กรุงเทพฯ--25 มิ.ย.--แอนด์ แอสโซซิเอทส์ คอนซัลติ้ง
แทรฟฟิกอินเทอร์เน็ตบนเครือข่ายทั่วโลกในปี 2561 จะมีมากกว่าปริมาณแทรฟฟิกของ “Internet Years” ในหลายๆ ปีรวมกัน
การปรับใช้ Ultra-HD/4K และเทคโนโลยี M2M (Machine to Machine) รวมถึงรถยนต์อัจฉริยะ จะผลักดันการเติบโตแทรฟฟิกอินเทอร์เน็ต
รายงานคาดการณ์ Cisco® Visual Networking Index™ ทั่วโลกและการปรับใช้บริการสำหรับปี 2556 ถึง 2561 ชี้ว่า แทรฟฟิกอินเทอร์เน็ตโปรโตคอล (ไอพี) ทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นเกือบ 3 เท่าใน 5 ปีข้างหน้า เนื่องจากมีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตและอุปกรณ์พกพาเพิ่มมากขึ้น การบริการบรอดแบนด์ที่มีความเร็วมากขึ้น และการรับชมวิดีโอเพิ่มมากขึ้น แทรฟฟิกไอพีทั่วโลกสำหรับเครือข่ายพื้นฐานและเครือข่ายโมบายล์คาดว่าจะแตะระดับ 1.6 เซ็ตตาไบต์ต่อปี* หรือกว่า 1.5 ล้านล้านกิกะไบต์ต่อปี ภายในปี 2561 และคาดว่าแทรฟฟิกไอพีสำหรับปี 2561 จะมากกว่าแทรฟฟิกไอพีทั้งหมดที่เกิดขึ้นทั่วโลกในปี 2527 – 2556 (1.3 เซ็ตตาไบต์)
ส่วนประกอบของแทรฟฟิกไอพีจะเปลี่ยนแปลงอย่างมากในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า โดยในช่วงระยะเวลาที่คาดการณ์ แทรฟฟิกส่วนใหญ่จะเกิดจากอุปกรณ์อื่นที่ไม่ใช่คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล (พีซี) เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของอินเทอร์เน็ต แทรฟฟิก Wi-Fi จะมากเกินกว่าแทรฟฟิกบนเครือข่ายพื้นฐาน และวิดีโอความละเอียดสูง (HD) จะสร้างแทรฟฟิกมากกว่าวิดีโอความละเอียดมาตรฐาน (SD)
นอกจากนี้ Internet of Everything จะเติบโตเพิ่มมากขึ้น และภายในปี 2561 จะมีการเชื่อมต่อระหว่างอุปกรณ์ (Machine-to-Machine หรือ M2M) เกือบเท่ากับจำนวนประชากรทั่วโลก ขณะที่รถยนต์อัจฉริยะ (Smart Cars) จะมีโมดูล M2M เกือบ 4 โมดูลต่อรถยนต์หนึ่งคัน
ฟุตบอลโลก 2014 ผลักดันปริมาณการใช้งานแบนด์วิธอินเทอร์เน็ต (แทรฟฟิกอินเทอร์เน็ต)
ขณะที่ฟุตบอลโลก FIFA World Cup 2014 เริ่มต้นเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 12 มิถุนายน คาดว่าจะมีประชาชนหลายล้านคนรับชมเกม และ/หรือภาพไฮไลต์ผ่านทางอินเทอร์เน็ต ส่วนวิดีโอสตรีมมิ่งและการถ่ายทอดฟุตบอลโลกทางไอพีคาดว่าจะก่อให้เกิดแทรฟฟิกไอพี 4.3 เอ็กซาไบต์ ซึ่งมากกว่า 3 เท่า เมื่อเทียบกับแทรฟฟิกไอพีรายเดือนในประเทศบราซิลในปัจจุบัน นอกจากนี้ ยังคาดการณ์ว่าแทรฟฟิกอินเทอร์เน็ตที่สร้างโดยผู้ชมราว 60,000 คนในสนามแข่ง รวมถึงคนที่กำลังเดินทางไปชมการแข่งขัน จะแซงหน้าแทรฟฟิกในชั่วโมงเร่งด่วนของผู้ใช้สมาร์ทโฟน 94 ล้านคนในบราซิล
