กรุงเทพฯ--23 มิ.ย.--กระทรวงอุตสาหกรรม
พลเอกประยุทธ์นั่งประธานบอร์ดบีโอไอนัดแรก ไฟเขียว 18 โครงการใหญ่ เงินลงทุนรวมกว่า 1.2 แสนล้านบาท อุตสาหกรรมยานยนต์สุดฟิตจ่อลงทุนเพิ่มมหาศาล โตโยต้าลุยผลิตปิคอัพอีกกว่า 5 แสนคัน ซีพีทุ่ม 9 พันล้านผลิตรถยนต์นั่งส่วนบุคคล กลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์แห่ลงทุนผลิตป้อนค่ายใหญ่ และโครงการศูนย์ฝึกอบรมทางเทคนิคด้านการบิน พร้อมตั้งอนุฯ กลั่นกรอง
นายอุดม วงศ์วิวัฒน์ไชย เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บอร์ดบีโอไอ ซึ่งมี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานกรรมการ และพลอากาศเอกประจิน จั่นตอง หัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจ คสช.เป็นรองประธานกรรมการ ว่า ที่ประชุมได้อนุมัติให้การส่งเสริมการลงทุนจำนวน 18โครงการ รวมมูลค่าเงินลงทุน 122,837.7 ล้านบาท ประกอบด้วย
1. บริษัท ซีพีเอฟ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ได้รับส่งเสริมการลงทุนกิจการบริการรับฝากห้องเย็น โดยมีความจุประมาณ 8,500 ตันสินค้า เงินลงทุนทั้งสิ้น 900 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่จังหวัดนครราชสีมา
2. บริษัท ซีพีเอฟ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ได้รับส่งเสริมการลงทุนกิจการบริการรับฝากห้องเย็น โดยมีความจุประมาณ 8,500 ตันสินค้า เงินลงทุนทั้งสิ้น 900 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่จังหวัดฉะเชิงเทรา
3. บริษัท ซีพีเอฟ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ได้รับส่งเสริมการลงทุนกิจการบริการรับฝากห้องเย็น โดยมีความจุประมาณ 8,500 ตันสินค้า เงินลงทุนทั้งสิ้น 900 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่จังหวัดสมุทรสาคร
4. บริษัท เซรามิคอุตสาหกรรมไทย จำกัด ได้รับส่งเสริมการลงทุนกิจการผลิต กระเบื้องเซรามิค กำลังการผลิตปีละประมาณ 400,000 ตารางเมตร เงินลงทุนทั้งสิ้น 1,748 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่จังหวัดสระบุรี โดยโครงการนี้จะผลิตกระเบื้องเซรามิค สำหรับปูพื้นและเคาน์เตอร์ที่มีความแข็งแกร่งและคงทน เนื่องจากผ่านการเผาและหลอมละลายติดเนื้อกระเบื้อง นำมาใช้ทดแทนหินธรรมชาติซึ่งหายากและมีราคาสูง
5. บริษัทไทย มาลายา กลาส จำกัด ได้รับส่งเสริมการลงทุนกิจการผลิตขวดแก้ว เพื่อใช้เป็นบรรจุภัณฑ์สำหรับอาหารและเครื่องดื่ม กำลังการผลิตปีละประมาณ 1,565 ล้านขวด เงินลงทุนทั้งสิ้น 1,900 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่จังหวัดสระบุรี
6. บริษัทไทย มาลายา กลาส จำกัด ได้รับส่งเสริมการลงทุนกิจการผลิตขวดแก้ว เพื่อใช้เป็นบรรจุภัณฑ์สำหรับอาหารและเครื่องดื่ม กำลังการผลิตปีละประมาณ 1,043 ล้านขวด เงินลงทุนทั้งสิ้น 1,647 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่จังหวัดสระบุรี
