กรุงเทพฯ--23 มิ.ย.--กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม
กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) เสริมแกร่ง 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดนครปฐม สมุทรสาคร และชลบุรี ฐานการผลิตของไทยที่ครบครันและสมบูรณ์แบบที่สุดในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เนื่องจากมีความได้เปรียบด้านยุทธศาสตร์ที่ตั้งอยู่ไม่ไกลจากเมืองหลวงมากนัก รวมทั้งในภาคตะวันออกยังมีโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการขนส่งระหว่างประเทศ อย่างท่าเรือน้ำลึก ทำให้สะดวกและง่ายในการโลจิสติกส์ ช่วยประหยัดเวลาและต้นทุนได้เป็นจำนวนมาก กสอ. จึงได้เร่งยกระดับผู้ประกอบการผ่าน“โครงการพัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจอุตสาหกรรม หรือ คพอ. (Entrepreneurship Development Program : EDP) เพื่อพัฒนาผู้ประกอบการ SMEs รายเดิมให้มีความรู้ มีทักษะในการประกอบการ สามารถบริหารจัดการและแก้ไขปัญหา ต่าง ๆ ได้อย่างเป็นระบบและบรรลุเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ที่มีกิจการอยู่แล้ว แต่ต้องการความรู้เพิ่มเติมเพื่อการขยายกิจการ โดยเฉพาะความรู้เรื่อง AEC โดยหลักสูตรที่เป็นมาตรฐานและมีการปรับปรุงให้มีความร่วมสมัยและมีความเข้มข้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับการเข้าสู่ AEC ได้อย่างมีประสิทธิภาพทั้งในเชิงรับและเชิงรุก โดยคาดว่า ในปี 2557 นี้จะสามารถสร้างยอดขายเพิ่มขึ้นได้กว่า 1,500 ล้านบาท นอกจากนี้ผู้ที่ผ่านการฝึกอบรมโครงการ คพอ.ทุกรายจะได้รับสิทธิเป็นสมาชิกสมาคมส่งเสริมผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมไทย ซึ่งมีสมาชิกกว่า 8,800 รายทั่วประเทศ นับเป็นการเชื่อมโยงเครือข่ายธุรกิจได้เป็นอย่างดี อย่างไรก็ดี เมื่อเร็ว ๆ นี้ ได้มีการมอบมอบเกียรติบัตรให้ผู้ประกอบการที่ผ่านการฝึกอบรมในพื้นที่ภาคกลางจากจังหวัดนครปฐม สมุทรสาคร และชลบุรี รวมกว่า 100 ราย ณ บ้านสุขาวดี อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี
สำหรับผู้ประกอบการที่ต้องการเข้าร่วมโครงการต่างๆ ของ กสอ.สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม หมายเลขโทรศัพท์ 0 2202 4426-7 หรือเข้าไปที่ www.dip.go.th
ดร.อรรชกา สีบุญเรือง อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า กสอ. ได้ให้ความสำคัญในการเตรียม ความพร้อมผู้ประกอบการในการเข้าสู่ AEC โดยเฉพาะผู้ประกอบการในแหล่งที่เป็นฐานการผลิตภาคอุตสาหกรรมของประเทศที่ใกล้เคียงกรุงเทพมหานคร ซึ่งได้แก่ จังหวัดนครปฐม สมุทรสาคร และชลบุรี ซึ่งเป็นฐานการผลิตภาคอุตสาหกรรมสำคัญของประเทศ มีจำนวนโรงงานรวมกันกว่า 14,000 แห่ง (ที่มา : สำนักงานสถิติแห่งชาติ) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปประเภทอาหารทะเลสดและอาหารแปรรูป อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ และอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ เนื่องจาก
