กรุงเทพฯ--23 มิ.ย.--กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์
นพ.อภิชัย มงคล อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้มีการเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางบางชนิดที่มีการลักลอบใส่สารห้ามใช้ และมีการโฆษณาโอ้อวดสรรพคุณต่างๆนาๆ เช่น ทำให้ผิวขาว หน้าใส อ่อนเยาว์ ช่วยแก้ไขปัญหาสิว ฝ้า กระ จุดด่างดำ หน้าหมองคล้ำ ริ้วรอย ฯลฯโดยได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องทุกปี โดยเฉพาะการลักลอบใส่สารห้ามใช้ประเภท“ปรอท ไฮโดรควิโนน และกรดเรทิโนอิก(กรดวิตามินเอ)” ที่ยังคงมีการตรวจพบมากที่สุดเป็นอันดับ 1 มาโดยตลอด แม้ว่าสารทั้ง 3 ชนิดนี้ กระทรวงสาธารณสุขจะมีการประกาศให้เป็นสารห้ามใช้ในเครื่องสำอางมานานกว่า 20 ปีแล้วก็ตาม
ทั้งนี้ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2556 ถึงเดือนมีนาคม 2557 ที่ผ่านมากรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ทำการสุ่มตรวจวิเคราะห์ตัวอย่างเครื่องสำอางเพื่อหาสารห้ามใช้ทั้ง 3 ชนิดจากทั้งหมด 472 ตัวอย่าง ผลการตรวจวิเคราะห์พบว่ามีเครื่องสำอางที่ผสมสารห้ามใช้ทั้ง 3 ชนิด 59 ตัวอย่างหรือร้อยละ 12.5 แยกเป็นสารประกอบของปรอท 29 ตัวอย่างหรือร้อยละ 6 สารไฮโดรควิโนนและกรดเรทิโนอิก 19 ตัวอย่างหรือร้อยละ 4 เฉพาะกรดเรทิโนอิก 6 ตัวอย่างหรือร้อยละ1.27 เฉพาะสารไฮโดรควิโนน 4 ตัวอย่างหรือร้อยละ 0.84 และสารห้ามใช้อื่นๆอีก 1ตัวอย่าง
โดยสารห้ามใช้ในเครื่องสำอางทั้ง 3 ชนิดนี้จะออกฤทธิ์และส่งผลเสียทั้งในระยะสั้นและระยะยาว สารประกอบของปรอทหรือสารปรอทแอมโมเนีย จะออกฤทธิ์รบกวนการทำงานของเอนไซม์ tyrosinase ลดการสร้างเม็ดสีผิวเมลานิน ผิวจึงขาวขึ้น อันตรายของสารนี้จะทำให้เกิดการแพ้ ผื่นแดง ผิวบางลง การใช้ติดต่อกันเป็นเวลานานจะทำให้เกิดพิษสะสมในผิวหนัง และดูดซึมเข้าสู่กระแสโลหิตทำให้ตับและไตอักเสบ เกิดโรคโลหิตจาง ทำให้ผิวบางขึ้น เกิดการแพ้หรือเป็นแผลได้ สารไฮโดรควิโนนออกฤทธิ์ยับยั้งปฏิกิริยาของเอนไซม์ tyrosinase ทำให้ผิวสีจางลงได้ชั่วคราว หากใช้แล้วถูกแสงแดดภายหลังการใช้จะทำให้ผิวสีเข้มขึ้น อาจทำให้เกิดโรคฝ้าถาวรรักษาไม่หาย กรดเรทิโนอิกเป็นสารลอกผิว ความเป็นพิษคือทำให้หน้าแดงและแสบร้อนรุนแรง ผิวสีดำไหม้ เกิดการระคายเคือง อักเสบ และเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์
นพ.อภิชัยกล่าวต่ออีกว่าตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุข ลงวันที่ 8 กรกฎาคม 2551ได้กำหนดให้เครื่องสำอางทุกชนิดจัดเป็นเครื่องสำอางควบคุมโดยระบุให้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2554 ผู้ประกอบการผลิตหรือนำเข้าจะต้องมาจดแจ้งกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) หากผลิตภัณฑ์นั้นผ่านการตรวจสอบว่าไม่มีสารห้ามใช้หรือหากมีสารที่ควบคุมปริมาณการใช้จะต้องมีปริมาณไม่เกินตามที่กฎหมายกำหนด ก็จะได้เลขที่รับแจ้ง ซึ่งจะต้องแสดงเลขที่รับแจ้งไว้ที่ฉลากของเครื่องสำอางด้วย ซึ่งเป็นเลข10 หลักเช่น 10-1-5507445 ดังนั้นเครื่องสำอางที่มีคุณภาพปลอดภัยจะต้องไม่มีสารห้ามใช้
“อย่างไรก็ตามผู้บริโภคควรเลือกซื้อเครื่องสำอางจากร้านค้าที่มีหลักแหล่งชัดเจน ฉลากภาษาไทยต้องมีข้อความตามที่กฎหมายกำหนด ได้แก่ ชื่อและประเภทผลิตภัณฑ์ สารที่ใช้เป็นส่วนผสม วิธีใช้ ชื่อและที่ตั้งแหล่งผลิต เดือนปีที่ผลิต ปริมาณสุทธิ คำเตือน และเลขที่รับแจ้ง หากมีอาการผิดปกติหรือเกิดอาการแพ้ ผื่นคัน ต้องหยุดใช้และปรึกษาแพทย์ หรือแจ้งไปยังหน่วยงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภค สาธารณสุขจังหวัด และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาเพื่อทำการตรวจสอบและดำเนินการตามกระบวนการทางกฎหมายต่อไป” นพ.อภิชัยกล่าว