กรุงเทพฯ--19 มิ.ย.--ทริสเรทติ้ง
ทริสเรทติ้งจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันในวงเงินไม่เกิน 8,000 ล้านบาทของ บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ “AA-” พร้อมทั้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันชุดปัจจุบันของบริษัทที่ระดับ “AA-” ด้วยเช่นกัน โดยแนวโน้มยังคง “Negative” หรือ “ลบ” ทั้งนี้ อันดับเครดิต “AA-” สะท้อนถึงความเป็นผู้นำของบริษัทในอุตสาหกรรมถ่านหินในแถบเอเชียแปซิฟิก ตลอดจนความหลากหลายของแหล่งถ่านหินและฐานลูกค้า รวมถึงรายได้เงินปันผลที่แน่นอนจากธุรกิจไฟฟ้า การพิจารณาอันดับเครดิตยังคำนึงถึงความสามารถของบริษัทในการปรับแผนการลงทุน และลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานในช่วงภาวะอุตสาหกรรมถ่านหินชะลอตัวตลอดจนวินัยทางการเงินของบริษัทด้วย ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงด้านกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจถ่านหินในประเทศอินโดนีเซียและออสเตรเลีย ตลอดจนภาวะอุปทานส่วนเกินในอุตสาหกรรมถ่านหินยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงต่ออันดับเครดิตของบริษัท ในขณะที่แนวโน้มอันดับเครดิต “Negative” หรือ “ลบ” สะท้อนการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่าราคาถ่านหินมีโอกาสอ่อนแออย่างต่อเนื่องในภาวะที่อุปสงค์และอุปทานของถ่านหินยังไม่มีความแน่นอนในการปรับเข้าสู่สมดุล แนวโน้มอันดับเครดิตอาจถูกปรับเป็น “Stable” หรือ “คงที่” หากราคาถ่านหินฟื้นตัวชัดเจนหรือบริษัทสามารถฟื้นฟูความสามารถในการทำกำไรและความสามารถในการชำระหนี้ อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตอาจถูกปรับลดลงหากบริษัทต้องใช้เวลายาวนานในการฟื้นฟูความแข็งแกร่งทางการเงินให้กลับสู่ระดับเดิม
บริษัทบ้านปูเป็นหนึ่งในผู้ประกอบการธุรกิจพลังงานรายใหญ่ในเอเชียซึ่งก่อตั้งในปี 2526 เพื่อดำเนินธุรกิจผลิตถ่านหินในประเทศไทย บริษัทขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่องโดยปัจจุบันมีแหล่งถ่านหินอยู่ในประเทศอินโดนีเซีย ออสเตรเลีย จีน และมองโกเลีย ธุรกิจถ่านหินในประเทศอินโดนีเซียยังคงเป็นแหล่งสร้างกำไรหลักของบริษัท โดยในปี 2556 กำไรจากธุรกิจถ่านหินในประเทศอินโดนีเซียมีสัดส่วน 60% ของกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) กำไรจากประเทศออสเตรเลียคิดเป็น 21% ของ EBITDA ในขณะที่กำไรในประเทศไทยคิดเป็นสัดส่วน 15% ของ EBITDA และกำไรจากประเทศจีนคิดเป็นสัดส่วนเพียง 4% ของ EBITDA เมื่อพิจารณาจากประเภทของธุรกิจแล้ว กำไรจากธุรกิจถ่านหินในปี 2556 คิดเป็นสัดส่วน 85% ของ EBITDA ในขณะที่กำไรส่วนที่เหลือในสัดส่วน 15% มาจากธุรกิจไฟฟ้า อย่างไรก็ตาม กำไรจากธุรกิจถ่านหินคิดเป็นสัดส่วน 82% ของ EBITDA ในขณะที่กำไรจากธุรกิจไฟฟ้าคิดเป็นสัดส่วน 18% ในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2557
ในปี 2556 ปริมาณการผลิตถ่านหินของกลุ่มบ้านปู คิดเป็นจำนวน 42.4 ล้านตัน โดยประกอบด้วยถ่านหินที่ผลิตในประเทศอินโดนีเซีย 28.6 ล้านตันและในประเทศออสเตรเลีย 13.8 ล้านตัน ในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2557 บริษัทผลิตถ่านหิน 10.9 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 12.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ณ เดือนมีนาคม 2557 ปริมาณสำรองถ่านหินของบริษัทในประเทศอินโดนีเซียและออสเตรเลียมีจำนวนรวม 700 ล้านตัน ในขณะที่บริษัทมีปริมาณสำรองถ่านหินคิดตามสัดส่วนการถือหุ้นของบริษัทอยู่ที่ 525 ล้านตัน ปริมาณสำรองของเหมืองอินโดนีเซียและออสเตรเลียดังกล่าวเทียบเท่ากับปริมาณการผลิตนานราว 14 ปี
ในปี 2556 ผลการดำเนินงานของบริษัทอ่อนแอลงตามราคาถ่านหินที่ปรับตัวลดลง ราคาขายถ่านหินของเหมืองที่ประเทศอินโดนีเซียลดลง 17% จากราคาขายเฉลี่ยในปี 2555 เป็น 74.8 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตันในปี 2556 บริษัทได้พยายามลดต้นทุนในหลายส่วนรวมถึงการลดค่า Stripping Ratio อย่างไรก็ตาม อัตราการปรับตัวลดลงของราคาถ่านหินมีมากกว่าการลดลงของต้นทุนการผลิต อัตรากำไรขั้นต้นของบริษัทจึงลดลงเป็น 35.7% ในปี 2556 จากระดับ 42.8% ในปี 2555 เหมืองที่ออสเตรเลียได้รับผลกระทบจากการปรับตัวของราคาถ่านหินน้อยกว่าเนื่องจากมีการส่งออกในสัดส่วน 38% ของปริมาณขายถ่านหินรวม ราคาขายถ่านหินเฉลี่ยของเหมืองออสเตรเลียลดลงจาก 72.78 ดอลลาร์ออสเตรเลียต่อตันในปี 2555 เป็น 69.75 ดอลลาร์ออสเตรเลียต่อตันในปี 2556 อย่างไรก็ตาม CEY (Centennial Coal Co., Ltd.) บริษัทย่อยที่ดำเนินธุรกิจเหมืองถ่านหินที่ออสเตรเลียเผชิญกับปัญหาต้นทุนเพิ่มขึ้น โดยต้นทุนขายเพิ่มขึ้น 2.36 ดอลลาร์ออสเตรเลียต่อตันเนื่องจากบริษัทประสบกับปัญหาในการผลิตเช่น ใช้เวลาในการย้ายเครื่องจักรที่เหมือง Mandalong นานกว่าที่คาด ปัญหาในการขุดที่เหมือง Springvale และบริษัทต้องหยุดการผลิตช่วงหนึ่งจากเหตุไฟไหม้ป่าที่เหมือง Springvale ในปี 2556 ส่งผลทำให้อัตรากำไรขั้นต้นของ CEY ลดลงเหลือ 23.4% ในปี 2556 เทียบกับ 30.3% ในปี 2555 ในช่วงเดียวกัน EBITDA จากธุรกิจไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 50% เมื่อเทียบกับปี 2555 ทำให้ EBITDA รวมของบริษัทลดลง 33.4% เมื่อเทียบกับปีก่อนเป็น 654 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2557 ราคาถ่านหินยังคงอยู่ระดับต่ำ แต่กำไรของบริษัทปรับตัวดีขึ้นเนื่องจากแผนการลดต้นทุนอย่างต่อเนื่องและบริษัทมีกำไรจากตราสารอนุพันธ์ อัตรากำไรขั้นต้นจากธุรกิจเหมืองในอินโดนีเซียเพิ่มขึ้น 37.8% เมื่อเทียบกับ 32.8% ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2556 แม้ว่าราคาขายถ่านหินเฉลี่ยลดลง 12.1% เป็น 71.06 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน การปรับตัวดีขึ้นของอัตรากำไรขั้นต้นมีสาเหตุหลักมาจากอัตรา Stripping Ratio ที่ลดลงและแผนการลดต้นทุนต่าง ๆ นอกจากนี้ การผลิตที่เหมืองออสเตรเลียก็เป็นไปอย่างราบรื่นและไม่มีการย้ายเครื่องจักรในเหมืองหลักในช่วงไตรมาสที่ 1 ของปี 2557 อัตรากำไรขั้นต้นของเหมืองออสเตรเลียเพิ่มขึ้นเป็น 30.0% ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2557 เทียบกับ 25.1% ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2556 บริษัทยังมีกำไรจากตราสารอนุพันธ์จำนวน 34.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในไตรมาส 1 ของปี 2557 อีกด้วย ธุรกิจไฟฟ้ายังคงรายงานกำไรสม่ำเสมอตามที่คาดหมาย EBITDA ของธุรกิจไฟฟ้าปรับตัวเพิ่มขึ้น 6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยรวมแล้ว EBITDA ของบริษัทในไตรมาสที่ 1 ของปี 2557 ปรับตัวดีขึ้น 20.0% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเป็น 219 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ความสามารถในการชำระหนี้ปรับตัวดีขึ้นในไตรมาสที่ 1 ของปี 2557 ตามความสามารถในการทำกำไรของบริษัทที่ดีขึ้น อัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่าย (EBITDA Interest Coverage Ratio) เพิ่มขึ้นเป็น 7.7 เท่าในไตรมาส 1 ของปี 2557 เทียบกับ 6.7 เท่าในไตรมาส 1 ของปี 2556 อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมเพิ่มขึ้นเป็น 5.2% (ยังไม่ได้ปรับเป็นตัวเลขเต็มปี) ในไตรมาส 1 ปี 2557 จาก 3.8% ในไตรมาส 1 ปี 