กรุงเทพฯ--26 มิ.ย.--มูลนิธิปรีดี พนมยงค์
(สรุปคำบรรยายในงานเสวนาวิชาการเนื่องในโอกาสครบรอบ 82 ปี อภิวัฒน์ประชาธิปไตยสยาม 24 มิ.ย. 2475
ณ. สถาบันปรีดี พนมยงค์ ซอยทองหล่อ สุขุมวิท50 กรุงเทพฯ วันที่ 24 มิ.ย. 2557)
ท่านรัฐบุรุษอาวุโสปรีดี พนมยงค์ได้เสนอแนวความคิดประชาธิปไตยสมบูรณ์ ไว้ในข้อเขียนและบทสัมภาษณ์ในสมัยที่ท่านมีชีวิตอยู่ในหลายโอกาส แนวคิดเรื่องประชาธิปไตยสมบูรณ์ของท่านปรีดีเป็นการให้ความหมายและคุณค่าของ “ประชาธิปไตย” ที่มีลักษณะเป็นองค์รวม ไม่แยกแยะแบ่งส่วน ประชาธิปไตยสมบูรณ์จึงประกอบไปด้วย ประชาธิปไตยทางการเมืองการปกครอง ประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ และ ประชาธิปไตยทางวัฒนธรรมและทัศนะทางสังคม
ผมมองว่า การพัฒนาให้เกิดประชาธิปไตยสมบูรณ์ตามแนวคิดของท่านปรีดี จึงต้องพัฒนาประชาธิปไตยแบบบูรณาการ จะพัฒนาเพียงส่วนใดส่วนหนึ่งไม่ได้ เช่นเดียวกับการจะปฏิรูปให้เกิดประชาธิปไตยสมบูรณ์ก็จำเป็นต้องปฏิรูปการเมือง ปฏิรูปเศรษฐกิจ ปฏิรูปวัฒนธรรมและการศึกษา ปฏิรูประบบราชการ รัฐวิสาหกิจ ปฏิรูประบบศาลยุติธรรมและกองทัพด้วย โดยต้องทำให้บ้านเมืองปกครองโดยกฎหมายหรือยึดระบบนิติรัฐนิติธรรม ไม่ใช่ปกครองตามอำเภอใจของผู้มีอำนาจ การปฏิรูปประเทศเพื่อให้เกิดประชาธิปไตยสมบูรณ์ต้องยึดโยงกับประชาชน ฉะนั้น สภาปฏิรูปและสภาร่างรัฐธรรมนูญนอกจากแต่งตั้งมาจากผู้ทรงคุณวุฒิแล้ว ควรมีสัดส่วนมาจากการเลือกตั้งด้วย
การบรรยายของผมจะไม่เน้นไปที่การเมือง แต่จะเน้นไปที่ปัญหาพื้นฐานของประชาธิปไตยที่จะนำไปสู่ประชาธิปไตยสมบูรณ์ในมิติทางด้านเศรษฐกิจ ปัญหาพื้นฐาน คือ ความเหลื่อมล้ำในการโอกาส ช่องว่างระหว่างรายได้และการกระจุดตัวของความมั่งคั่งและทรัพย์สิน โดยปัญหาพื้นฐานเหล่านี้ได้มีการนำเสนอแนวทางแก้ไขไว้ใน เค้าโครงเศรษฐกิจของท่านปรีดี โดยที่แนวทางบางอย่างยังนำมาปรับใช้ในปัจจุบันและอนาคตได้ แต่นโยบายหรือมาตรการบางเรื่องอาจจะไม่เหมาะสมแล้วในปัจจุบัน
ในสถานการณ์ที่มีความขัดแย้งทางการเมืองสูง ใครจะเสนอสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมก็มักถูกลากเอามาเป็นเงื่อนไขแห่งการต่อสู้ทางการเมือง โดยไม่ได้สนใจว่าข้อเสนอดังกล่าวมีเนื้อหาสาระ เป็นประโยชน์ต่อชาติและราษฎรอย่างไรบทเรียนการเสนอเค้าโครงการเศรษฐกิจของ ‘ท่านปรีดี’ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๖ เป็นตัวอย่างที่สำคัญทุกครั้งที่มีการปฏิรูปหรือมีการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญๆ มักจะมีแรงต้านเสมอ ซึ่งผู้ริเริ่มเปลี่ยนแปลงต้องอดทนต่อแรงเสียดทาน ต้องมีความเสียสละอย่างสูงในทางส่วนตัวและครอบครัว