จังหวัดดังกล่าว มีความได้เปรียบด้านยุทธศาสตร์ที่ตั้งอยู่ไม่ไกลจากเมืองหลวงมากนัก รวมทั้งในภาคตะวันออกยังมีโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการขนส่งระหว่างประเทศ อย่างท่าเรือน้ำลึก ทำให้สะดวกและง่ายต่อระบบโลจิสติก ช่วยให้ประหยัดเวลาและต้นทุนได้เป็นจำนวนมากสำหรับจังหวัดนครปฐม มีมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัดนครปฐม (GPP) 1.32 แสนล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่ขึ้นอยู่กับภาคอุตสาหกรรมเป็นหลัก คิดเป็นมูลค่า 70,512 ล้านบาท หรือประมาณร้อยละ 49 ของมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมทั้งจังหวัด มีโรงงานทั้งหมด 3,592 แห่ง โดยส่วนใหญ่เป็นโรงงานอุตสาหกรรมอาหาร โรงงานอุตสาหกรรมพลาสติก และโรงงานอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์โลหะ เป็นต้น มีจำนวนเงินลงทุนอยู่ที่ประมาณ 4,021 ล้านบาท ส่วนใหญ่อยู่ในอำเภอสามพราน นครชัยศรี พุทธมณฑล เป็นต้น มีจุดเด่นที่อยู่ห่างจากกรุงเทพเพียง 50 กม. และเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยชื่อดัง จึงมีศักยภาพทางด้านการศึกษา ขณะที่จังหวัดสมุทรสาคร มีมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัดสมุทรสาคร (GPP) 3.5 แสนล้านบาท มีโรงงานทั้งหมด 5,944 แห่ง ส่วนใหญ่เป็นโรงงานผลิตภัณฑ์อาหารทะเลและเกษตรแปรรูปตั้งอยู่ในอําเภอเมือง และอําเภอกระทุ่มแบน เป็นส่วนใหญ่ ด้านจังหวัดชลบุรี มีมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัดชลบุรี (GPP) 4.60 แสนล้านบาท เป็นจังหวัดที่มีศักยภาพด้านอุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนยายนยนต์ โลหะและเกษตรแปรรูป เป็นต้น นอกจากนี้ ยังเป็นที่ตั้งของนิคมอุตสาหกรรมถึง 5 แห่ง 1 สวนอุตสาหกรรม และมีโรงงานอุตสาหกรรมประมาณ 4,839 แห่ง จังหวัดชลบุรีมีความโดดเด่นระดับประเทศ เนื่องจากมีระบบสาธารณูปโภคครอบคลุมทุกด้าน มีระยะทางห่างจากกรุงเทพฯ ไม่ถึง 80 กิโลเมตร และไม่ไกลจากสนามบินสุวรรณภูมิ นอกจากนี้ยังเป็นศูนย์กลางทางการลงทุน และการคมนาคมขนส่งที่สำคัญของภาคตะวันออก โดยเฉพาะการลงทุนภาคอุตสาหกรรมและการท่องเที่ยว จึงเป็นจุดดึงดูดของนักลงทุนให้เข้ามาลงทุนมากขึ้น อย่างไรก็ตามในภาพรวมของทั้ง 3 จังหวัดดังกล่าว ยังคงมีการเติบโต ทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง กสอ. จึงคาดหวังว่าพื้นที่ทั้ง 3 จังหวัด จะเป็นส่วนสำคัญในการยกระดับภาคอุตสาหกรรมที่สำคัญของไทยได้อย่างสมบูรณ์แบบที่สุดโดยเฉพาะในเวทีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ที่มา : ข้อมูลสถิติโรงงานอุตสาหกรรม จากสำนักงานสถิติแห่งชาติ / ข้อมูลผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ จากสำนักงานคณะกรรมการการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานอุตสาหกรรรมจังหวัดนครปฐม)