7. บริษัทไทย มาลายา กลาส จำกัด ได้รับส่งเสริมการลงทุนกิจการผลิตขวดแก้ว เพื่อใช้เป็นบรรจุภัณฑ์สำหรับอาหารและเครื่องดื่ม กำลังการผลิตปีละประมาณ 2,086 ล้านขวด เงินลงทุนทั้งสิ้น 1,980 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่จังหวัดสระบุรี
8. บริษัทโพสโค โค้ทเต้ด สตีล (ประเทศไทย) จำกัด ได้รับส่งเสริมการลงทุนกิจการผลิตเหล็กแผ่นเคลือบ กำลังการผลิตปีละประมาณ 450,000 ตัน โดยส่วนใหญ่จะผลิตเพื่อจำหน่ายให้กับค่ายรถยนต์ในประเทศ ที่เหลือจำหน่ายให้กับค่ายรถยนต์ในต่างประเทศ เงินลงทุนทั้งสิ้น 10,014 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่จังหวัดระยอง
9. MR. PIETRO ALESSANDRO MOTTA และ MR.BUNDIT KERDVONGBUNDIT (จะจัดตั้งบริษัทในภายหลัง) ได้รับส่งเสริมการลงทุนกิจการผลิตยางยานพาหนะ กำลังการผลิตปีละประมาณ 5,800,000 เส้น เงินลงทุนทั้งสิ้น 9,000 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่จังหวัดระยอง
10. บริษัท แอลแอลไอที (ประเทศไทย) จำกัด ได้รับส่งเสริมการลงทุนกิจการผลิตยางยานพาหนะ กำลังการผลิตปีละประมาณ 11,200,000 เส้น เงินลงทุนทั้งสิ้น 18,860.3 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่จังหวัดชลบุรี
11. บริษัท บริดจสโตน เอ็นซีอาร์ จำกัด ได้รับส่งเสริมการลงทุนกิจการผลิตอุปกรณ์เครื่องจักร เช่น สายพานลำเลียง (Steel Cord Conveyor) กำลังการผลิตปีละประมาณ 96,000 เมตร เงินลงทุนทั้งสิ้น 1,450 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่จังหวัดระยอง
12. บริษัท โทเพร (ประเทศไทย) จำกัด ได้รับส่งเสริมการลงทุนกิจการผลิตชิ้นส่วนยานพาหนะ เงินลงทุนทั้งสิ้น 2,753 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่จังหวัดสมุทรปราการ
13. บริษัท ซัมมิท คีย์เลกซ์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้รับส่งเสริมการลงทุนกิจการผลิตชิ้นส่วนยานพาหนะ กำลังการผลิตปีละประมาณ 5,000,000 ชิ้น เงินลงทุนทั้งสิ้น 1,450 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่จังหวัดชลบุรี
14. บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ได้รับส่งเสริมการลงทุนกิจการผลิตรถยนต์เป็นโครงการรวม (Package) เงินลงทุนทั้งสิ้น 51,523 ล้านบาท กำลังการผลิตรถยนต์ปิคอัพรวมประมาณ 570,000 คัน กำลังการผลิตชิ้นส่วนรวมปีละประมาณ 4,800,000 ชิ้น โดยโครงการตั้งอยู่ที่จังหวัดสมุทรปราการ และจังหวัดฉะเชิงเทรา
15. บริษัทเอสเอไอซี มอเตอร์-ซีพี จำกัด ได้รับส่งเสริมการลงทุนกิจการผลิตรถยนต์ กำลังการผลิตรถยนต์นั่งส่วนบุคคลปีละประมาณ 52,000 คัน เงินลงทุนทั้งสิ้น 9,200 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่จังหวัดชลบุรี
16. บริษัท เอสอีไอ ไทย อิเล็คทริค คอนดัคเตอร์ จำกัด ได้รับส่งเสริมการลงทุนกิจการผลิต สายไฟฟ้าอะลูมิเนียม (ALUMINUM ELECTRIC WIRE AND CABLE) กำลังการผลิตปีละประมาณ 3,960 ตัน เงินลงทุนทั้งสิ้น 1,712.6 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่จังหวัดระยอง