‘ประวัติศาสตร์’ มักจะซ้ำรอยครั้งแล้วครั้งเล่า เราจึงควรศึกษาความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ให้ถ่องแท้เพื่อเป็นบทเรียน
ช่วงเวลาท่านปรีดีมีบทบาททางการเมืองอย่างโดดเด่นบนเส้นทางประชาธิปไตยไทย ด้วยบทบาทตำแหน่งหน้าที่ต่างๆ มากมายตั้งแต่การอภิวัฒน์ ๒๔๗๕ จนถึง ๘ พฤศจิกายน ๒๔๙๐ นั้น เป็นช่วงเวลาไม่ยาวนานนัก เพียง ๑๕ ปี แต่รัฐบุรุษท่านนี้ก็ได้บรรลุภารกิจหลายประการ เพื่อชาติ ราษฎร และระบอบประชาธิปไตย
นับแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.๒๔๗๕ จนถึงการรัฐประหาร พ.ศ.๒๔๙๐ และทำให้ ‘ท่านปรีดี’ กลายเป็น ‘รัฐบุรุษพลัดถิ่น’ ต้องระหกระเหินลี้ภัยทางการเมืองไปอยู่ต่างแดนยาวนานกว่า ๓๖ ปี ก่อนจะถึงแก่อนิจกรรม ณ. กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส
ประชาธิปไตยไทยที่ถูกสถาปนาโดย ‘คณะราษฎร’ วันนี้อายุได้ ๘๒ ปีแล้ว เส้นทางแห่งอนาคตของประชาธิปไตยไทยนั้นยังมีความไม่แน่นอนสูงยิ่ง มีข้อเสนอเพื่อแสวงหาทางออกให้กับวิกฤตการณ์บ้านเมืองมากมาย บางข้อเสนอดูเหมือนเป็นเนื้อหาย้อนยุคการเมืองกลับไปก่อนการอภิวัฒน์ ๒๔๗๕ เสียอีก
ความประสงค์ที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเป็นประชาธิปไตยของท่านปรีดีนั้น ต้องอาศัยการจัดวางรูปแบบการปกครองในระบอบใหม่ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕ และวางพื้นฐานหลายเรื่องเพื่อให้เอื้ออำนวยต่อการปกครองแบบใหม่หลังการอภิวัฒน์ ๒๔๗๕
นอกจากท่านปรีดีจะเห็นความสำคัญต่อการวางรากฐานประชาธิปไตยให้เข้มแข็งแล้ว ยังให้ความสำคัญต่อการศึกษา การต่างประเทศ และการวางแผนทางเศรษฐกิจ
ในช่วงทศวรรษ ๒๔๗๐ นอกจากสยามจะพบกับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำแล้ว ยังมีกระแสต่อต้านระบอบอภิสิทธ์และสัมปทานผูกขาดของนักธุรกิจชาติตะวันตกในสยาม สภาวะดังกล่าวทำให้เกิดการกีดกันการเติบโตของทุนสยามและทุนจีนอพยพในสยาม พ่อค้าชาวตะวันตกได้รับสิทธิสภาพนอกอาณาเขตทำให้ได้เปรียบพ่อค้าไทยจีน สนธิสัญญาที่เราไปทำกับชาติตะวันตกแล้วเสียเปรียบถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก กระแสเศรษฐกิจชาตินิยมเริ่มเกิดขึ้น กลุ่มพ่อค้าไทยจีนจำนวนไม่น้อยให้การสนับสนุนขบวนการอภิวัฒน์ ๒๔๗๕ เพราะมองว่าการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอาจนำมาสู่สถานการณ์ทางเศรษฐกิจและธุรกิจที่ดีขึ้น