นางอรรชกา กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม โดยศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 8 จ.สุพรรณบุรี และ ภาคที่ 9 จ.ชลบุรี และสำนักพัฒนาผู้ประกอบการ เล็งเห็นถึงความสำคัญในการพัฒนาผู้ประกอบการ จึงจัดให้มี“โครงการพัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจอุตสาหกรรม หรือ คพอ. (Entrepreneurship Development Program : EDP) ซึ่งเป็นโครงการที่พัฒนาประสิทธิภาพการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการรายเดิมให้เข้าใจหลักการจัดการ การวางแผน และรู้จักคิดวิเคราะห์ก่อนการลงทุน รวมทั้งเปิดมุมมองวิสัยทัศน์ และแนวคิดของผู้ประกอบการในการพัฒนาศักยภาพของตนเอง มุ่งเน้นเพื่อรองรับการเข้าสู่ AEC โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นผู้ประกอบการที่ดำเนินธุรกิจอยู่แล้วสำหรับหลักสูตรที่ฝึกอบรมเป็นการบูรณาการ 4 หลักสูตรเข้าด้วยกันเพื่อเป้าหมายสร้างผู้ประกอบการให้มีความ “เก่ง และดี” ได้แก่ 1. การเสริมสร้างลักษณะของผู้ประกอบการที่มีความสามารถและมีธรรมาภิบาล 2. การบริหารธุรกิจสมัยใหม่ 3. การศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการลงทุน และ 4. การเสริมความรู้เรื่องการจัด ตั้งธุรกิจมุ่งเน้นที่การถ่ายทอดองค์ความรู้ในการประกอบธุรกิจอย่างเป็นระบบ เพื่อรองรับการเข้าสู่ AEC “ได้อย่างมีประสิทธิภาพทั้งในเชิงรุกและเชิงรับ ผ่านกระบวนการ “เรียนดี เรียนลัด” โดยวิทยากรทั้งภาครัฐและเอกชนที่มีความรู้ความสามารถและประสบการณ์จริง
สำหรับการรวมตัวกันทางเศรษฐกิจของประเทศในกลุ่มอาเซียน หรือ ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) นั้น จำเป็นที่บุคลากรแขนงต่าง ๆ จำเป็นต้องมีการปรับตัวและพัฒนาตนเองอยู่เสมอ อย่างไรก็ตาม ถึงแม้การรวมกันของกลุ่มอาเซียน จะส่งผลกระทบทั้งต่อไทยทั้งด้านบวกและด้านลบ แต่หากต้องการสร้างโอกาสทางธุรกิจให้ธุรกิจของตนเอง บุคลากรจำเป็นต้องมีความรู้และมีการพัฒนาอยู่เสมอ อาทิ
1. การตลาด มุ่งเน้นการพัฒนาเพื่อสร้างคุณค่าให้ผลิตภัณฑ์ (Value Creation) และแสวงหาตลาดใหม่ ๆ
2. การผลิต มุ่งเน้นการพัฒนาทั้งด้านเทคโนโลยี การบริหารจัดการ เพื่อลดต้นทุนในการผลิต รวมถึงการประกอบการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
3. การบริหารจัดการ ทั้งทรัพยากรมนุษย์ และการเงิน เนื่องจากในอนาคตมีการเคลื่อนย้ายแรงงานจำนวนมาก ดังนั้นการพัฒนาศักยภาพและเตรียมความพร้อมด้านเพื่อเพิ่มคุณค่าให้ ผู้ประกอบการและแรงงานจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้การดำเนินธุรกิจเป็นไปอย่างราบรื่น
ด้านนางเพ็ญทิพย์ พรจะเด็ด นายกสมาคมส่งเสริมผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมไทย กล่าวว่า สมาคมส่งเสริมผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมไทย (ATSME) ปัจจุบันมีสมาชิกกว่า 8,800 รายทั่วประเทศ ซึ่งผู้ประกอบการที่ผ่านการเข้าร่วมโครงการ กับ คพอ. ทุกราย จะได้รับสิทธิโดยอัตโนมัติให้เป็นสมาชิกของสมาคมฯ สำหรับจุดเด่นของ คพอ. ที่มีการดำเนินโครงการมาแล้วกว่า 34 ปี สมาคมมองว่า ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการมีความต่อเนื่องเชื่อมโยงตั้งแต่รุ่นแรกถึงปัจจุบัน เปรียบเสมือสมาชิกในครอบครัวเดียวกัน ทำให้มีความผูกพันและจริงใจในการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน สำหรับการฝึกอบรมรุ่นที่ 274 275 และ 276 นั้น มีความแตกต่างกับการฝึกอบรมครั้งก่อน ๆ ตรงที่มีความเข้มข้นของเนื้อหามากยิ่งขึ้น โดยเพิ่มหลักสูตรให้มีความทันสมัยสอดคล้องกับสถานการณ์มากที่สุด โดยเฉพาะการบริหารธุรกิจเมื่อเข้าสู่ AEC และการจัดการภาษี ซึ่งให้ความรู้ในรายละเอียดเชิงลึกมากยิ่งขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการที่เข้าฝึกอบรมมีความพึงพอใจเป็นอย่างมาก เนื่องจากสร้างประโยชน์ในการดำเนินธุรกิจอย่างเป็นรูปธรรม สามารถนำความรู้ต่าง ๆ ที่ได้รับมาใช้ได้ทันที อย่างไรก็ตาม สำหรับปัญหาทางการเมืองที่ผ่านมา ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน ให้ไม่กล้าสั่งซื้อหรือสั่งผลิตสินค้าจากผู้ประกอบการในประเทศไทย ซึ่งปัญหาดังกล่างส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้ประกอบการ SMEs เนื่องจากผู้ประกอบการ SMEs ส่วนใหญ่เป็นลักษณะรับจ้างผลิต (OEM) เมื่อไม่มีคำสั่งซื้อจากนักลงทุนรายใหญ่ก็ทำให้รายได้ลดลง ในขณะที่รายจ่ายเท่าเดิม จึงส่งผลให้ขาดสภาพคล่องทางการเงิน อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่า SMEs จะประสบปัญหามากน้อยเพียงใด ก็ต้องขอบคุณ กสอ. ที่ช่วยเหลือและส่งเสริมผู้ประกอบการ SMEs โดยเฉพาะสมาชิกของสมาคมฯตลอดเวลา รวมทั้งหล่อหลอมให้สมาชิกทุกคนมีความสามัคคีคอยช่วยเหลือกัน ทำให้เครือข่าย SMEs ของเรามีความเข้มแข็งและสามารถฟันฝ่าปัญหาและอุปสรรคต่าง ๆ มาได้
ทั้งนี้ สำหรับการฝึกอบรม คพอ. โดยปกติใช้เวลาประมาณ 3 สัปดาห์ วันละ 5-7 ชั่วโมง รวมทั้งหมดไม่น้อยกว่า 108 ชั่วโมง มีทั้งรูปแบบการบรรยาย การยกตัวอย่างการแก้ไขปัญหา การดูงาน และการทำกิจกรรมนอกสถานที่ร่วมกัน โดยวิทยากรเป็นผู้ทรงคุณวุฒิทั้งภาครัฐและเอกชน รวมทั้งบุคคลในวงการธุรกิจที่ประสบความสำเร็จในการดำเนินกิจการ ซึ่งที่ผ่านมาได้พัฒนาผู้ประกอบการไปแล้วกว่า 276 รุ่น ซึ่งมีผู้ผ่านการอบรมแล้วกว่า 8,800 ราย จากทั่วประเทศ และมากกว่าร้อยละ 90 ของผู้เข้าร่วมฝึกอบรม สามารถนำความรู้ที่ได้ไปปรับปรุงการบริหารจัดการให้เกิดประสิทธิภาพและเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันได้เป็นอย่างดี โดยในปี 2556 มีจำนวนผู้เข้าร่วมโครงการจำนวน 538 ราย สามารถเพิ่มยอดขายให้กับผู้ประกอบการได้กว่า 1,500 ล้านบาท อย่างไรก็ดี ในปี 2557 กสอ.ตั้งเป้าพัฒนาผู้ประกอบการจำนวน 450 ราย และคาดว่าจะสามารถเพิ่มยอดขายได้ไม่ต่ำกว่า 1,500 ล้านบาท ทั้งนี้ เมื่อเร็ว ๆ นี้ ได้จัดงานมอบเกียรติบัตรให้กับผู้ประกอบการที่ผ่านการฝึกอบรมในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ถึง พฤษภาคม 2557 ซึ่งเป็นรุ่นที่ 274 จากจังหวัดนครปฐม รุ่นที่ 275 จากจังหวัดสมุทรสาคร และรุ่นที่ 276 จากจังหวัดชลบุรี รวมจำนวนกว่า 100 คน ณ บ้านสุขาวดี อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี ดร.อรรชกา กล่าวทิ้งท้าย