17. บริษัท ซุปเปอร์แนป (ประเทศไทย) จำกัด ได้รับส่งเสริมการลงทุนกิจการเขต DATA CENTER ขนาด 6,800 ตรม. (พื้นที่รวม 19,000 ตรม.) เงินลงทุนทั้งสิ้น 6,900 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่จังหวัดชลบุรี โดยโครงการนี้เป็นการลงทุนของ SuperNAP International S.A. ประเทศลักเซมเบิร์ก ซึ่งเป็นผู้ให้บริการธุรกิจศูนย์ข้อมูลที่ใหญ่ที่สุดในโลก พื้นที่กว่า 2.3 ล้านตารางเมตร ที่ลาสเวกัส ประเทศสหรัฐอเมริกา
18. MR. MARIO D’ANGELO (จะจัดตั้งบริษัทในภายหลัง) ได้รับส่งเสริมการลงทุนกิจการศูนย์ฝึกอบรมด้านเทคนิคสำหรับนักบิน เงินลงทุนทั้งสิ้น 2,407 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่จังหวัดสมุทรปราการ โดยโครงการนี้เป็นการลงทุนของ Flight Safety International (อเมริกา) ซึ่งทำธุรกิจฝึกสอนเกี่ยวกับการบินและการผลิตเครื่องบิน (Flight Simulators) มีบริษัทในเครือกว่า 40 แห่งทั่วโลก
“การที่บอร์ดบีโอไอได้อนุมัติให้การส่งเสริมการลงทุนในวันนี้ ถือเป็นนิมิตรหมายที่ดีต่อบรรยากาศการลงทุนในประเทศไทย เพราะนอกจากจะช่วยให้นักลงทุนกลุ่มที่ชะลอการตัดสินใจยื่นขอรับส่งเสริมก่อนหน้านี้เกิดความมั่นใจและตัดสินใจยื่นขอรับส่งเสริมเข้ามาในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2557 แล้ว การเดินหน้าอนุมัติส่งเสริมโครงการลงทุนที่เหลือภายในช่วงไม่กี่เดือนนับจากนี้ยังจะส่งผลดีต่อภาพรวมทางเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งจะมาจากเม็ดเงินลงทุนของโครงการที่ได้รับส่งเสริม ช่วยให้เกิดการขยายตัวของอุตสาหกรรมสนับสนุน และการจ้างงานใหม่อีกหลายแสนตำแหน่งในช่วงปี 2558 เป็นต้นไป” เลขาธิการ บีโอไอกล่าว
แต่งตั้งคณะอนุฯ พิจารณาโครงการ
นายอุดม วงศ์วิวัฒน์ไชย เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ กล่าวว่า ที่ประชุมได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการพิจารณาโครงการ จำนวน 15 คนประกอบด้วย นายอุดม วงศ์วิวัฒน์ไชย เลขาธิการบีโอไอเป็นประธาน ผู้บริหารระดับสูงของบีโอไอ ผู้แทนจากหน่วยงานต่างๆ อาทิ กระทรวงการคลัง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กรมโรงงานอุตสาหกรรม สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ธนาคารแห่งประเทศไทย การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย
โดยมีอำนาจและหน้าที่พิจารณาให้การส่งเสริมการลงทุนแก่โครงการที่มีขนาดการลงทุนตั้งแต่ 200 - 750 ล้านบาท ไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียน และโครงการที่เป็นกิจการผลิตผลิตภัณฑ์เพื่อการส่งออกเป็นส่วนใหญ่ และมีขนาดการลงทุนเกิน 200 ล้านบาท ไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียน รวมทั้งมีอำนาจหน้าที่ในการกลั่นกรองการส่งเสริมการลงทุนสำหรับโครงการที่มีขนาดการลงทุนเกิน 750 ล้านบาท ไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียน