กรุงเทพฯ--25 มิ.ย.--มรภ.สงขลา
ศูนย์ภาษา มรภ.สงขลา นำครูประถมติวเข้มเทคนิคการสอนและสร้างข้อสอบภาษาอังกฤษ หวังสร้างความแข็งแกร่งทางวิชาการ ต่อยอดสู่การเสริมสร้างบรรยากาศและจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่หลากหลาย ส่งเสริมให้ผู้เรียนมีความสามารถในการใช้ภาษา
นางจิราวรรณ นาคสีทอง ผู้อำนวยการศูนย์ภาษา มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ศูนย์ภาษา จัดฝึกปฏิบัติการเรื่องเทคนิคการสอนและการสร้างข้อสอบภาษาอังกฤษระดับประถมศึกษา ณ ชั้น 3 อาคารศูนย์ภาษาและคอมพิวเตอร์ มรภ.สงขลา หลักสูตรการจัดการเรียนรู้วิชาภาษาอังกฤษ (Learning Management of English Language Subjects) และ การประเมินผลทางภาษา (Language Learning Assessment) ซึ่งผู้เข้าอบรมได้รับองค์ความรู้ในเรื่องการออกเสียงภาษาอังกฤษ การสอนอ่านด้วยเสียงอักษร คำศัพท์ ประโยคต่างๆ ในการสอนและการทำกิจกรรมในห้องเรียน การสร้างข้อสอบภาษาอังกฤษ โดยมีครูสอนภาษาอังกฤษประถมศึกษา เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสงขลา เขต 1 เข้าร่วม 30 คน ทั้งนี้ ภาษาอังกฤษเป็นภาษาสากลของโลกที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย เป็นเครื่องมือที่ใช้ในการติดต่อสื่อสาร การศึกษาค้นคว้าแสวงหาความรู้ รวมถึงการประกอบอาชีพ ซึ่งในประเทศไทยรัฐบาลกำหนดให้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาต่างประเทศ ที่เป็นสาระการเรียนรู้พื้นฐานที่นักเรียนทุกคนต้องได้เรียนรู้ ครูผู้สอนภาษาอังกฤษเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการถ่ายทอดความรู้ จึงจำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยนกระบวนการเรียนการสอน แสวงหาเทคนิควิธีสอนใหม่ๆ ใฝ่ศึกษาเรียนรู้ตลอดเวลา เพื่อเสริมสร้างบรรยากาศและจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่หลากหลาย เพื่อส่งเสริมให้ผู้เรียนมีความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นางจิราวรรณ กล่าวว่า สืบเนื่องจากศูนย์ภาษา ได้รับการจัดสรรงบประมาณประจำปีงบประมาณ 2556 ในการจัดโครงการฝึกปฏิบัติการเรื่อง การพัฒนาศักยภาพการสอนภาษาอังกฤษสำหรับครูสอนภาษาอังกฤษระดับประถมศึกษาในจังหวัดสงขลา โดยใช้การอ่านออกเสียงและการสะกดคำศัพท์อย่างสมบูรณ์ (Phonics and Whole Language) และได้ดำเนินการติดตามและประเมินผลความสำเร็จของการบูรณาการการบริการวิชาการแก่สังคมเข้ากับการเรียนการสอน ซึ่งผู้เข้ารับการอบรมต้องการได้รับการพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษในด้านเทคนิคหรือหลักการสอน การออกข้อสอบภาษาอังกฤษ และด้านอื่นๆ ศูนย์ภาษา จึงได้จัดโครงการดังกล่าว เพื่อให้ครูผู้สอนภาษาอังกฤษได้รับการพัฒนา และปรับปรุงเทคนิคการสอนให้ดีขึ้น สามารถนำความรู้ที่ได้รับไปถ่ายทอดและพัฒนาผู้เรียนของตนเองได้ ทั้งนี้ เพื่อสร้างความแข็งแกร่งทางวิชาการ และเพิ่มศักยภาพให้กับบุคลากรครูของประเทศชาติ ให้มีความเชี่ยวชาญด้านภาษาอังกฤษเพิ่มมากขึ้น