สองเดือนหลังการเข้ายึดอำนาจ มีการเสนอให้จัดตั้งสมาคมเพื่อสนับสนุนการบริโภคสินค้าที่ผลิตภายในประเทศโดยกลุ่มทุนท้องถิ่น มีความเคลื่อนไหวของ นายมังกร สามเสน เสนอต่อรัฐสภาให้ก่อตั้งสภาแห่งชาติเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจของสยาม เป้าหมายก็เพื่อส่งเสริมธุรกิจภายในประเทศแข่งขันกับต่างชาติ
การกำหนดนโยบายเศรษฐกิจในช่วงเวลาดังกล่าวจึงได้รับอิทธิพลทางความคิดจากชาตินิยมทางเศรษฐกิจท่านปรีดีมีบทบาทในการกำหนดนโยบายทางเศรษฐกิจอย่างมากในฐานะ ‘มันสมองของคณะราษฎร’ และในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในเวลาต่อมา
ในช่วง ๑๐ ปีแรกของการอภิวัฒน์ หน่วยงานทางเศรษฐกิจที่สำคัญหลายแห่งถูกจัดตั้งขึ้นจากการริเริ่มของรัฐบุรุษท่านนี้ หากศึกษาผลงานและบทบาทความคิดของรัฐบุรุษท่านนี้ ย่อมพบว่าท่านให้ความสำคัญกับความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจมากเป็นพิเศษ
ความเอาใจใส่ต่อปัญหาเศรษฐกิจและปัญหาปากท้องของประชาชน สะท้อนจากคำพูดของท่านที่กล่าวว่า “การเปลี่ยนแปลงการปกครองคราวนี้ไม่ใช่ Coup d’Etat เป็น Revolution ในทางเศรษฐกิจ” พร้อมทั้งกำหนดหลักเศรษฐกิจไว้ในหลัก ๖ ประการ ที่คณะราษฎรได้ประกาศในวันยึดอำนาจรัฐ เมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ ด้วยว่า “จะต้องบำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลใหม่จะหางานให้ราษฎรทุกคนทำ” เศรษฐกิจแห่งชาติและความพยายามที่จะพัฒนาเศรษฐกิจให้เจริญก้าวหน้าเพื่อสร้างความสุขสมบูรณ์ให้กับราษฎรในทางเศรษฐกิจ จึงเป็นเป้าหมายและวัตถุประสงค์อย่างหนึ่งของท่านปรีดีและคณะราษฎรในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕
คณะราษฎรได้พยายามแก้ปัญหาเศรษฐกิจซึ่งมีอยู่เดิมก่อนการอภิวัฒน์ ๒๔๗๕ โดยเริ่มดำเนินการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจบางอย่าง เริ่มด้วยการลดภาษีที่ดินสำหรับปลูกข้าวลง ๕๐% ยกเลิกการเก็บภาษีอากรบางประเภทในช่วงต้นเดือนกรกฎาคม ๒๔๗๕ ทั้งประกาศจัดทำเค้าโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติให้สำเร็จโดยเร็ว ต่อมาในวันที่ ๑๑ กรกฎาคม ได้มีประกาศพระราชบัญญัติยกเลิก ‘ภาษีสมพัตรสร’ นอกจากนี้ในเดือนสิงหาคมปีเดียวกัน รัฐบาลยังปรับปรุงภาษีอากรธนาคารและการประกันภัย ออกประกาศลดพิกัดเก็บเงินค่านา และลดภาษีโรงเรือนที่ดิน
ส่วนแผนการในการปฏิรูปที่ดินในเค้าโครงการสมุดปกเหลือง ถูกคัดค้านโดยกลุ่มเจ้านายที่ถือครองที่ดินจำนวนมากและบรรดาผู้มีความคิดอนุรักษ์นิยมทางเศรษฐกิจ แผนการการปฏิรูปที่ดินจึงไม่ประสบผลสำเร็จ
