กรุงเทพฯ--19 มิ.ย.--สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจความเชื่อมั่นของภาคอุตสาหกรรมไทย (Thai Industries Sentiment Index: TISI) ในเดือนพฤษภาคม 2557 จำนวน 1,116 ราย ครอบคลุม 42 กลุ่มอุตสาหกรรมของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย แยกเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมขนาดย่อม อุตสาหกรรมขนาดกลาง และอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ร้อยละ 28.1, 45.0 และ 26.9 ของกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด ตามลำดับ นอกจากนี้ยังแบ่งเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมในภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ ร้อยละ 55.8,9.8,9.9,12.2,และ 12.3 ตามลำดับ และแบ่งตามกลุ่มอุตสาหกรรมที่เน้นตลาดในประเทศ และกลุ่มอุตสาหกรรมที่เน้นตลาดต่างประเทศ ร้อยละ 86.2 และ 13.8 ตามลำดับ ผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนพฤษภาคม อยู่ที่ระดับ 85.1 ปรับเพิ่มขึ้นจากระดับ 84.0 ในเดือนเมษายน ซึ่งเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นครั้งแรกในรอบ 7 เดือน โดยค่าดัชนีฯ ที่เพิ่มขึ้นเกิดจากองค์ประกอบ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ
อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจพบว่า ค่าดัชนีความเชื่อมั่นที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น เกิดจากผู้ประกอบการเริ่มเห็นสัญญาณเชิงบวกของเศรษฐกิจไทย หลังจากสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองเริ่มคลี่คลาย การทยอยจ่ายเงินจากโครงการจำนำข้าวให้กับเกษตรกร ส่งผลดีให้เกิดกระแสการหมุนเวียนของเงินในระบบเศรษฐกิจ ขณะเดียวกันยังเป็นทิศทางที่ดีที่ผู้ประกอบการเห็นว่าจะนำไปสู่การฟื้นฟูเศรษฐกิจและการผลิตในภาคอุตสาหกรรม ตลอดจนเป็นโอกาสการขยายการลงทุนเพิ่มขึ้น ประกอบกับในเดือนพฤษภาคมเป็นช่วงเปิดภาคเรียน ส่งผลให้ความต้องการสินค้าและบริการที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาเพิ่มขึ้น
สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 101.0 ปรับเพิ่มขึ้นจากระดับ 98.2 ในเดือนเมษายน และดัชนีมีค่าเกิน 100 ในรอบ 5 เดือนโดยค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ที่เพิ่มขึ้นเกิดจากองค์ประกอบ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ
ส่วน ดัชนีความเชื่อมั่นจำแนกตามขนาดของของกิจการ ในเดือนพฤษภาคม 2557 จากการสำรวจพบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ของอุตสาหกรรมขนาดย่อม อุตสาหกรรมขนาดกลาง และอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนเมษายนที่ผ่านมา
โดย อุตสาหกรรมขนาดย่อม ค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนพฤษภาคม อยู่ที่ระดับ 78.2 เพิ่มขึ้นจากระดับ 74.7 ในเดือนเมษายน โดยองค์ประกอบดัชนีที่ปรับเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมขนาดย่อมที่ค่าดัชนีฯปรับเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมแก้วและกระจก อุตสาหกรรมยา อุตสาหกรรมสมุนไพร เป็นต้น ขณะที่ค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 99.1 เพิ่มขึ้นจาก 95.3 ในเดือนเมษายน โดยองค์ประกอบดัชนีฯคาดการณ์ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ
อุตสาหกรรมขนาดกลาง จากผลการสำรวจพบว่า ค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนพฤษภาคม อยู่ที่ระดับ 84.7 เพิ่มขึ้นจาก 82.0 ในเดือนเมษายน องค์ประกอบดัชนีฯ ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมขนาดกลางที่ค่าดัชนีฯปรับเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมเยื่อและกระดาษ,อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลและโลหะการ อุตสาหกรรมการหลังคาและอุปกรณ์ เป็นต้น ขณะที่ค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 100.4 เพิ่มขึ้นจากระดับ 98.3 ในเดือนเมษายน โดยองค์ประกอบดัชนีฯคาดการณ์เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ
ด้าน อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ มีค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนพฤษภาคมอยู่ที่ระดับ 93.1 เพิ่มขึ้นจากระดับ 92.9 ในเดือนเมษายน โดยองค์ประกอบดัชนีฯที่ปรับเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่ค่าดัชนีฯปรับเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมพลาสติก อุตสาหกรรมเหล็ก อุตสาหกรรมโรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม เป็นต้น ขณะที่ค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 104.1 เพิ่มขึ้นจากระดับ 100.6 ในเดือนเมษายน โดยองค์ประกอบดัชนีคาดการณ์ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ
ผลสำรวจ ดัชนีความเชื่อมั่นฯ รายภูมิภาค ประจำเดือนพฤษภาคม จากการสำรวจพบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับในเดือนเมษายน ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นภาคเหนือและภาคใต้ ปรับตัวลดลงจากเดือนเมษายน
