กรุงเทพฯ--22 มิ.ย.--ทริสเรทติ้ง
ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ “AA-” แต่ปรับแนวโน้มอันดับเครดิตของบริษัทเป็น “Negative” หรือ “ลบ” จาก “Stable” หรือ “คงที่” เนื่องจากระดับการใช้เงินกู้ที่เพิ่มขึ้นหลังจากการซื้อกิจการ บริษัท ซีพี โภคภัณฑ์ (CPP) ขณะที่การฟื้นตัวของธุรกิจกุ้งในประเทศไทยยังไม่ชัดเจน อันดับเครดิต “AA-” ยังคงสะท้อนถึงสถานะความเป็นผู้นำของบริษัทในธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหาร ตลอดจนการมีสินค้าและตลาดที่หลากหลาย กลยุทธ์ที่เน้นผลิตภัณฑ์อาหารพร้อมบริโภคที่มีตราสัญลักษณ์ และความยืดหยุ่นทางการเงิน โดยที่ความผันผวนของราคาผลิตภัณฑ์จากฟาร์ม รวมทั้งความเสี่ยงจากโรคระบาดในสัตว์และความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบของประเทศผู้นำเข้ายังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงต่ออันดับเครดิต ในขณะที่แนวโน้มอันดับเครดิต “Negative” หรือ “ลบ” สะท้อนถึงฐานะการเงินของบริษัทที่อ่อนแอลงเนื่องจากความล่าช้าในการฟื้นตัวของธุรกิจกุ้งในประเทศไทย ซึ่งเป็นหนึ่งในธุรกิจหลักที่สร้างกำไรให้แก่บริษัท แนวโน้มอันดับเครดิตอาจถูกปรับเป็น “Stable” หรือ “คงที่” หากบริษัทสามารถสร้างความแข็งแกร่งทางด้านโครงสร้างเงินทุนและปรับเพิ่มความสามารถในการชำระหนี้ให้กลับมาสู่ระดับปกติได้ อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตอาจถูกปรับลดลงหากบริษัทต้องใช้เวลาที่ยาวนานในการฟื้นฟูความแข็งแกร่งทางการเงินให้กลับสู่ระดับเดิม
บริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหารเป็นผู้ประกอบการธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารรายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ณ วันที่ 9 พฤษภาคม 2557 กลุ่มบริษัทในเครือเจริญโภคภัณฑ์ถือหุ้นในบริษัทในสัดส่วน 43.71% ธุรกิจของบริษัทแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่คือกลุ่มสัตว์บกและกลุ่มสัตว์น้ำ โดยแต่ละกลุ่มประกอบด้วยธุรกิจอาหารสัตว์ ธุรกิจการเลี้ยงสัตว์ และธุรกิจอาหาร การดำเนินธุรกิจแบบครบวงจรส่งผลให้สินค้าของบริษัทได้มาตรฐานสากลทั้งในด้านความปลอดภัยและการตรวจสอบย้อนกลับซึ่งสามารถส่งออกไปยังประเทศผู้นำเข้าที่สำคัญซึ่งได้แก่ประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป เอเชีย และประเทศสหรัฐอเมริกา
รายได้ของบริษัทมีการกระจายตัวทางภูมิศาสตร์ รายได้จากกิจการในประเทศคิดเป็นสัดส่วน 42% ของรายได้รวมในปี 2556 ในขณะที่รายได้จากกิจการในประเทศจีนคิดเป็นสัดส่วน 29% ของรายได้รวม ตามด้วยรายได้จากประเทศเวียดนาม (14%) รายได้ส่วนที่เหลือมาจากกิจการในประเทศตุรกี ไต้หวัน อินเดีย และประเทศอื่น ๆ ซึ่งแต่ละประเทศมีสัดส่วน 1%-5% ของรายได้รวม ธุรกิจอาหารสัตว์ซึ่งค่อนข้างมีเสถียรภาพเป็นธุรกิจที่สร้างรายได้มากที่สุดโดยคิดเป็นสัดส่วน 56% ของรายได้รวม รายได้จากธุรกิจการเลี้ยงสัตว์ซึ่งมีลักษณะผันผวนเหมือนสินค้าโภคภัณฑ์มีสัดส่วน 32% ของรายได้รวม และธุรกิจอาหารมีสัดส่วน 12% ของรายได้รวมในปี 2556
บริษัทยังคงมุ่งเน้นขยายสินค้าที่มีตราสัญลักษณ์และพัฒนาช่องทางการจำหน่ายทั้งตลาดภายในประเทศและต่างประเทศ ณ วันที่ 31 มีนาคม 2557 ช่องทางการจำหน่ายของบริษัทประกอบด้วยซุ้มขาย “ไก่ย่าง 5 ดาว” จำนวน 5,088 แห่ง ร้าน “เชสเตอร์ กริลล์” 188 แห่ง ร้าน “ซีพี เฟรช มาร์ท” 628 สาขา และร้าน “ซีพี เฟรช พลัส” “ซีพี คิทเช่น” และ“ซีพี ฟู้ดเวิลด์” รวมอีก 12 สาขา ปัจจุบัน CPP ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ CPF อยู่ระหว่างการก่อสร้างโรงงานผลิตอาหาร 2 แห่งในประเทศจีน โดยแห่งหนึ่งอยู่ในเมืองชิงหวงเต่าและอีกแห่งหนึ่งอยู่ในเมืองชิงเต่า