แทรฟฟิกไอพีทั่วโลกคาดว่าจะแตะระดับ 132 เอ็กซาไบต์ต่อเดือนภายในปี 2561 ซึ่งเทียบเท่ากับ:
-8.8 พันล้านหน้าจอที่กำลังสตรีมภาพการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายด้วยความละเอียด Ultra-HD/4K ในเวลาเดียวกัน
-5.5 พันล้านคนที่กำลังรับชมภาพยนตร์ "Game of Thrones" ซีซั่น 4 ผ่านทางวิดีโอออนดีมานด์ในรูปแบบ HD หรือ 1.5 พันล้านคนที่กำลังรับชมในรูปแบบ Ultra-HD/4K
-คลิปวิดีโอ 4.5 ล้านล้านคลิปบน YouTube และ
-940 พันล้านล้านข้อความ (Text Message)
รายงานคาดการณ์ Cisco VNI ฉบับอัพเดตนี้ครอบคลุมแนวโน้มการเติบโตของแทรฟฟิกไอพีบนเครือข่ายพื้นฐานและการปรับใช้บริการทั่วโลก โดยนำเสนอข้อมูลเพิ่มเติมสำหรับรายงานคาดการณ์แทรฟฟิกข้อมูลโมบายล์ทั่วโลก (Cisco VNI Global Mobile Data Traffic Forecast) ซึ่งตีพิมพ์เผยแพร่เมื่อต้นปีนี้
*หนึ่งเซ็ตตาไบต์ (Zettabyte) เท่ากับ 1,000 เอ็กซาไบต์ (Exabyte) และ 1,000 เซ็ตตาไบต์เท่ากับหนึ่งยอตตาไบต์ (Yottabyte)
** ชั่วโมงเร่งด่วนหมายถึงช่วงเวลา 60 นาทีที่มีปริมาณแทรฟฟิกโดยรวมสูงสุดในช่วง 24 ชั่วโมง
ประเด็นสำคัญ: การคาดการณ์แทรฟฟิกทั่วโลกและปัจจัยผลักดันการปรับใช้บริการ
1) แทรฟฟิกไอพี
-โทรศัพท์มือถือและอุปกรณ์พกพาอื่นๆ ที่ไม่ใช่พีซีจะผลักดันแทรฟฟิกอินเทอร์เน็ตส่วนใหญ่ภายในปี 2561 โดยในปี 2556 ราว 33 เปอร์เซ็นต์ของแทรฟฟิกไอพีเกิดขึ้นจากอุปกรณ์ที่ไม่ใช่พีซี แต่ภายในปี 2561 สัดส่วนแทรฟฟิกจากอุปกรณ์ที่ไม่ใช่พีซีจะเพิ่มเป็น 57 เปอร์เซ็นต์ ทั้งนี้ แทรฟฟิกที่เกิดจากพีซีจะเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ย 10 เปอร์เซ็นต์ต่อปี ขณะที่อุปกรณ์/การเชื่อมต่ออื่นๆ จะมีแทรฟฟิกเพิ่มขึ้นในอัตราที่สูงกว่า เช่น ทีวี (18 เปอร์เซ็นต์), แท็บเล็ต (74 เปอร์เซ็นต์), สมาร์ทโฟน (64 เปอร์เซ็นต์) และการเชื่อมต่อ M2M (84 เปอร์เซ็นต์)
-แทรฟฟิกอินเทอร์เน็ตในชั่วโมงเร่งด่วนเพิ่มขึ้นในอัตราที่รวดเร็วกว่าแทรฟฟิกอินเทอร์เน็ตโดยเฉลี่ย กล่าวคือ แทรฟฟิกอินเทอร์เน็ตในชั่วโมงเร่งด่วนเพิ่มขึ้น 32 เปอร์เซ็นต์ในปี 2556 เทียบกับการเติบโต 25 เปอร์เซ็นต์ของแทรฟฟิกอินเทอร์เน็ตโดยเฉลี่ย (Average Internet Traffic)