2556 โครงสร้างเงินทุนของบริษัทปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อย โดยอัตราส่วนเงินกู้สุทธิต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทดีขึ้นเป็น 50.3% ณ เดือนมีนาคม 2557 จาก 51.7% ณ สิ้นปี 2556 เนื่องจากบริษัทมีการชะลอแผนการลงทุนบางโครงการ สภาพคล่องของบริษัทยังคงอยู่ในระดับที่ดี ณ เดือนมีนาคม 2557 บริษัทมีเงินสดในมือ 567 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และมีวงเงินกู้คงเหลือจากสถาบันการเงินรวมจำนวนมากกว่า 600 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
การฟื้นตัวของราคาถ่านหินยังคงไม่แน่นอนขึ้นอยู่กับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกตลอดจนการปรับลดการผลิตถ่านหินของผู้ผลิตหลัก ดัชนีราคาถ่านหินอ้างอิง Newcastle Export Index จะยังคงอ่อนแออยู่ในระดับประมาณ 72-75 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตันในไตรมาสที่ 2 ของปี 2557 ในภาวะที่ราคาถ่านหินอยู่ในระดับต่ำ บริษัทได้ดำเนินงานอย่างระมัดระวังเพื่อรักษาสภาพคล่องทางการเงินโดยการขยายอายุเงินกู้ ตลอดจนกระจายการชำระคืนเงินต้น เลื่อนแผนการลงทุนบางโครงการ และลดค่าใช้จ่ายในทุกระดับขององค์กร ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะมี EBITDA ประมาณ 650-750 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี ในระหว่างปี 2557-2558 ซึ่งเมื่อรวมกับเงินสดในมืออีก 567 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ น่าจะเพียงพอต่อการลงทุนตามแผนที่ปรับลดเหลือจำนวนประมาณ 300-400 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปีและการชำระคืนเงินกู้จำนวน 200-300 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี โดยไม่ทำให้ฐานะการเงินของบริษัทอ่อนแอลง
บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) (BANPU)
อันดับเครดิตองค์กร: AA-
อันดับเครดิตตราสารหนี้:
BP15NA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2558 AA-
BP165A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,100 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2559 AA-
BANPU184A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 5,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2561 AA-
BANPU195A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,850 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2562 AA-
BANPU207A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,300 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2563 AA-
BANPU214A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 4,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2564 AA-
BANPU225A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 3,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2565 AA-
BANPU234A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 3,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2566 AA-
BANPU257A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,100 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2568 AA-
BANPU264A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2569 AA-
BANPU234B: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 150 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ไถ่ถอนปี 2566 AA-
หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันในวงเงินไม่เกิน 8,000 ล้านบาท ไถ่ถอนภายในปี 2567 AA-
แนวโน้มอันดับเครดิต: Negative