กรุงเทพฯ--24 มิ.ย.--ปตท.
ฝ่ายกลยุทธ์และแผนธุรกิจ หน่วยธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) รายงานสรุปสถานการณ์น้ำมันในสัปดาห์ล่าสุด โดยเมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อนหน้า ราคาเฉลี่ยของน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) เพิ่มขึ้น 3.11 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 114.10 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดิบดูไบ (Dubai) เพิ่มขึ้น 3.17 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 109.82 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดิบเวสท์เท็กซัสฯ (WTI) เพิ่มขึ้น 1.18 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 106.50 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95 เพิ่มขึ้น 4.53 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 125.40 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้น 3.43 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 123.10 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ปัจจัยที่ส่งผลกระทบ ได้แก่
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก
- วิกฤติอิรักส่งผลกระทบถึงภาคพลังงาน อาทิ โรงกลั่น Baiji ที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ มีกำลังผลิต 310,000 บาร์เรลต่อวัน ต้องปิดดำเนินการ เนื่องจากการปะทะระหว่างทหารกับกลุ่มติดอาวุธ ISIL (Islamic State of Iraq and the Levant)
- ความตึงเครียดทางการเมืองโลกเพิ่มขึ้นต่อเนื่องด้วยสถานการณ์ในอิรักกลายเป็นชนวนลุกลามขยายวง อาทิ สหรัฐฯ ส่งที่ปรึกษาทางการทหารจำนวน 300 นาย เข้าไปสนับสนุนฝ่ายรัฐบาล และอิหร่านชี้ว่าซาอุดีอาระเบียสนับสนุนกลุ่ม ISIL ซึ่งเป็นมุสลิมหัวรุนแรงนิกายสุหนี่ พร้อมทั้งประกาศส่งกองกำลังเข้าเพิ่มเติมอีก เพื่อช่วยเหลือฝ่ายรัฐบาลที่เป็นนิกายชีอะห์
- ในวันจันทร์ที 16 มิ.ย. 57 รัสเซียแถลงยุติการส่งก๊าซธรรมชาติให้ยูเครน หลังการเจรจาล้มเหลว โดยยูเครนไม่ได้ชำระหนี้ค่าก๊าซฯ ที่ค้างจ่ายกว่า 1.95 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ตามที่รัสเซียกำหนด
- สถาบันปิโตรเลียมของสหรัฐฯ (American Petroleum Institute) หรือ API รายงานอุปสงค์น้ำมันสำเร็จรูปในเดือน พ.ค. 57 เพิ่มขึ้น 1.9 % จากเดือนก่อนหน้าอยู่ที่ 18.9 ล้านบาร์เรลต่อวัน นับเป็นอุปสงค์น้ำมันในเดือน พ.ค.ที่สูงที่สุดตั้งแต่ปี 2550
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ
- ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของสหรัฐฯ (FOMC) ในวันที่ 17-18 มิ.ย. 57 มีมติให้ธนาคารกลางลดมาตรการผ่อนปรนเชิงปริมาณ (QE) ในการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลลง 1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่อเดือน อยู่ที่ 3.5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่อเดือน เริ่มเดือน ก.ค. 57
- ลิเบียเริ่มกลับมาเปิดดำเนินการภาคพลังงาน หลังกลุ่มรักษาความปลอดภัยและผู้ประท้วงบางส่วนยุติการชุมนุม อาทิ แหล่งผลิต El Feel ซึ่งผลิตน้ำมันดิบได้ 120,000 บาร์เรลต่อวัน และท่า Hariga ซึ่งส่งออกน้ำมันดิบได้ 140,000 บาร์เรลต่อวัน
- กลุ่มปกครองตนเองชาวเคิร์ด (Kurdistan Regional Government: KRG) ทางตอนเหนือของอิรัก เริ่มขายน้ำมันดิบผ่านท่อเส้นใหม่ ซึ่งขนส่งได้ 120,000 บาร์เรลต่อวัน ไปยังท่าส่งออก Ceyhan ในตุรกี เป็นเที่ยวแรก ให้กับอิสราเอล
แนวโน้มราคาน้ำมันดิบ
ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มเป็นขาขึ้น เนื่องจากทางการเมืองโลกยังคงร้อนแรง โดยเฉพะวิกฤติอิรัก ซึ่งในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา กลุ่มติดอาวุธ ISIL รุกคืบยึดเมืองสำคัญทางยุทธศาสตร์เพิ่มขึ้นได้อีก 3 เมืองทางภาคตะวันตก คือเมืองกออิม (Qaim), ราวาห์ (Rawah), และอานาห์ (Anah) ในจังหวัดอันบาร์ (Anbar) ทางตะวันตกของกรุงแบกแดด ทั้งนี้ ISIL ได้สร้างฐานกำลังขึ้นตลอดแนวพรมแดนอิรักติดซีเรีย ทำให้การลำเลียงเสบียงและยุทโธปกรณ์ข้ามประเทศไปยังสนามรบต่างๆ ในอิรักได้สะดวกขึ้น ประกอบกับองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organisation for Economic Co-operation and Development) หรือ OECD คาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งต่อเนื่อง โดย GDP ในปี 57 นี้จะเติบโต 2.5% จากปีก่อนหน้า และในปี 58 จะเติบโต 3.5% ซึ่งสูงสุดนับตั้งแต่ปี 47 เนื่องจากภาคเอกชนลงทุนเพิ่มขึ้น และธุรกิจพลังงานช่วยผลักดันกิจกรรมภาคการผลิตเพิ่มขึ้น ขณะที่อัตราการว่างงานลดลง ทั้งนี้ให้จับตามองการเมืองลิเบียซึ่งจะมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 25 มิ.ย. นี้ที่จะกำหนดเสถียรภาพทาง ซึ่งมีผลกระทบอย่างยิ่งต่อภาคพลังงานของประเทศที่เคยเป็นผู้ผลิตและส่งออกน้ำมันดิบรายใหญ่ของโลก คาดว่าสัปดาห์นี้ราคาน้ำมันดิบ Brent จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 112-117.50 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล, น้ำมันดิบ Dubai จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 108-113.50 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และ น้ำมันดิบ WTI จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 105-108-113.50 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันเบนซิน
สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาน้ำมันเบนซินปรับเพิ่มขึ้น จากอินโดนีเซียผู้ใช้รายใหญ่ในภูมิภาคเอเชีย มีแผนนำเข้า Gasoline 88 RON ส่งมอบเดือน ก.ค. 57 ปริมาณ 9.8 ล้านบาร์เรล สูงขึ้นจากค่าเฉลี่ยเดือน พ.ค.และ มิ.ย. 57 ที่ 9 ล้านบาร์เรล เนื่องจากความต้องการใช้ในประเทศสูงหลังเทศกาลถือศีลอดของชาวมุสลิม ซึ่งจะสิ้นสุดลงวันที่ 27 มิ.ย. 57 เป็นช่วงเวลาการเดินทางเพื่อไปเยี่ยมญาติและพักผ่อน ประกอบกับมีแรงซื้อจากเวียดนาม สำหรับสัปดาห์นี้คาดว่า ราคาน้ำมันเบนซินเคลื่อนไหวที่ระดับ 124-129.5 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซล
สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาน้ำมันดีเซลปรับเพิ่มขึ้น โดยผู้ค้าคาดว่าอุปสงค์ในภูมิภาคตะวันออกกลางจะสูงขึ้นหลังเทศกาลถือศีลอดของชาวมุสลิม และเริ่มเข้าสู่ฤดูร้อนที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสำหรับเครื่องปรับอากาศสูงสุดในรอบปี ประกอบกับอิรักต้องนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปเพื่อทดแทนการผลิตของโรงกลั่น Baiji ที่ปิดดำเนินการ เนื่องจากสงครามในประเทศ อย่างไรก็ตาม International Enterprise Singapore หรือ IES รายงานปริมาณสำรอง Middle distillates เชิงพาณิชย์ของสิงคโปร์ ในสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 18 มิ.ย. 57 เพิ่มขึ้น 1.7 ล้านบาร์เรล จากก่อนหน้า หรือ 16% อยู่ที่ 12.7 ล้านบาร์เรล สูงสุดในรอบเกือบ 2 ปี สำหรับสัปดาห์นี้คาดว่า ราคาน้ำมันเบนซินเคลื่อนไหวที่ระดับ 121.5-127 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล