนจำ เพื่อสร้างความตระหนักในการป้องกันและควบคุมโรคในเรือนจำ เป็นหน้าที่ของทุกคน 2. สร้างศักยภาพเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ให้มีส่วนร่วมในการเร่งรัดค้นหาวัณโรคในเรือนจำ เช่น การส่งต่อผู้ต้องขังที่ไอติดต่อกันเกิน 2 สัปดาห์ให้สถานพยาบาลตรวจหาการป่วยเป็นวัณโรค หรือซักเป็นประวัติการป่วยเป็นวัณโรคในผู้ต้องขังที่รับใหม่ช่วงนอกเวลาราชการ 3. อำนวยความสะดวกให้ผู้ต้องขังที่มีอาการต้องสงสัยวัณโรคได้รับการตรวจตามที่แพทย์ได้กำหนด 4. เตรียมการที่จำเป็นในการควบคุมการแพร่เชื้อวัณโรคในเรือนจำ เช่น จัดห้องแยกให้ผู้ป่วยวัณโรคระยะแพร่เชื้อ จัดการระบายอากาศในเรือนจำตามมาตรฐานของประเทศ 5. สถานพยาบาลทุกเรือนจำจัดทำทะเบียนและรายงานวัณโรค เพื่อติดจามความก้าวหน้าสถานการณ์แลผลการดำเนินงาน 6.ส่งเสริมให้เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ตรวจเอกซเรย์ปอดเป็นประจำ อย่างน้อยปีละครั้ง 7.ส่งเสริมให้เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์และผู้ต้องขังไม่เกิดความรู้สึกรังเกียจผู้ป่วยวัณโรค ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยให้ผู้ป่วยมีกำลังใจและรักษาจนครบกำหนด
ด้านนายแพทย์เฉวตสรร นามวาท ผู้อำนวยการสำนักวัณโรค กล่าวเพิ่มเติมว่า ข้อตกลงที่กรมควบคุมโรคและกรมราชทัณฑ์ดำเนินงานร่วมกัน คือ 1. มีคณะกรรมการร่วมเพื่อจัดทำแผนปฏิบัติการ และติดตามความก้าวหน้าร่วมกัน โดยคณะกรรมการเสนอรายงานแก่ผู้บริหารระดับกรมทรวบทุก 6 เดือน 2.จัดทำคู่มือและมาตรฐานต่างๆ ในการดำเนินงานวัณโรคในเรือนจำ 3. แลกเปลี่ยนข้อมูลวัณโรคร่วมกัน 4.นิเทศงานร่วมกันในทุกระดับ ซึ่งการทำข้อตกลงร่วมกันในครั้งนี้ก็เพื่อมุ่งหวังให้เกิดประโยชน์ คือ ค้นหา วินิจฉัยตั้งแต่เริ่มแรก ไม่มีอาการรุนแรงมีโอกาสหายสูง ป้องกันการเสียชีวิตได้ และที่สำคัญผู้ต้องขังได้รับปฏิบัติด้านการป้องกันและรักษาวัณโรคตามมาตรฐานเดียวกันกับประชาชนทั่วไป
“ในโอกาสนี้ ขอแนะนำประชาชนให้สังเกตอาการตนเอง ว่าเจ็บป่วยด้วยวัณโรคหรือไม่ โดยอาการจะเริ่มจากไอเรื้อรังนานเกิน 2 สัปดาห์ มีไข้ต่ำๆ ในช่วงบ่าย เบื่ออาหาร น้ำหนักตัวลด บางคนยังทำงานได้ปกติ จึงทำให้เชื้อโรคแพร่ไปสู่คนอื่นได้ หากพบผู้ที่มีอาการดังกล่าว ขอให้รีบพาไปพบแพทย์ในโรงพยาบาลหรือสถานบริการสาธารณสุขใกล้บ้านทันที เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและรักษาให้เร็วที่สุด เพราะวัณโรคหากพบเร็ว โอกาสรักษาหายสูงและไม่แพร่กระจายเชื้อ ประชาชนที่มีความสนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักวัณโรค โทร 0-2212-2279 กด 4 หรือ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422” นายแพทย์เฉวตสรร กล่าวปิดท้าย