กรุงเทพฯ--24 มิ.ย.--สถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม
สถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม เผยผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาวะอุตสาหกรรมอาหารไทยครึ่งปีแรกของปี 2557 ภาพรวมยังอยู่ในแดนบวกต่อเนื่อง โดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจขนาดกลางและขนาดใหญ่ที่มีต่อยอดคำสั่งซื้อและยอดขายจากตลาดต่างประเทศ คาดการณ์ไตรมาสที่ 3 ของปี 2557 ดัชนีความเชื่อมั่นมีแนวโน้มสูงขึ้น หวั่นสภาพอากาศที่ร้อนจัดและขาดน้ำเพื่อการเพาะปลูก ทั้งฝนตกหนักในบางพื้นที่ อาจส่งผลกระทบด้านปริมาณและระดับราคาวัตถุดิบในตลาดผันผวน
นายเพ็ชร ชินบุตร ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม เผยว่าศูนย์อัจฉริยะเพื่ออุตสาหกรรมอาหาร ได้รายงานผลการสำรวจ CEOs Food Index หรือความเชื่อมั่นของผู้บริหารในภาคอุตสาหกรรมอาหารไทยครึ่งปีแรกของปี 2557 โดยครอบคลุมกิจการขนาดใหญ่และขนาดกลางเป็นหลัก พบว่าดัชนีความเชื่อมั่นภาวะอุตสาหกรรมอาหารไทยในภาพรวมทุกกลุ่มสินค้า อยู่ที่ระดับ 51.1 ซึ่งมีค่ามากกว่า 50.0 แสดงให้เห็นว่าผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นทางธุรกิจอยู่ในเกณฑ์ที่ดี โดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่และขนาดกลางที่มุ่งผลิตสินค้าเพื่อส่งออกในตลาดต่างประเทศ โดยดัชนีความเชื่อมั่นคาดการณ์ไตรมาสที่ 3 ของ ปี 2557 ในภาพรวมพบว่าอยู่ที่ระดับ 56.5 ซึ่งอยู่ในเกณฑ์ที่มีความเชื่อมั่นเพิ่มสูงขึ้น
“กลุ่มสินค้าที่มีระดับความเชื่อมั่น อยู่ในเกณฑ์ที่ดีขึ้น(เหนือระดับ50.0) คือ กลุ่มสินค้าสับปะรดกระป๋อง อยู่ที่ระดับ 62.5 ไก่แช่แข็งและไก่แปรรูป อยู่ที่ระดับ 59.7 กุ้งแช่แข็งและกุ้งแปรรูป อยู่ที่ระดับ 54.2 เครื่องปรุงรส อยู่ที่ระดับ 50.9 ข้าวและแป้งข้าว อยู่ที่ระดับ 50.2 และอาหารอื่นๆ (แป้งมันสำปะหลัง ขนมปังอบกรอบ หมูแปรรูป และอาหารทะเลแปรรูป) อยู่ที่ระดับ 50.1 อย่างไรก็ตามเนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนจัดและยังมีบางพื้นที่ที่ขาดน้ำเพื่อการเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์อยู่ อีกทั้งปริมาณและระดับราคาวัตถุดิบที่อาจปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นอีก โดยมีกลุ่มสินค้าที่ได้รับผลกระทบคือ กลุ่มประมง ปศุสัตว์ เครื่องเทศ ผักและผลไม้ แต่หลังจากปัญหาทางการเมืองที่เริ่มคลี่คลายและกลับเข้าสู่ความสงบสุข ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่สะท้อนความเชื่อมั่นให้เพิ่มขึ้นจากนโยบาย และมาตรการที่จะกระตุ้นให้เศรษฐกิจและประเทศเดินหน้าต่อไป รวมทั้งสภาพอากาศที่เริ่มมีฝนตกหนักจากลมมรสุมที่พัดเข้ามาจากประเทศข้างเคียงและกำลังจะเข้าสู่ฤดูฝน การขาดแคลนน้ำเพื่อการเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์จึงอาจส่งผลกระทบในระยะสั้นเท่านั้น”
นายเพ็ชร กล่าวว่า ดัชนีความเชื่อมั่นอุตสาหกรรมสับปะรดกระป๋องมีทิศทางที่ดีต่อเนื่อง โดยดัชนีอยู่ที่ระดับ 62.5 ความต้องการบริโภคในตลาดที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลดีทั้งในกลุ่มธุรกิจขนาดกลางและขนาดใหญ่ให้เป็นบวกได้ต่อในช่วงไตรมาสที่ 1และ 2 นี้ ซึ่งจะเน้นในตลาดต่างประเทศเป็นหลัก ได้แก่ ยุโรป สหรัฐฯ และตะวันออกกลาง โดยผู้ส่งออกไทยมีความกังวลลดน้อยลงในเรื่องปริมาณวัตถุดิบ เนื่องจากพื้นที่ที่เพาะปลูกสับปะรดส่วนใหญ่ได้รับปริมาณน้ำฝนที่ตกอย่างเพียงพอ ทำให้มีผลผลิตเข้าสู่ตลาดเพิ่มขึ้นประมาณวันละ 8.5 - 9 พันตัน ส่งผล
ให้ระดับราคาสับปะรดขายหน้าโรงงานปรับตัวลดลง โดยคาดว่าตลาดต่างประเทศจะกลับมาขยายตัวดีอีกครั้งในช่วงไตรมาสสุดท้ายเพื่อรองรับช่วงเทศกาลปลายปี
สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นอุตสาหกรรมไก่ อยู่ที่ระดับ 59.7 โดยเฉพาะในตลาดต่างประเทศได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นในกลุ่มลูกค้าที่สำคัญคือ ยุโรป ตะวันออกกลาง ญี่ปุ่น และอาเซียน ส่งผลให้ระดับความเชื่อมั่นด้านยอด คำสั่งซื้อและยอดขายมีดัชนีอยู่เหนือระดับ 50.0 โดยภาคธุรกิจมีความกังวลต่อการเจริญเติบโตของไก่เนื้อในฟาร์มที่เลี้ยงในสภาพอากาศที่ร้อนจัด รวมทั้งต้องระมัดระวังการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดนก
นายเพ็ชร กล่าวต่อว่า ด้านดัชนีความเชื่อมั่นอุตสาหกรรมกุ้งไทย มีทิศทางที่เป็นบวก สอดรับกับภาวะตลาดที่มีความต้องการบริโภคเพิ่มมากขึ้น โดยอยู่ที่ระดับ 54.2 ปัจจัยด้านยอดคำสั่งซื้อและยอดขายที่มีเข้ามาต่อเนื่อง และด้วยมาตรฐานการผลิตและความปลอดภัยในสินค้าถือเป็นที่ยอมรับในกลุ่มลูกค้าที่สำคัญทั้งญี่ปุ่น สหรัฐฯ และยุโรป โดยในกลุ่มผู้ส่งออกขนาดกลางและขนาดใหญ่ของไทยที่ยังคงมีความเชื่อมั่นกับภาวะตลาดในต่างประเทศ แต่จากปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบกุ้งขาวภายในประเทศที่เป็นอยู่ได้สะท้อนภาพถึงระดับความเชื่อมั่นในด้านกำลังผลิตและปริมาณผลผลิตในกลุ่มสินค้ากุ้งขาวที่ทรงตัว(ระดับ 50.0) หากแต่การคาดการณ์ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการลงพื้นที่สำรวจแหล่งเพาะเลี้ยงกุ้งขาวและสอบถามผู้ผลิต และผู้ส่งออกของไทยต่างให้ข้อคิดเห็นว่าในขณะนี้ผลผลิตกุ้งขาวในไทยเริ่มมีปริมาณเพิ่มขึ้นประมาณช่วงไตรมาส 3 ซึ่งถือเป็นผลดีต่อการผลิตให้ทันกับความต้องการของตลาดในช่วงปลายปีที่จะถึงนี้
ด้านดัชนีความเชื่อมั่นอุตสาหกรรมเครื่องปรุงรส มีทิศทางดีขึ้น โดยอยู่ที่ระดับ50.9 จากยอดคำสั่งซื้อและยอดขายของกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ (ขนาดกลางทรงตัวอยู่ระดับ 50.0) ที่มีต่อตลาดต่างประเทศเป็นสำคัญ อย่างไรก็ตามยังคงมีความกังวลจากภาคธุรกิจในด้านวัตถุดิบที่อาจเกิดความเสียหายและมีไม่เพียงพอกับการผลิต จากสภาพอากาศที่ร้อนจัดและการเกิดพายุจนทำให้มีปริมาณฝนที่มากเกินไป
ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นอุตสาหกรรมข้าวไทย อยู่ที่ระดับ 50.2 ทั้งยอดขาย กำลังการผลิต ปริมาณผลผลิต และผลประกอบการ โดยยอดคำสั่งซื้อทรงตัว ลูกค้าในต่างประเทศได้ชะลอคำสั่งซื้อในบางส่วนไว้ (ประมาณ 35-45%) เพื่อรอระดับราคาสินค้าที่มีแนวโน้มจะลดลงอีกในระยะสั้น เช่น ข้าวขาว 5% ขึ้นไปที่จะมีการแข่งขันด้านราคากันสูงมากในตลาด ในขณะที่ในกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่มีความเชื่อมั่นต่อตลาดข้าวไทยในต่างประเทศอยู่ในระดับดี ยกเว้นตลาดภายในประเทศที่ภาคธุรกิจมองว่าขาดแรงกระตุ้นเพื่อให้เกิดการบริโภคที่เพิ่มมากขึ้นได้
โดยปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของภาคธุรกิจอุตสาหกรรมอาหารในภาพรวม จากผลสำรวจในช่วงครึ่งปีแรกผู้ประกอบการส่วนใหญ่เห็นว่า มาจากวัตถุดิบมีปริมาณและระดับราคาในตลาดผันผวน เนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนจัดและพายุทำให้เกิดฝนตกหนักในพื้นที่ส่วนใหญ่ รวมทั้งค่าไฟฟ้าที่ปรับเพิ่มสูงขึ้น เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตโดยรวม ซึ่งทำให้ภาคธุรกิจต้องแบกรับภาระเพิ่มสูงขึ้น