-แทรฟฟิกอินเทอร์เน็ตที่เกิดขึ้นบนเครือข่ายในตัวเมืองแซงหน้าแทรฟฟิกบนเครือข่ายนอกเมืองหรือระยะไกล (Long-haul link) ใน ปี 2556 โดยแทรฟฟิกในเมืองจะเพิ่มขึ้นในอัตราที่รวดเร็วกว่าแทรฟฟิกระยะไกลเกือบ 2 เท่าในช่วงปี 2556 ถึง 2561 การเติบโตนี้ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจาก Content Delivery Network ซึ่งจะรองรับมากกว่าครึ่งหนึ่งของแทรฟฟิกอินเทอร์เน็ตทั้งหมดภายในปี 2561
2) ไอพีวิดิโอ (IP Video)
-ไอพีวิดีโอ (IP video) จะคิดเป็นสัดส่วน 79 เปอร์เซ็นต์ของแทรฟฟิกไอพีทั้งหมดภายในปี 2561 เพิ่มขึ้นจาก 66 เปอร์เซ็นต์ในปี 2556
-วิดีโอ Ultra HD จะคิดเป็นสัดส่วน 11 เปอร์เซ็นต์ของวิดีโอไอพีภายในปี 2561 เพิ่มขึ้นจาก 0.1 เปอร์เซ็นต์ในปี 2556 ส่วนวิดีโอ HD จะครองสัดส่วน 52 เปอร์เซ็นต์ของวิดีโอไอพีภายในปี 2561 (เพิ่มขึ้นจาก 36 เปอร์เซ็นต์) และ SD จะครองสัดส่วนที่เหลือ 37 เปอร์เซ็นต์ (ลดลงจาก 64 เปอร์เซ็นต์)
3) แทรฟฟิกไอพีตามประเภทการเข้าถึง
-อุปกรณ์ที่เชื่อมต่อด้วย Wi-Fi และเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ จะสร้างแทรฟฟิกไอพี 61 เปอร์เซ็นต์ในปี 2561 โดย Wi-Fi จะคิดเป็นสัดส่วน 49 เปอร์เซ็นต์ และเครือข่ายเซลลูลาร์มีสัดส่วนอยู่ที่ 12 เปอร์เซ็นต์ แทรฟฟิกบนเครือข่ายพื้นฐานจะมีสัดส่วนเพียง 39 เปอร์เซ็นต์ของแทรฟฟิกไอพีทั้งหมดภายในปี 2561 และเมื่อเปรียบเทียบกันแล้ว Wi-Fi อยู่ที่ 41 เปอร์เซ็นต์ เซลลูลาร์อยู่ที่ 3 เปอร์เซ็นต์ และเครือข่ายพื้นฐานอยู่ที่ 56 เปอร์เซ็นต์ในปี 2556
-ปกรณ์ที่เชื่อมต่อด้วย Wi-Fi และเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ จะสร้างแทรฟฟิกอินเทอร์เน็ต 76 เปอร์เซ็นต์ในปี 2561 โดย Wi-Fi จะคิดเป็นสัดส่วน 61 เปอร์เซ็นต์ และเครือข่ายเซลลูลาร์มีสัดส่วนอยู่ที่ 15 เปอร์เซ็นต์ แทรฟฟิกบนเครือข่ายพื้นฐานจะมีสัดส่วนเพียง 24 เปอร์เซ็นต์ของแทรฟฟิกอินเทอร์เน็ตทั้งหมดภายในปี 2561 และเมื่อเปรียบเทียบกันแล้ว Wi-Fi อยู่ที่ 55 เปอร์เซ็นต์ เซลลูลาร์อยู่ที่ 4 เปอร์เซ็นต์ และเครือข่ายพื้นฐานอยู่ที่ 41 เปอร์เซ็นต์ในปี 2556
4) อุปกรณ์/การเชื่อมต่อ
-ภายในปี 2561 จะมีการเชื่อมต่อเครือข่ายทั่วโลกเกือบ 21 พันล้านจุด (รวมถึงอุปกรณ์ส่วนบุคคลบนเครือข่ายพื้นฐาน/โมบายล์, การเชื่อมต่อ M2M และอื่นๆ) เพิ่มขึ้นจาก 12.4 พันล้านจุดเชื่อมต่อเมื่อปี 2556
-ภายในปี 2561 จะมีอุปกรณ์บนเครือข่าย/การเชื่อมต่อทั่วโลก 2.7 จุดต่อประชากรหนึ่งคน เพิ่มขึ้นจาก 1.7 จุดต่อคนเมื่อปี 2556
-จะมีการเชื่อมต่อ M2M ราว 7.3 พันล้านจุดทั่วโลก หรือเท่ากับการเชื่อมต่อ M2M เกือบ 1 จุดต่อคน (คาดการณ์จำนวนประชากร 7.6 พันล้านคนในปี 2561)
· จะมีอุปกรณ์ที่เชื่อมต่อเครือข่ายพื้นฐานและโมบายล์ที่รองรับ IPv6 ราว 10 พันล้านเครื่องในปี 2561 เพิ่มขึ้นจาก 2 พันล้านเครื่องในปี 2556
5) ความเร็วบรอดแบนด์ที่เพิ่มขึ้น
-ความเร็วบรอดแบนด์ทั่วโลกจะแตะระดับ 42 Mbps ภายในปี 2561 เพิ่มขึ้นจาก 16 Mbps ในปี 2556
-การเชื่อมต่อบรอดแบนด์ส่วนใหญ่คาดว่าอยู่ที่ 55 เปอร์เซ็นต์ จะเร็วกว่า 10 Mbps ภายในปี 2561 โดยความเร็วเฉลี่ยของบรอดแบนด์ในญี่ปุ่นและเกาหลีใต้จะแตะระดับ 100 Mbps ในปี 2561
6) การปรับใช้บริการขั้นสูง
-‘วิดีโอออนไลน์’ จะเป็นบริการอินเทอร์เน็ตในที่พักอาศัยที่เติบโตเร็วที่สุด ด้วยอัตราเติบโตเฉลี่ย 10 เปอร์เซ็นต์ในช่วงปี 2556-2561 โดยจำนวนผู้ใช้เพิ่มขึ้นจาก 1.2 พันล้านคนเป็น 1.9 พันล้านคนภายในปี 2561
-การบริการตามตำแหน่งที่ตั้ง (Location-based Services) บนเครือข่ายโมบายล์ จะเป็นบริการโมบายล์สำหรับผู้บริโภคที่เติบโตเร็วที่สุด ด้วยอัตราเติบโตเฉลี่ย 36 เปอร์เซ็นต์ในช่วงปี 2556-2561 โดยจำนวนผู้ใช้เพิ่มขึ้นจาก 236 ล้านคนเป็นกว่า 1 พันล้านคนในปี 2561
-‘การประชุมวิดีโอทางไกลบนเดสก์ท็อปและอุปกรณ์ส่วนบุคคล’ จะเป็นบริการอินเทอร์เน็ตสำหรับธุรกิจที่เติบโตเร็วที่สุด ด้วยอัตราเติบโตเฉลี่ย 45 เปอร์เซ็นต์ในช่วงปี 2556-2561 โดยจำนวนผู้ใช้เพิ่มขึ้นจาก 37 ล้านคนเป็น 238 ล้านคนในปี 2561
การคาดการณ์ที่สำคัญในการเติบโตในระดับภูมิภาคและระดับประเทศ
-ภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (APAC) จะสร้างแทรฟฟิกไอพีมากที่สุดภายในปี 2561 โดยอยู่ที่ 47.6 เอ็กซาไบต์ (36 เปอร์เซ็นต์ของแทรฟฟิกไอพีทั่วโลก) ต่อเดือน ด้วยจำนวนประชากรและจำนวนอุปกรณ์/การเชื่อมต่อมากที่สุดในโลก การใช้งานเครือข่ายที่เพิ่มขึ้นของ APAC จะยังคงเป็นภูมิภาคที่สร้างแทรฟฟิกมากที่สุดจนถึงปี 2561
-ภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกา (MEA) จะยังคงมีแทรฟฟิกไอพีเติบโตเร็วที่สุดในช่วงปี 2556 – 2561 โดยเพิ่มขึ้น 5 เท่า และอัตราเติบโตเฉลี่ย 38 เปอร์เซ็นต์