นอกจากการลดภาษีจะเป็นมาตรการดูแลเศรษฐกิจแล้ว ยังเป็นมาตรการเพื่อลดแรงกดดันทางการเมือง เพราะก่อนหน้านี้ รัฐบาลในสมัยรัชกาลที่ ๖ ก็ดี รัชกาลที่ ๗ ก็ดี รัฐบาลได้จัดเก็บภาษีเพิ่มจำนวนมากเนื่องจากประเทศมีปัญหางบประมาณขาดดุลเรื้อรังต่อเนื่องมาตั้งแต่รัชกาลที่ ๖
รัฐบาลในสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ต้องเข้ามาแก้ปัญหาทางการคลังของประเทศ อันเป็นผลสืบเนื่องจากการใช้จ่ายฟุ่มเฟือยของราชสำนักในสมัยพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว สถานการณ์ทางเศรษฐกิจของประเทศยังถูกซ้ำเติมโดยภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก จนรัฐบาลในสมัยรัชกาลที่ ๗ ต้องลดเงินเดือนข้าราชการและดุลข้าราชการจำนวนหนึ่งออกจากงาน รัฐบาลคณะราษฎรจึงระมัดระวังเรื่องเหล่านี้เป็นพิเศษ ทั้งยังปรับปรุงการจัดเก็บภาษีเพื่อแก้ปัญหาสถานะทางการคลัง ขณะเดียวกันก็ลดแรงกดดันในหมู่ประชาชนต่อภาระภาษีที่มากขึ้น
ในช่วงต้นของการยึดอำนาจ เศรษฐกิจไม่ดีและมีคนว่างงานจำนวนมาก แต่รัฐบาลก็ยังไม่เร่งวางโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติตามที่ได้สัญญาเอาไว้ตามหลัก ๖ ประการด้วยการหางานให้ราษฎรทำ ทั้งที่มีแรงกดดันให้เร่งรัดเค้าโครงการเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นตามลำดับจากสภาผู้แทนราษฎรโดยเฉพาะจากกลุ่มก้อนผู้สนับสนุนท่านปรีดี
ในวันที่ ๒๑ กันยายน รัฐบาลได้ออกพระราชบัญญัติว่าด้วยการลดและเลิกอัตราเก็บเงินค่าที่สวน อีกราวหนึ่งเดือนถัดมา รัฐบาลได้ออกพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา คณะราษฎรได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจไปเพียงบางส่วนในช่วงแรกหลังยึดกุมอำนาจรัฐ
เมื่อมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับถาวรในวันที่ ๑๐ ธันวาคม คณะกรรมการราษฎรได้ถวายบังคมลาออกเพื่อให้เป็นไปตามวิถีทางแห่งรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และในวันนั้นเอง ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ขึ้น โดยท่านปรีดีได้รับเลือกให้เป็นคณะกรรมการราษฎร (ชื่อเรียกตำแหน่ง ‘รัฐมนตรี’ ในขณะนั้นตามข้อเสนอของท่านปรีดี) ในคณะรัฐมนตรีชุดแรก และได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีในคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ โดยก่อนจะเข้าสู่ตำแหน่งบริหารในคณะรัฐมนตรี ท่านได้ทำงานหลายอย่างที่เกี่ยวข้องกับการวางรากฐานแก่ระบบรัฐสภาในฐานะเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรคนแรก และมีบทบาทสำคัญในการร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับชั่วคราวและฉบับถาวร
