กรุงเทพฯ--19 มิ.ย.--ธนาคารกรุงศรีอยุธยา
กรุงศรีขยายบริการ ณ สาขา รองรับฐานลูกค้าญี่ปุ่น
- เพิ่ม Japanese Desk พร้อมพนักงานที่สามารถพูดภาษาญี่ปุ่นได้
- พัฒนาต่อยอด 4 กลยุทธ์หลักด้านสาขาและเครือข่ายการขาย
กรุงศรี (ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)) เผยกลยุทธ์สาขาและเครือข่ายการขายของธนาคาร ที่จะมุ่งขยายการให้บริการไปสู่กลุ่มลูกค้าญี่ปุ่น โดยใช้ประโยชน์จากความแข็งแกร่งของมิตซูบิชิ ยูเอฟเจ ไฟแนนเชียล กรุ๊ป (MUFG) โดยเพิ่มพนักงานสาขาที่มีทักษะการใช้ภาษาญี่ปุ่น และเพิ่มภาษาญี่ปุ่นสำหรับเครื่องกรุงศรี ATM พร้อมเปิดสาขาใหม่ และขยายพื้นที่สาขาเดิมในบริเวณนิคมอุตสาหกรรมที่มีชาวญี่ปุ่นทำงาน เพื่อรองรับลูกค้าที่เพิ่มขึ้น
นายพงษ์อนันต์ ธณัติไตร ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านเครือข่ายการขาย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า “ลูกค้าชาวญี่ปุ่นนับเป็นลูกค้ากลุ่มใหญ่กลุ่มใหม่ของธนาคาร หลังจากที่กรุงศรีได้เป็นบริษัทในเครือของ MUFG ดังนั้นกลยุทธ์สาขาและเครือข่ายการขาย จึงให้ความสำคัญกับช่องทางที่ลูกค้าเข้าถึงได้ง่าย ความสะดวกสบายในการใช้งาน และการให้บริการลูกค้าอย่างมืออาชีพ รวมถึงการเพิ่มทักษะให้กับพนักงานสาขาเพื่อรองรับลูกค้าชาวญี่ปุ่น โดยธนาคารได้เพิ่ม Japanese Desk ซึ่งมีพนักงานที่สามารถสื่อสารภาษาญี่ปุ่น มีความรู้ในเรื่องผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงิน และผ่านการอบรมในเรื่องของการบริการประจำอยู่ ณ สาขา ในย่านที่อยู่อาศัยของชาวญี่ปุ่น ซึ่งในช่วงเริ่มต้นธนาคารได้เปิดให้บริการแล้วที่สาขาสยามพารากอน โดยมีแผนที่จะขยายการให้บริการในสาขาอื่นๆ ในอนาคต”
นอกจากนั้น ในปีนี้กรุงศรีจะเปิดสาขาใหม่เพิ่มในบริเวณนิคมอุตสาหกรรมที่มีชาวญี่ปุ่นทำงาน เช่น จังหวัดชลบุรี และฉะเชิงเทรา หลังจากที่ได้มีการเปิดเพิ่มไปแล้วที่จังหวัดอยุธยา พร้อมปรับปรุงขยายพื้นที่ของสาขาที่มีอยู่เดิมในนิคมอุตสาหกรรมต่าง ๆ ให้กว้างขึ้นอีก 8 สาขา เพื่อรองรับพนักงานชาวญี่ปุ่นที่ทำงานอยู่ในนิคมฯ เหล่านั้น และยังได้เพิ่มการใช้งานภาษาญี่ปุ่นในเครื่องกรุงศรี ATM 5,000 เครื่องทั่วประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในย่านเศรษฐกิจสำคัญ รวมถึงย่านพักอาศัยของคนญี่ปุ่น เช่น สุขุมวิท เอกมัย สาทร สีลม และในนิคมอุตสาหกรรม โดย ณ เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เครื่อง ATM ของกรุงศรีได้มีเมนูภาษาญี่ปุ่นแล้วประมาณ 2,200 เครื่องทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ทั้งนี้ธนาคารมีแผนจะขยายส่วนที่เหลืออีกประมาณ 2,800 เครื่องภายในสิ้นปี 2557
ในส่วนของสาขา ธนาคารยังคงให้ความสำคัญกับ 4 เรื่องหลัก ได้แก่ การเปิดสาขาใหม่ โดยเน้นในห้างสรรพสินค้าเป็นหลัก และการปรับที่ตั้งของสาขาที่มีอยู่บางแห่งให้อยู่ในทำเลที่เหมาะสม การพัฒนาศักยภาพของพนักงานสาขา เพื่อให้สามารถบริการและนำเสนอผลิตภัณฑ์รวมถึงบริการทางการเงินที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น การปรับปรุงระบบการทำงานให้รวดเร็วขึ้น เพื่อลดเวลาในการทำธุรกรรมที่สาขาของลูกค้าให้สั้นลง และการปรับปรุงช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ให้ใช้งานได้ง่ายขึ้น อันได้แก่ บริการเครื่องเอทีเอ็ม และเครื่องฝากเงินสดอัตโนมัติ ด้วยกลยุทธ์ดังกล่าวคาดว่าจะใช้งบประมาณทั้งสิ้นราว 1,300 ล้านบาท
สำหรับไตรมาสแรกของปี 2557 สาขาของธนาคารมีส่วนในการผลักดันยอดเงินฝากและยอดขาย ผลิตภัณฑ์หลักของธนาคารเติบโตทุกด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลิตภัณฑ์สินเชื่อที่เติบโตสูงกว่าตลาด ตลอดจนความพึงพอใจของลูกค้าที่สูงขึ้น ซึ่งเป็นผลจากการพัฒนาศักยภาพของพนักงาน รวมทั้งกลยุทธ์ดังกล่าวข้างต้น