-ภายในปี 2561 ประเทศที่สร้างแทรฟฟิกสูงสุดจะได้แก่ สหรัฐฯ ด้วยปริมาณแทรฟฟิก 37 เอ็กซาไบต์ต่อเดือน และจีน ซึ่งอยู่ที่ 18 เอ็กซาไบต์ต่อเดือน
-ประเทศที่มีแทรฟฟิกไอพีเติบโตเร็วที่สุดคือ อินเดีย ด้วยอัตราเติบโตเฉลี่ย 39 เปอร์เซ็นต์ในช่วงตั้งแต่ปี 2556 ถึง 2561 ตามมาด้วยอินโดนีเซีย ซึ่งมีอัตราเติบโตเฉลี่ย 37 เปอร์เซ็นต์
ผลกระทบสำหรับผู้ให้บริการ
-เครือข่ายผู้ให้บริการจะต้องปรับตัวตามจำนวนอุปกรณ์ที่เพิ่มขึ้น เช่น แท็บเล็ต สมาร์ทโฟน และการเชื่อมต่อ M2M จะต้องได้รับการตรวจสอบรับรองเพื่อที่จะเข้าถึงเครือข่ายพื้นฐาน/โมบายล์ ด้วยการรักษาความปลอดภัยที่ปรับปรุงดีขึ้นและการจัดลำดับความสำคัญของบริการ
-พัฒนาการของบริการวิดีโอขั้นสูง เช่น วิดีโอ HD/ultra HD อาจก่อให้เกิดความต้องการใหม่ๆ ในเรื่องของแบนด์วิธและการปรับขนาดอย่างยืดหยุ่นสำหรับผู้ให้บริการ โดยผู้ใช้ในที่พักอาศัย องค์กรธุรกิจ และผู้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ยังคงมีความต้องการที่สูงมากสำหรับบริการวิดีโอขั้นสูงบนเครือข่ายและอุปกรณ์ทุกประเภท โดยคุณภาพบริการ ความสะดวก และราคา คือปัจจัยที่สำคัญ
-การปรับใช้วิดีโอในภาคธุรกิจ เช่น วิดีโอ HD และการประชุมผ่านวิดีโอบนเว็บ และ VoD เพื่อธุรกิจ อาจกระตุ้นการเติบโตมากขึ้นในส่วนของเน็ตเวิร์กเวอร์ช่วลไลเซชั่น และการใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อรับส่งวิดีโอ โดยจะมีการขยายเครือข่ายสำหรับผู้ให้บริการพื้นฐานและผู้ให้บริการเสริม
-การเติบโตของเครือข่าย 4G และการปรับใช้บริการในส่วนนี้อาจเติบโตในอัตราที่รวดเร็วมากขึ้น เนื่องจากผู้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ยังคงต้องการประสบการณ์ทางด้านบริการและคอนเทนต์ที่คล้ายคลึงกันจากเครือข่ายพื้นฐานและเครือข่ายโมบายล์ ทั้งนี้ Wi-Fi จะยังคงมีความสำคัญเพิ่มมากขึ้นในการรองรับแทรฟฟิกออฟโหลดสำหรับอุปกรณ์พกพาและการเชื่อมต่อ M2M หลากหลายประเภท
-เครือข่ายไอพีจะต้องชาญฉลาดและยืดหยุ่นเพียงพอที่จะรองรับการเปิดตัวแอพพลิเคชั่นรุ่นใหม่/รุ่นปรับปรุงสำหรับเครือข่ายพื้นฐานและเครือข่ายโมบายล์อย่างต่อเนื่อง ผู้ให้บริการจำนวนมากกำลังทำงานร่วมกับนักพัฒนาแอพพลิเคชั่นอย่างจริงจังเพื่อสร้างความแตกต่างให้กับการบริการ