ต่อมา รัฐบาลมีมติมอบหมายให้ท่านปรีดีเป็นผู้ร่างเค้าโครงการเศรษฐกิจเสนอรัฐบาล เมื่อท่านปรีดีได้ร่างเค้าโครงการเศรษฐกิจเสร็จแล้ว ก็ได้นำไปมอบให้พระยามโนปกรณ์นิติธาดา นายกรัฐมนตรี เพื่อเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณารับรองก่อนเข้าที่ประชุมสภา เมื่อพระยามโนฯ ได้รับร่างนั้นแล้ว ก็ได้เรียกประชุมขึ้นอย่างไม่เป็นทางการ
ท่านปรีดีได้เสนอเค้าโครงการเศรษฐกิจเพื่อใช้เป็นหลักในการบริหารเมื่อวันที่ ๑๐ มีนาคม พ.ศ.๒๔๗๖ แต่สุดท้ายก็ถูกบีบให้เดินทางออกนอกประเทศ โดยเป็นการลี้ภัยการเมืองครั้งแรกด้วยข้อหามีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์
การเสนอเค้าโครงการเศรษฐกิจของท่านปรีดี เข้าทางกลุ่มอนุรักษ์นิยมพอดิบพอดี จึงถือเป็นโอกาสกำจัด ‘ท่านปรีดี’ ออกจากเวทีการเมืองเวลานี้ ประเทศไทยได้มาถึงจุดเปลี่ยนสำคัญ เช่นเดียวกับช่วงเวลาหลังการอภิวัฒน์ ๒๔๗๕ ช่วงเวลาหลังการรัฐประหาร ๒๔๙๐ ช่วงเวลาหลังการรัฐประหาร ๒๕๐๐ ช่วงเวลาหลังรัฐประหาร ๒๕๔๙ ช่วงเวลาหลังรัฐประหาร ๒๕๓๔ และช่วงเวลาหลังการรัฐประหาร ๒๕๑๙
แต่จุดเปลี่ยนผ่านครั้งนี้จะแตกต่างจากหลายครั้งในอดีต หากสามารถผ่านช่วงเวลายากลำบากนี้ไปได้โดยยึดมั่นในแนวทางสันติประชาธรรมและสามารถทำให้เกิดการปฏิรูปประเทศครั้งใหญ่จริง เราจะพัฒนาสู่ประเทศที่พัฒนาแล้ว และอาจเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญที่สุดของการเมืองสยามยุคใหม่ เป็นหน้าที่ของพลเมืองผู้รักชาติทุกคนที่ต้องร่วมกันขับเคลื่อนสังคมไปข้างหน้าโดยยึดหลักสันติธรรม และยืนหยัดในหลักการประชาธิปไตยอย่างไม่หวั่นไหว
แม้นแนวคิดเศรษฐกิจและแนวทางการบริหารด้านเศรษฐกิจของท่านปรีดีจะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อ ๗๐ กว่าปีมาแล้วก็ตาม แนวทางหลายอย่างยังคงทันสมัย แต่บางอย่างอาจต้องปรับประยุกต์ให้เหมาะกับยุคสมัย เนื่องจากสภาวะแวดล้อมทางการเมืองและเศรษฐกิจสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปมาก
อนาคตเศรษฐกิจไทยจะมีปัญหาเรื่องความสามารถในการแข่งขัน ปัญหานี้จะนำมาสู่การย้ายฐานการผลิต เมื่อพ่วงด้วยสถานการณ์ความไม่แน่นอนและความเสี่ยงทางการเมือง ย่อมทำให้ประเทศไม่อยู่ในฐานะที่จะรักษาเม็ดเงินลงทุนได้แบบเดิม การว่างงานจะลุกลามและแผ่กว้าง ประชาชนจึงต้องมีหลักประกันในการมีงานทำและมีคุณภาพชีวิต ชีวิตของชาวบ้านไม่ควรผูกยึดกับความผันผวนทางเศรษฐกิจการเมือง แต่ควรมีหลักประกันหากยึดตามหลักที่ท่านปรีดีวางไว้ด้วยระบบและกลไกที่ดูแลปัญหาดังกล่าว
ปัญหาเศรษฐกิจของไทยที่สำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ ปัญหาความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจและการกระจายรายได้ ท่านปรีดีใช้ความพยายามแก้ปัญหาเรื่องนี้ตั้งแต่ช่วงแรกๆ เมื่อได้อำนาจทางการเมือง หากแต่บางเรื่องไม่อาจผลักดันให้เกิดขึ้นโดยง่าย อาทิเช่น แนวคิดเรื่องการเก็บภาษีทรัพย์สินและภาษีมรดก จนกระทั่งวันนี้ก็ยังไม่สามารถผ่านกฎหมายมาบังคับใช้เพราะเรื่องยังคงค้างเติ่งอยู่ในกระทรวงการคลัง โดยที่ผู้เขียนไม่มีความมั่นใจเลยว่า รัฐบาลชุดปัจจุบันหรือในอนาคตจะสามารถผลักดันเรื่องดังกล่าวได้ เพราะยังมีแรงเสียดทานจากบรรดาผู้เสียผลประโยชน์ โดยเฉพาะผู้ที่นั่งกันอยู่ในคณะรัฐมนตรี และรัฐสภา ย่อมไม่ให้ผ่านไปได้โดยง่าย
จากบทความ ‘มโนทัศน์ทางเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐ์มนูธรรมกับเศรษฐศาสตร์ของชาร์ลส์ จิ๊ด’ โดยราชบัณฑิต ดร.วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร ได้เขียนวิเคราะห์ถึงตำราเศรษฐศาสตร์ที่มีอิทธิพลต่อความคิดทางเศรษฐศาสตร์ของท่านปรีดี เมื่อศึกษาบทความดังกล่าวแล้ว ย่อมทำให้เราเข้าใจต้นรากความคิดทางเศรษฐศาสตร์และการเมืองของรัฐบุรุษผู้นี้ได้เป็นอย่างดี
ในบทความ มีเนื้อหาสาระสำคัญดังต่อไปนี้
“วิชาเศรษฐศาสตร์ที่ปรีดีได้ศึกษานั้น มีอิทธิพลต่อความคิดของปรีดีในเค้าโครงการเศรษฐกิจมาก ผู้เขียนได้ศึกษาและค้นคว้าถึงหนังสือหรือตำราทางเศรษฐศาสตร์ที่ปรีดีใช้ประกอบการศึกษาในครั้งนั้น และพบว่ามีหนังสือ ๒ เล่ม ที่เป็นหลักสำคัญ และปรีดีคงจะได้ศึกษาหนังสือทั้ง ๒ เล่มนี้อย่างแน่นอน นั่นคือหนังสือของศาสตราจารย์ชาร์ล จี๊ด (Professor Charles Gide) เรื่อง ‘คำสอนเศรษฐวิทยา’ เป็นภาษาฝรั่งเศสว่า Cours d’ Economic politique ซึ่งได้แปลเป็นภาษาอังกฤษว่า Gide ‘s Political Economy ศาสตราจารย์ชาร์ล จี๊ด ผู้เขียนหนังสือนี้เป็นศาสตราจารย์ทางด้านเศรษฐศาสตร์”
ส่วนหนังสืออีกเล่มหนึ่งคือ ‘ประวัติลัทธิเศรษฐกิจ’ โดยศาสตราจารย์ชาร์ล จี๊ด และศาสตราจารย์ชาร์ล รีสท์ หนังสือเล่มนี้จัดเป็นหนังสือคลาสสิกที่มีชื่อเสียงเล่มหนึ่ง นอกจากนี้ ในคำนำหนังสือยังได้กล่าวถึงหลักสูตรการศึกษาเศรษฐศาสตร์ของมหาวิทยาลัยในฝรั่งเศสว่า ได้เน้นความสำคัญไปที่การศึกษาประวัติลัทธิเศรษฐกิจมากกว่าหลักสูตรการศึกษาในที่อื่นๆ ในคณะนิติศาสตร์ของมหาวิทยาลัยต่างๆ ในฝรั่งเศสจะจัดให้มีการสอนวิชาประวัติลัทธิเศรษฐกิจเป็นพิเศษ และในการสอบปริญญาเอก นักศึกษาอาจต้องเขียนรายงานในหัวข้อนี้เพื่อพิสูจน์ความสามารถก่อนที่จะได้รับปริญญา