ในปี 2556 ธุรกิจในประเทศไทยของบริษัทได้รับผลกระทบจากปัญหาโรคระบาด EMS (Early Mortality Syndrome) ในฟาร์มกุ้ง โดยโรคระบาด EMS ทำให้ปริมาณผลผลิตกุ้งในประเทศไทยลดลงประมาณครึ่งหนึ่งในปี 2556 ในขณะที่ธุรกิจหมูและไก่ในประเทศไทยฟื้นตัวขึ้นจากภาวะอุปทานส่วนเกินตั้งแต่ครึ่งหลังของปี 2556 อย่างไรก็ตาม ธุรกิจกุ้งมีผลการดำเนินงานที่ขาดทุนเกินกว่าการฟื้นตัวของธุรกิจสัตว์บก ทำให้อัตรากำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายของบริษัทลดลงเป็น 2.6% ในปี 2556 จาก 4.3% ในปี 2555 กำไรจากการดำเนินงานของบริษัทลดลง 81% เป็น 1,525 ล้านบาทเมื่อเทียบกับปี 2555 แต่ส่วนแบ่งกำไรจากบริษัทร่วมเพิ่มขึ้น ทำให้กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ลดลง 24% เป็น 17,124 ล้านบาทในปี 2556 เทียบกับ 22,493 ล้านบาทในปี 2555 บริษัทรับรู้กำไรจากการขายเงินลงทุนจำนวน 8,219 ล้านบาท ซึ่งส่งผลให้บริษัทมีกำไรสุทธิ 7,065 ล้านบาทในปี 2556
ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2557 ผลการดำเนินงานของบริษัทฟื้นตัวขึ้นมากแม้โรค EMS จะยังคงเป็นปัญหาสำหรับธุรกิจกุ้งในประเทศไทย แต่ธุรกิจสัตว์บกในประเทศไทยมีผลประกอบการที่ดีเนื่องจากปัจจัยราคาสินค้าฟาร์มที่ปรับตัวสูงขึ้น ตลอดจนการส่งออกไก่ที่เพิ่มขึ้นและต้นทุนอาหารสัตว์ที่ลดลง นอกจากนี้ ราคาสินค้าฟาร์มที่ดีขึ้นในต่างประเทศ เช่น ตุรกี เวียดนาม และอินเดียก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ช่วยทำให้กำไรของบริษัทฟื้นตัวขึ้น โดยอัตรากำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายเพิ่มขึ้นเป็น 5.8% ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2557 จาก 2.1% ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2556 กำไรจากการดำเนินงานเพิ่มขึ้นเป็น 3,204 ล้านบาทในไตรมาสที่ 1 ของปี 2557 เทียบกับผลขาดทุนจากการดำเนินงานจำนวน 122 ล้านบาทในไตรมาสที่ 1 ของปี 2556 ในขณะที่ EBITDA เพิ่มขึ้น 115% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเป็น 7,806 ล้านบาทในไตรมาสแรกของปี 2557
แม้ว่าบริษัทมีผลกำไรดีขึ้นในไตรมาสแรกของปี 2557 แต่การลงทุนจำนวนมากอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมาทำให้ภาระหนี้ของบริษัทเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนอ่อนแอลงเป็น 60.2% ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2557 จาก 54.8% ในปี 2555 และ 50.9% ในปี 2554 โดยเงินกู้รวมของบริษัทเพิ่มจาก 69,449 ล้านบาทในปี 2554 เป็น 197,648 ล้านบาทในเดือนมีนาคม 2557 อันเนื่องมาจากปัจจัยหลักคือการใช้เงินกู้เพื่อซื้อกิจการของ CPP เมื่อต้นปี 2555 ในขณะที่บริษัทก็ประสบกับปัญหาราคาหมูและไก่ในประเทศไทยตกต่ำจากอุปทานส่วนเกินในปี 2555 อีกทั้งยังเผชิญกับปัญหาโรคระบาดกุ้งในประเทศในปี 2556 ส่งผลทำให้ EBITDA เพิ่มขึ้นไม่ทันกับการเพิ่มขึ้นของภาระหนี้ อย่างไรก็ดี สภาพคล่องและความยืดหยุ่นทางการเงินของบริษัทยังคงอยู่ในระดับที่ดี โดย ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2557 บริษัทมีเงินสดในมือและหลักทรัพย์ระยะสั้นจำนวนรวม 20,000 ล้านบาท นอกจากนี้ บริษัทยังมีหุ้นที่ถืออยู่ใน บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) (CPALL) ซึ่งเป็นผู้นำในธุรกิจร้านค้าสะดวกซื้อในประเทศไทยในสัดส่วน 32.25% โดย CPALL มีมูลค่าตลาดรวมของหุ้นอยู่ที่ประมาณ 430,000 ล้านบาท ณ วันที่ 20 มิถุนายน 2557
ในอนาคตคาดว่าผลการดำเนินงานของธุรกิจกุ้งของบริษัทในประเทศไทยจะยังคงอ่อนแอเนื่องจากโรคระบาด EMS ยังคงเป็นปัญหาอยู่ แต่ในระยะสั้นผลการดำเนินงานของบริษัทจะมีปัจจัยสนับสนุนจากราคาต้นทุนอาหารสัตว์ที่มิได้เพิ่มขึ้นมากและราคาสินค้าจากฟาร์มของสัตว์บกที่แข็งแกร่งในประเทศไทย ตุรกี และเวียดนาม บริษัทได้เตรียมงบลงทุนสำหรับปี 2557 จำนวน 20,000 ล้านบาท จากสมมติฐาน EBITDA ที่ระดับ 30,000-35,000 ล้านบาทต่อปี และจำนวนหนี้ที่ถึงกำหนดชำระในแต่ละปีอยู่ระหว่าง 12,000-14,000 ล้านบาทในระหว่างปี 2557-2559 คาดว่าอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทจะยังคงอยู่ในระดับสูง เงินสดส่วนเกินจะอยู่ในระดับต่ำในช่วง 1-2 ปีข้างหน้า ทั้งนี้ บริษัทมีแผนจะลดอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนให้ต่ำกว่า 50% แต่ผลสำเร็จของแผนต้องอาศัยภาวะตลาดที่เอื้ออำนวยด้วย