ภาคกลาง พบว่า ค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนพฤษภาคม 2557 อยู่ที่ระดับ 85.6 เพิ่มขึ้นจากระดับ 81.0 ในเดือนเมษายน องค์ประกอบดัชนีฯที่เพิ่มขึ้นในเดือนนี้ ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ จากการสำรวจพบว่า ผู้ประกอบการที่เป็นกลุ่มตัวอย่างเริ่มคลายความกังวลต่อสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง ประกอบกับการทยอยจ่ายเงินจากโครงการจำนำข้าวให้กับเกษตรกร ได้ส่งผลดีให้เกิดกระแสการหมุนเวียนของเงินในระบบเศรษฐกิจ ซึ่งเห็นได้ชัดเจนจากอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับภาคการเกษตร มียอดคำสั่งซื้อและยอดขายเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า อุตสาหกรรมในภาคกลางที่ค่าดัชนีฯปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลการเกษตร อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลและโลหะการ อุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม เป็นต้น ขณะที่ค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 100.0 เพิ่มขึ้นจากระดับ 96.0 ในเดือนเมษายน องค์ประกอบดัชนีฯคาดการณ์ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ
ภาคเหนือ ค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนพฤษภาคม 2557 อยู่ที่ระดับ 80.0 ลดลงจากระดับ 88.1 ในเดือนเมษายน องค์ประกอบดัชนีฯที่ปรับลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวมปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ ค่าดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการในภาคเหนือปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้า สาเหตุสำคัญ ได้แก่ เกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวและอาฟเตอร์ช็อคในหลายพื้นที่ของภาคเหนือ ทำให้เส้นทางคมนาคมขนส่งได้รับความเสียหาย ส่งผลกระทบต่อการขนส่งวัตถุดิบและสินค้าสำเร็จรูป ประกอบกับ อุปสงค์ในภาคเหนืออยู่ในภาวะชะลอตัว เห็นได้จากดัชนียอดคำสั่งซื้อและยอดขายที่ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้า นอกจากนี้ผู้ประกอบการส่งออกยังให้ความเห็นว่ากฎระเบียบของประเทศคู่ค้าสำคัญของไทย รวมทั้งประเทศในกลุ่มอาเซียน เป็นอุปสรรคต่อการขยายตัวของภาคการส่งออก อุตสาหกรรมในภาคเหนือที่ค่าดัชนีฯปรับลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ อุตสาหกรรมแกรนิตและหินอ่อนอุตสาหกรรมเครื่องประดับ ขณะที่ค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 100.2 ลดลงจากระดับ 103.4ในเดือนเมษายน องค์ประกอบดัชนีคาดการณ์ที่ลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวมปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จากการสำรวจพบว่า ค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนพฤษภาคม 2557 อยู่ที่ระดับ 82.3 เพิ่มขึ้นจากระดับ 82.0 ในเดือนเมษายน องค์ประกอบดัชนีฯที่ปรับเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวมปริมาณการผลิต และผลประกอบการ จากการสำรวจพบว่า สถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองที่เริ่มคลี่คลาย ประกอบกับเกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการทยอยจ่ายเงินจากโครงการจำนำข้าว ส่งผลดีต่อการหมุนเวียนของเงินในระบบเศรษฐกิจและภาคอุตสาหกรรม ตลอดจนยังเป็นสัญญาณที่ดีต่อการขยายการลงทุนของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อุตสาหกรรมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ค่าดัชนีฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นได้แก่ อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลการเกษตร อุตสาหกรรมการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์กระดาษ เป็นต้น ขณะที่ค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 103.8 เพิ่มขึ้นจากระดับ 95.5 ในเดือนเมษายน องค์ประกอบดัชนีฯ คาดการณ์ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ
ภาคตะวันออก ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนพฤษภาคม 2557 อยู่ที่ระดับ 93.7 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากระดับ 93.2 ในเดือนเมษายน องค์ประกอบดัชนีฯที่ปรับเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวมปริมาณการผลิต และผลประกอบการ ปัจจัยบวกที่ส่งผลให้ค่าดัชนีความเชื่อมั่นของภาคตะวันออกที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองที่เริ่มคลี่คลาย ขณะที่ความต้องการสินค้าอุตสาหกรรมยังขยายตัวเพิ่มขึ้น เห็นได้จากดัชนียอดคำสั่งซื้อและยอดขายในประเทศที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น สะท้อนว่าเริ่มมีสัญญาณที่ดีของความเชื่อมั่นต่อการผลิตและการลงทุนของผู้ประกอบการ อย่างไรก็ตามผู้ประกอบการส่งออกระบุเพิ่มเติมว่าคำสั่งซื้อและยอดขายในต่างประเทศชะลอตัวลงจากประเทศคู่ค้าสำคัญ อาทิ จีน ญี่ปุ่น และอาเซียน อุตสาหกรรมในภาคตะวันออกที่ค่าดัชนีฯปรับตัวเพิ่มขึ้นได้แก่ อุตสาหกรรมอลูมิเนียม อุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็น อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น ขณะที่ค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 103.7 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากระดับ 103.1 ในเดือนเมษายน องค์ประกอบดัชนีฯคาดการณ์ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ
ด้าน ภาคใต้ พบว่า ค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ เดือนพฤษภาคม อยู่ที่ระดับ 80.7 ลดลงจากระดับ 88.5 ในเดือนเมษายน องค์ประกอบดัชนีฯ ที่ลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ ปัจจัยลบที่ส่งผลต่อค่าดัชนีความเชื่อมั่นในภาคใต้ปรับตัวลดลง ได้แก่ ปัญหาราคายางตกต่ำส่งผลกระทบต่อรายได้เกษตรกร ที่เป็นกำลังซื้อหลักของสินค้าอุตสาหกรรม ขณะเดียวกันผู้ประกอบการยังมีความกังวลต่อปัญหาการขาดแคลนไฟฟ้า โดยเฉพาะอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ จากการปิดซ่อมท่อก๊าซธรรมชาติในพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย (JDA) ในช่วงวันที่ 13 มิถุนายน – 10 กรกฎาคม 2557 รวมทั้งปัญหาความรุนแรงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ อุตสาหกรรมในภาคใต้ที่ค่าดัชนีฯปรับลดลง ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ยาง,อุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม และอุตสาหกรรมโรงเลื่อยและโรงอบไม้ เป็นต้น ขณะที่ค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 101.6 ลดลงจากระดับ 102.3 ในเดือนเมษายน องค์ประกอบดัชนีฯคาดการณ์ที่ลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ
สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมจำแนกตามการส่งออก (ดัชนีความเชื่อมั่นฯ จำแนกตามร้อยละของการส่งออกต่อยอดขาย แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่เน้นตลาดในประเทศกับกลุ่มที่เน้นตลาดต่างประเทศ) โดยจากการสำรวจพบว่า ค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ กลุ่มที่เน้นตลาดในประเทศ ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากในเดือนเมษายน ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯกลุ่มที่เน้นตลาดในต่างประเทศ ปรับลดลงจากเดือนเมษายน
กลุ่มที่มีการส่งออกน้อยกว่าร้อยละ 50 ของยอดขาย (เน้นตลาดในประเทศ) พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ เดือนพฤษภาคม อยู่ที่ระดับ 83.7 เพิ่มขึ้นจาก 81.7 ในเดือนเมษายน องค์ประกอบดัชนีฯที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมในกลุ่มนี้ที่ค่าดัชนีฯ ปรับเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ อุตสาหกรรมรองเท้า อุตสาหกรรมเยื่อและกระดาษ เป็นต้น ขณะที่ค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 100.1 เพิ่มขึ้นจากระดับ 97.2 ในเดือนเมษายน องค์ประกอบดัชนีฯ คาดการณ์ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ
กลุ่มที่มีการส่งออกตั้งแต่ร้อยละ 50 ของยอดขายขึ้นไป (เน้นตลาดในต่างประเทศ) พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ เดือนพฤษภาคม อยู่ที่ 93.2 ลดลงจากระดับ 97.3 ในเดือนเมษายน องค์ประกอบดัชนีฯที่ลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมในกลุ่มนี้ที่ค่าดัชนีฯลดลง ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ยาง อุตสาหกรรมเคมี อุตสาหกรรมปิโตรเคมี เป็นต้น
ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 106.8 เพิ่มขึ้นจากระดับ 104.3 ในเดือนเมษายน องค์ประกอบดัชนีฯคาดการณ์ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ
สำหรับด้านสภาวะแวดล้อมในการดําเนินกิจการ เมื่อพิจารณาปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการประกอบการอุตสาหกรรมในเดือนพฤษภาคม พบว่าปัจจัยที่ผู้ประกอบการมีความกังวลเพิ่มขึ้น ได้แก่ ราคาน้ำมัน สภาวะเศรษฐกิจโลก ส่วนปัจจัยที่ผู้ประกอบการมีความกังวลลดลง ได้แก่ สถานการณ์การเมืองภายในประเทศ และอัตราแลกเปลี่ยน ขณะที่อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ อยู่ในระดับทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า
อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอแนะของผู้ประกอบการที่มีต่อภาครัฐในเดือนพฤษภาคมนี้ คือ จัดตั้งกองทุนเงินกู้ฉุกเฉินอัตราดอกเบี้ยต่ำ เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ที่ขาดสภาพคล่องโดยไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน รวมถึงปฏิรูปพลังงาน ลดการแทรกแซงราคา โดยใช้กลไกตลาด พร้อมทั้งจัดทำแผนรับมือไฟฟ้าดับจากการปิดซ่อมท่อก๊าซในพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย อีกทั้งเร่งเจรจา FTA Thai – EU เพื่อรองรับการหมดอายุสิทธิ GSP และแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นอย่างจริงจังและต่อเนื่อง..//
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
ฝ่ายประชาสัมพันธ์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
โทรศัพท์ 0-2345-1013, 0-2345-1017