หนังสือ ‘ประวัติลัทธิเศรษฐกิจ’ เล่มนี้ ได้กล่าวถึงลัทธิเศรษฐกิจของสำนักต่างๆ ตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน (ปีเขียน ๑๙๐๙) ผู้เขียนคาดว่าท่านปรีดีคงได้ศึกษาหนังสือเล่มนี้เช่นกัน จากการที่ปรีดีได้ให้สัมภาษณ์ว่าได้สอบไล่ได้เพิ่มขึ้นอีกอย่างหนึ่ง คือ ‘ประกาศนียบัตรการศึกษาชั้นสูงทางเศรษฐกิจการเมือง’ ซึ่งมีวิชาเศรษฐศาสตร์พิสดาร ประวัติศาสตร์ลัทธิเศรษฐกิจดังที่ได้กล่าวมาแล้ว นอกจากนี้ จากคำกล่าวของ ดร.เดือน บุนนาค ซึ่งได้ศึกษาที่มหาวิทยาลัยปารีสเช่นเดียวกับท่านปรีดี แต่เป็นนักเรียนรุ่นหลังปรีดี ๓ ปี ก็ยังได้กล่าวว่า
“หนังสือชื่อ Histoire des Doctrines Economiques ของท่านศาสตราจารย์ Gide และท่าน Rist เป็นหนังสือซึ่งนักเรียนต้องอ่าน ต้องเรียน เป็นหนังสือความรู้มาตรฐาน ถ้าอยากรู้ลึกซึ้งท่านต้องเรียน ต้องอ่านหนังสืออื่นต่อไปอีก หนังสือนี้เป็นเพียงย่อๆ ความเท่านั้นเอง ความคิดความอ่านของท่านปรีดีได้มาจากการศึกษาของท่านเอง”
และจากการสัมภาษณ์ ดร.เสริม วินิจฉัยกุล ของกลุ่มวิจัยประวัติศาสตร์ธรรมศาสตร์ ก็ได้กล่าวในทำนองเดียวกันว่า เค้าโครงการเศรษฐกิจของท่านปรีดีนี้ เหมือนแนวที่ท่านได้ศึกษาจากปารีสจากอาจารย์ที่ท่านได้ศึกษามา
“ดังนั้นจะเห็นได้ว่า การศึกษาวิชาเศรษฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยปารีสนี้ ได้มีอิทธิพลต่อความคิดทางด้านการจัดการทางเศรษฐกิจของปรีดีมาก และจะเห็นได้ว่าหนังสือ ‘คำสอนเศรษฐวิทยา’ และ ‘ประวัติลัทธิเศรษฐกิจ’ ก็มีอิทธิพลต่อความคิดของปรีดีเช่นกัน ปรีดีถึงกับได้มอบหมายให้ ดร.เสริม วินิจฉัยกุล แปลหนังสือเศรษฐศาสตร์ของ ชาร์ล จี๊ด เพื่อเผยแพร่ให้ผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองได้อ่านกัน ดร.เสริม แปลได้เพียงครึ่งเล่มก็เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕ ขึ้น ส่วนที่แปลนี้ได้มีการพิมพ์เผยแพร่ในหมู่ผู้ก่อการ ดังนั้นจะเห็นได้ว่า ปรีดีได้รับอิทธิพลทางความคิดด้านเศรษฐศาสตร์จาก ชาร์ลส์ จี๊ด มาก และได้พยายามที่จะเผยแพร่ความคิดนี้ในหมู่ผู้ก่อการฯ และแน่นอนว่า หนังสือของ Gide นี้ เป็นความรู้ใหม่ของคนไทยในเวลานั้น เพราะในเวลานั้นประเทศไทยยังไม่มีการศึกษาวิชาเศรษฐศาสตร์กันเลย วิชาเศรษฐศาสตร์ได้เริ่มมีการศึกษากันครั้งแรกเมื่อตั้งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองขึ้น ปรีดี ผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัย ได้บรรจุวิชาเศรษฐศาสตร์ ๒ วิชา ไว้ในหลักสูตรปริญญาตรี คือ วิชาลัทธิเศรษฐกิจและเศรษฐศาสตร์ และในการสอนลัทธิเศรษฐกิจ ที่มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองนี้ ศาสตรจารย์ เจ.