เมื่อเร็ว ๆ นี้ Carrefour ซึ่งเป็นผู้ค้าปลีกที่มีสาขาทั่วโลกได้ประกาศหยุดซื้อสินค้ากุ้งจากบริษัทเนื่องจากมีรายงานที่เผยแพร่โดยหนังสือพิมพ์อังกฤษฉบับหนึ่งกล่าวหาว่าบริษัทซื้อปลาป่นซึ่งเป็นส่วนประกอบของอาหารสัตว์จากเรือประมงที่ใช้แรงงานทาสหรือมีการค้ามนุษย์ การระงับซื้อสินค้าจาก Carrefour มีผลกระทบต่อบริษัทไม่มากเพราะรายได้จากการส่งออกกุ้งไป Carrefour คิดเป็น 0.03% ของรายได้รวม ในขณะที่บริษัทมีรายได้จากการส่งออกกุ้งไปยังประเทศสหรัฐฯ และประชาคมยุโรปคิดเป็นจำนวน 5,416 ล้านบาท หรือคิดเป็น 1.4% ของรายได้รวมของบริษัท อย่างไรก็ตาม ข้อกล่าวหาดังกล่าวเป็นปัจจัยเสี่ยงต่ออุตสาหกรรมอาหารทะเลของไทยซึ่งรวมถึงบริษัทเองด้วย โดยก่อนหน้านี้ประเทศไทยมีรายชื่ออยู่ใน Tier 2 ซึ่งเป็นบัญชีดำเกี่ยวกับการลักลอบค้ามนุษย์หรือใช้แรงงานทาสมาเป็นเวลา 4 ปีแล้ว และปัจจุบันหน่วยงานของประเทศสหรัฐฯ กำลังอยู่ระหว่างการทบทวนและจัดทำรายงานความคืบหน้าด้านปัญหาการค้ามนุษย์หรือใช้แรงงานทาสในประเทศไทย ซึ่งข้อกล่าวหานี้อาจทำให้ประเทศไทยถูกปรับรายชื่อไปอยู่ในบัญชี Tier 3 ซึ่งอาจทำให้ลูกค้าในสหรัฐฯ ยกเลิกคำสั่งซื้ออาหารทะเลจากประเทศไทยได้
บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) (CPF)
อันดับเครดิตองค์กร: AA-
อันดับเครดิตตราสารหนี้:
CPF14NA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 3,200 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2557 AA-
CPF14NB: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 3,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2557 AA-
CPF155A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2558 AA-
CPF155B: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2558 AA-
CPF15NA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 3,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2558 AA-
CPF163A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 6,060 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2559 AA-
CPF17NA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 5,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2560 AA-
CPF178A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2560 AA-
CPF185A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 6,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2561 AA-
CPF188A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 3,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2561 AA-
CPF198A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 6,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2562 AA-
CPF198B: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2562 AA-
CPF218A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 3,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2564 AA-
CPF218B: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 5,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2564 AA-
CPF228A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 4,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2565 AA-
CPF328A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 5,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2575 AA-
CPF418A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 4,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2584 AA-
CPF41DA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 6,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2584 AA-
แนวโน้มอันดับเครดิต: Negative