กรุงเทพฯ--24 มิ.ย.--กรมปศุสัตว์
นายสัตวแพทย์ทฤษดี ชาวสวนเจริญ อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า เนื่องจากปัจจุบันมีผู้ประกอบการบางรายได้นำอาหารสัตว์ สัตว์หรือซากสัตว์มาจำหน่าย โดยที่ไม่ได้รับอนุญาตจากกรมปศุสัตว์ ซึ่งถือว่าเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย และอาจได้รับโทษขั้นสูงสุดทั้งจำทั้งปรับ ดังนั้น คณะกรรมการเพื่อพิจารณาแนวทางการบังคับใช้กฎหมายตาม พ.ร.บ.สถานพยาบาลสัตว์ พ.ศ.2533 พ.ร.บ.วิชาชีพ การสัตวแพทย์ พ.ศ.2545 พ.ร.บ.ควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์ พ.ศ.2525 และ พ.ร.บ.ยา พ.ศ.2510 ซึ่งประกอบด้วยกรมปศุสัตว์ สัตวแพทยสภา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคเอกชน จึงขอย้ำเตือนว่า หากบุคคลใดต้องการจะประกอบธุรกิจค้าขายเกี่ยวกับอาหารสัตว์ และสัตว์หรือซากสัตว์จะต้องขออนุญาตกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อน โดยมีวิธีปฏิบัติ ดังนี้
การขายอาหารสัตว์ ได้แก่ อาหารสุนัข แมว กระต่าย ไก่ เป็ด นกกระทา ตะพาบน้ำ กบ กุ้งทะเล กุ้งน้ำจืด ปลาดุก ปลาน้ำจืดกินพืช ปลาทะเลกินเนื้อ โค กระบือ และสุกร ผู้ขายจะต้องมีใบอนุญาตขายอาหารสัตว์ หากฝ่าฝืนมีโทษ จำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับ ไม่เกิน 5,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนการขออนุญาตนั้นมีวิธีการดังนี้ ประการที่หนึ่งต้องเตรียมหลักฐาน คือ ในกรณีที่เป็นบุคคลทั่วไป ใช้สำเนาบัตรประชาชน และสำเนาทะเบียน-บ้าน แต่ถ้ากรณีที่เป็นนิติบุคคล จะต้องใช้สำเนาหนังสือรับรองการจดทะเบียน วัตถุประสงค์ของนิติบุคคล หนังสือมอบอำนาจและแต่งตั้งผู้ดำเนินการ และหนังสือมอบอำนาจผู้มากระทำการแทน จากนั้น ให้ใช้แบบคำขออนุญาตขายอาหารสัตว์ หรือ แบบ ข.ส.1 ซึ่งมารับได้ที่ที่ยื่นคำขอ หรือ download ได้ที่ http://afvc.dld.go.th ยื่นกับเจ้าหน้าที่ ณ สถานที่ดังต่อไปนี้ หากสถานที่ประกอบการตั้งอยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานครให้ยื่นคำขอได้ที่กองควบคุมอาหารและยาสัตว์ เลขที่ 91 หมู่ 4 ตำบลบางกะดี อำเภอเมือง จังหวัดปทุมธานี แต่ถ้าสถานที่ประกอบการตั้งอยู่ในท้องที่ต่างจังหวัด ก็ให้ยื่นคำขอที่สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดที่สถานที่ประกอบการตั้งอยู่ ซึ่งท่านสามารถตรวจสอบสถานที่และหมายเลขโทรศัพท์ทาง www.dld.go.th นอกจากนี้ ท่านยังสามารถยื่นคำขอที่กองควบคุมอาหารและยาสัตว์ จ.ปทุมธานีได้เช่นกัน ส่วนอัตราค่าธรรมเนียมนั้น ถ้าเป็นประเภทขายส่งและขายปลีก ฉบับละ 300 บาท ประเภทขายปลีก ฉบับละ 100 บาท ซึ่งใบอนุญาตขายอาหารสัตว์จะมีกำหนดอายุให้ใช้ได้ถึงวันที่ 31 ธันวาคม ของปีที่ได้รับอนุญาต
และถ้าผู้ใดจะทำการค้าสัตว์หรือซากสัตว์ ได้แก่ สุนัข แมว นก ไก่ เป็ด ห่าน ช้าง ม้า โค กระบือ แพะ แกะ สุกร กวาง นากหญ้า และไข่ของนก ไก่ เป็ด ห่าน ที่ใช้ทำพันธุ์ก็ต้องได้รับอนุญาตจากกรมปศุสัตว์เช่นกัน หากฝ่าฝืนมีโทษ จำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนการขออนุญาตนั้น ก็ต้องเตรียมหลักฐาน ดังนี้ กรณีบุคคลทั่วไป ใช้สำเนาบัตรประชาชนเพียงอย่างเดียว แต่ในกรณีที่เป็นนิติบุคคล ให้ใช้ สำเนาหนังสือรับรองการ จดทะเบียน หนังสือมอบอำนาจและแต่งตั้งผู้ดำเนินการ หนังสือมอบอำนาจผู้มากระทำการแทน โดยให้ใช้แบบคำขออนุญาตเป็นผู้ค้าสัตว์หรือซากสัตว์ หรือ แบบ ร.2 ซึ่งมารับได้ที่ที่ยื่นคำขอ ยื่นกับเจ้าหน้าที่ ณ สถานที่ดังต่อไปนี้ หากสถานที่ประกอบการตั้งอยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ให้ยื่นคำขอที่สำนักงานปศุสัตว์กรุงเทพมหานคร เลขที่ 151/21-22 ซอยอรุณอมรินทร์ 45 ถนนอรุณอมรินทร์ แขวงอรุณอมรินทร์ เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร แต่ถ้าหากสถานที่ประกอบการตั้งอยู่ในท้องที่ต่างจังหวัด ก็ให้ยื่นคำขอที่สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดที่สถานที่จะทำการค้า ซึ่งท่านสามารถตรวจสอบสถานที่
และหมายเลขโทรศัพท์ทาง www.dld.go.th โดยมีอัตราค่าธรรมเนียม ดังนี้ ประเภทอนุญาตให้ทำการค้าภายในจังหวัด ค้าสัตว์ 100 บาท ซากสัตว์ 20 บาท ประเภทอนุญาตให้ทำการค้าทั่วราชอาณาจักร ค้าสัตว์ 400 บาท ซากสัตว์ 100 บาทและประเภทอนุญาตให้ทำการค้าส่งต่างประเทศ ค้าสัตว์ 2,000 บาท ซากสัตว์ 400 บาท ซึ่งใบอนุญาตขายสัตว์หรือซากสัตว์มีกำหนดอายุให้ใช้ได้ถึงวันที่ 31 ธันวาคม ของปีที่ได้รับอนุญาต
อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การค้าภายในจังหวัด การค้าทั่วราชอาณาจักร และการค้าส่งต่างประเทศ นั้น ให้ใช้หลักฐานเดียวกันและยื่นคำขอได้ที่สำนักงานปศุสัตว์ทุกจังหวัด ซึ่งปศุสัตว์จังหวัดจะพิจารณาคำขอรับใบอนุญาตและแจ้งผลการพิจารณาภายใน 30 วัน แต่กรณีที่ได้รับอนุญาตแล้ว ให้มารับใบอนุญาตภายใน 7 วัน หากไม่มาก็จะถือว่าสละสิทธิ์ นอกจากนี้ หากท่านใดต้องการข้อมูลเพิ่มเติมก็สามารถสอบถามรายละเอียดการขออนุญาตขายอาหารสัตว์ ได้ที่ กองควบคุมอาหารและยาสัตว์ โทร. 02-1590406-7 ส่วนการขออนุญาตทำการค้าสัตว์และซากสัตว์ นั้น ให้ติดต่อที่ กองสารวัตรและกักกัน โทร. 02-5013473-5 ในการนี้ กรมปศุสัตว์ขอขอบคุณที่ท่านให้ความร่วมมือในการปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมายต่างๆที่เกี่ยวข้องกับสัตว์ เพื่อประโยชน์ทั้งต่อตัวสัตว์ เจ้าของสัตว์ และผู้ทำการค้าต่อไป