เอฟ. ฮัตเจสสัน (เนติบัณฑิตอังกฤษ ดอกเตอร์กฎหมายฝรั่งเศส) ได้เป็นผู้จัดทำหนังสือลัทธิเศรษฐกิจขึ้น โดยมี ดร.ทวี ตะเวทินกุล ซึ่งเป็นผู้จัดทำตำรา เป็นผู้บรรยายแก่ นศ. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง เมื่อปี ๒๔๗๗ หนังสือ ‘ลัทธิเศรษฐกิจ’ นี้ ก็เป็นหนังสือที่สรุปความมาจากหนังสือของ ชาร์ลส์ จี๊ด และ ชาร์ลส์ ริสท์ เรื่อง A History of Economic Doctrines โดยเก็บเฉพาะใจความสำคัญและแปลเป็นภาษาไทยเพื่อให้ง่ายในการศึกษา
“อิทธิพลของ ชาร์ลส์ จิ๊ด ที่มีต่อปรีดีนี้ นอกจากจะสังเกตได้ในลักษณะที่กล่าวมาแล้ว ยังจะเห็นได้อีกว่า ปรีดีได้กล่าวอ้างถึง ชาร์ลส์ จิ๊ด ในที่ต่างๆ หลายครั้ง เช่น ในคำอธิบายกฎหมายปกครอง (ปี ๒๔๗๔)”
บทความของ ศาสตราจารย์ ดร. วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร ยังพูดถึง ‘ลัทธิโซลิดาริสม์’ และ แนวความคิด ‘ภราดรภาพนิยม’ ที่มีอิทธิพลต่อแนวทางการบริหารเศรษฐกิจของท่านปรีดี
“ ลัทธิโซลิดาริสม์นี้ เป็นหลักการซึ่งปรีดีได้เสนอในเค้าโครงการเศรษฐกิจ นอกจากนี้ ในการประชุมของคณะกรรมาธิการสอบสวนว่าหลวงประดิษฐ์มนูธรรมเป็นคอมมิวนิสต์หรือไม่ ครั้งที่ ๓ เมื่อวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๔๗๖ ปรีดีได้กล่าวว่า “ชาร์ลส์ จีด ได้แสดงว่า การบังคับให้ทำงานนั้นเป็นระเบียบการโซเชียลิสต์ และตามหลักวิชาการ ไม่ใช่เป็นหลักการสำคัญของลัทธิคอมมิวนิสต์ แต่หากเป็นวิถีทางดำเนินการอย่างหนึ่งเท่านั้น ซึ่งคณะนาซีและคณะอื่นๆ ก็นำเอาไปใช้เหมือนกัน และตามที่ ชาร์ลส จีด ได้แถลงไว้ก็ปรากฏว่า เป็นการเกี่ยวกับวิภัชกรรม (การแบ่งสรรโภคทรัพย์) มากกว่าประดิษฐกรรม (การบังเกิดโภคทรัพย์)”
และในเค้าโครงการเศรษฐกิจ ท่านปรีดีก็ได้อ้างถึงคำสอนเศรษฐวิทยาของ ชาร์ลส จี๊ด ดังที่กล่าวมาแล้ว
จากการศึกษาเค้าโครงการเศรษฐกิจของท่านปรีดี ผมสามารถแยกแยะลัทธิหรือแนวความคิดหลักที่มีอิทธิพลต่อท่านปรีดี ๓ ประการ คือ
๑. แนวความคิดสังคมนิยมประชาธิปไตย (Democratic Socialism) ผสมผสานกับเศรษฐกิจแบบชาตินิยม
๒. ลัทธิโซลิดาริสม์ (Solidarism) หรือ ‘ภราดรภาพนิยม’
๓. หลักพุทธศาสนาและมนุษยธรรม
ความแตกต่างทางความคิดเห็นและความขัดแย้งทางการเมืองเป็นเรื่องปกติ ต้องถือว่า มัน คือ สิ่งที่มีคุณค่าในระบอบประชาธิปไตย ผมจึงมองความขัดแย้งในสังคมวันนี้และอนาคตว่า เป็นส่วนหนึ่งของพัฒนาการหรือวิวัฒนาการภายใต้กฎเกณฑ์ของวิทยาศาสตร์ทางสังคม ครับ