กรุงเทพฯ--27 มิ.ย.--CPF
ความยากไร้ห่างไกลความเจริญ นอกจากจะขวางกั้นการเข้าถึงการพัฒนาในด้านต่างๆ ของชุมชนในท้องถิ่นแล้ว สิ่งสำคัญคือเยาวชนที่เปรียบเหมือนต้นกล้าของอนาคตก็พลอยได้รับผลกระทบตามไปด้วย โรงเรียนบ้านปากพู่ (รองหงส์ทองรัฐรังสรรค์) ต.ท่านา อ.กะปง จ.พังงา เป็นหนึ่งในโรงเรียนในถิ่นทุรกันดารที่แม้ความห่างไกลจะเป็นอุปสรรค์สำคัญที่ทำให้ความช่วยเหลือจากหน่วยงานต่างๆ ส่งผ่านมาไม่ถึง หากแต่บุคลากรของที่นี่กลับไม่รอคอยสิ่งที่องค์กรอื่นๆหยิบยื่นให้ แต่กลับร่วมกันพัฒนาขีดความสามารถของโรงเรียนและนักเรียนตามกำลังของตน เกิดเป็นกิจกรรมเพื่อการเรียนรู้ทั้งด้านวิชาการและการอาชีพอันหลากหลาย กระทั่งสามารถคว้ารางวัลทั้งระดับจังหวัด ระดับภาค และระดับประเทศมากมาย
นิจกานต์ แตงเหมาะ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านปากพู่ กล่าวว่า โรงเรียนแห่งนี้เป็นโรงเรียนขยายโอกาสมีนักเรียนกว่า 200 คน แม้จะเป็นโรงเรียนเล็กๆ แต่ก็มีความโดดเด่นด้านวิชาการ และยังผลักดันให้เกิดกิจกรรมด้านการเกษตรตามปรัชญา “เศรษฐกิจพอเพียง” เพื่อการเรียนรู้ของเยาวชน ทั้งการเลี้ยงไก่ไข่ การเลี้ยงปลาดุก ปลูกผักสวนครัว-การอนุรักษ์ผักพื้นบ้าน การเพาะเห็ด ตลอดจนการปลูกปาล์มน้ำมัน
“ที่ผ่านมาโรงเรียนแทบไม่ได้รับการสนับสนุนจากองค์กรใดๆเลย เพราะเราอยู่ในพื้นที่ห่างไกล กิจกรรมต่างๆจึงเกิดขึ้นจากทุนของโรงเรียนและชุมชน อย่างเช่นบ้านพักครูที่ทิ้งร้างก็ปรับทำเป็นที่เลี้ยงไก่ไข่และโรงเพาะเห็ด เลี้ยงปลาในบ่อที่สร้างกันเอง เพื่อให้นักเรียนได้เรียนรู้จากการปฏิบัติจริง เพื่อเป็นห้องเรียนอาชีพและการเรียนรู้นอกห้องเรียน โดยไม่มุ่งทำการค้า ล่าสุดซีพีเอฟได้เข้ามาสำรวจโรงเรียนที่อยู่ในพื้นที่บริการของบริษัท ซึ่งโรงเรียนบ้านปากพู่ อยู่ใกล้กับฟาร์มหมู-ฟาร์มไก่ ในโครงการคอนแทรคฟาร์มของซีพีเอฟ ทางบริษัทจึงมีความประสงค์ที่จะปรับปรุงและสนับสนุนกิจกรรมอันเป็นประโยชน์ของโรงเรียน” ผอ.นิจกานต์ กล่าวถึงที่มาของกิจกรรมดีๆที่เกิดขึ้น
จากการเข้าสำรวจพื้นที่ของซีพีเอฟ พบว่า โรงเรียนบ้านปากพู่ยังขาด โรงเรือนเลี้ยงไก่ บ่อเลี้ยงปลาดุก รวมถึงแปลงปลูกผักที่เหมาะสม และที่นี่ไม่มีสนามเด็กเล่นให้กับเด็กๆ บริษัทจึงขอเข้ามาดำเนินกิจกรรม “ซีพีอาสา ตอบแทนคุณแผ่นดิน จากฟาร์มพี่ สู่โรงเรียนน้อง ปี 3” เพื่อพัฒนาเยาวชน โดยบริษัทได้จัดสร้างโรงเรือนเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน พร้อมปรับปรุงบ่อเลี้ยงปลาดุกให้มีมาตรฐาน จัดทำแปลงปลูกผักปลอดสาร รวมทั้งสร้างสนามเด็กเล่นแห่งใหม่ที่ปลอดภัยพร้อมเครื่องเล่นที่ช่วยสร้างทักษะจากการเล่นสนุกให้กับเด็กๆ รวมถึงปรับปรุงสนามกีฬาเพื่อให้นักเรียนได้เล่นกีฬาที่ช่วยเสริมสร้างพลานามัยที่สมบูรณ์แข็งแรง ตลอดจนปรับปรุงภูมิทัศน์รอบบริเวณโรงเรียน พร้อมมอบโครงการ “ห้องสมุดของเล่นปฐมวัย” แก่เยาวชน ซึ่งทุกๆกิจกรรมได้รับความร่วมมือจากชาวซีพีเอฟจิตอาสา บุคลากรและนักเรียนโรงเรียนบ้านปากพู่ ชาวชุมชนบ้านปากพู่ องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น และอำเภอกะปง
“ขอขอบคุณซีพีเอฟที่เห็นความสำคัญของการพัฒนาเยาวชนและจัดทำโครงการดีๆเช่นนี้ ที่จะกลายเป็นแหล่งความรู้นอกห้องเรียนช่วยสร้างประสบการณ์จากการปฏิบัติจริงซึ่งจะติดตัวพวกเขาตลอดไป ขอให้ซีพีเอฟผลักดันโครงการสู่โรงเรียนอื่นๆต่อไป” ผอ.นิจกานต์ กล่าว
ดญ.ศิริพร สุขเกษม หรือน้องนุ่น วัย 5 ขวบ นักเรียนชั้นอนุบาล 1 ที่กำลังง่วนอยู่กับการเล่นสนุกกับเพื่อนๆ ในสนามเด็กเล่นแห่งใหม่ บอกด้วยใบหน้าเปื้อนรอยยิ้มว่า ดีใจมากที่มีสนามเด็กเล่นให้เด็กๆได้เล่น เธอมีความสุขมาก แถมพี่ๆยังใจดีทาสีโรงเรียนใหม่ ทำสนามหญ้าสวนดอกไม้ที่สวยงาม และตื่นเต้นที่ได้เห็นโรงเรือนเลี้ยงไก่แห่งใหม่ เธอชอบไปดูพี่ๆเลี้ยงไก่กัน และอยากเข้าไปทำกิจกรรมการเกษตรกับพี่ๆด้วย พร้อมฝากคำขอบคุณมาถึงผู้ใหญ่ใจดีอย่างซีพีเอฟ
“ขอบคุณพี่ๆทุกคนที่ช่วยให้โรงเรียนเราสวยขึ้น หนูอยากมาเรียนทุกวัน อยากมาเล่นที่สนามเด็กเล่นกับเพื่อนๆ ทุกคนชอบทุกๆอย่างที่พี่ๆซีพีทำให้ หนูขอให้พี่ๆมาหาอีกและมาจัดกิจกรรมแบบนี้อีกค่ะ” น้องนุ่น บอกอย่างอารมณ์ดี
ณรงค์ เจียมใจบรรจง รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ซีพีเอฟ ในฐานะพ่องานในครั้งนี้ กล่าวว่า ชาวซีพีเอฟจิตอาสา พร้อมทั้งเกษตรกรในโครงการส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงสัตว์แก่เกษตรกรรายย่อยกับซีพีเอฟ ร่วมกันจัดกิจกรรมมอบรอยยิ้มให้กับน้องๆนักเรียน อย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 โดยคัดเลือกโรงเรียนทั่วไทย ทั้งในภาคเหนือ ภาคกลาง-ตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ ปีละ 4 แห่ง ด้วยการรับบริจาคเงินจากบุคลากรและเกษตรกรคอนแทรคฟาร์มในพื้นที่เพื่อเป็นงบประมาณสนับสนุนกิจกรรม และในทุกครั้งบริษัทยังสร้างห้องสมุดเสริมทักษะ ตามโครงการ “ซีพีเอฟ ปันน้ำใจให้น้อง…ห้องสมุดของเล่น ปี 4” ที่สำนักทรัพยากรบุคคลของซีพีเอฟจัดขึ้น เพื่อให้ห้องสมุดของเล่นเป็นศูนย์กลางในการให้ความรู้และสร้างสรรพัฒนาการของเด็กไทย โดยใช้ของเล่นเป็นสื่อ และยังเป็นการปลูกฝังให้เด็กและเยาวชนรู้จักการแบ่งปันและการสร้างจิตสาธารณะระหว่างเด็กกับเด็กด้วยกัน พร้อมสร้างให้เยาวชนได้ทำดีเพื่อสังคมและชุมชน เพราะเด็กๆต้องทำความดีหรือทำงานสาธารณประโยชน์เพื่อแลกเปลี่ยนกับการยืมของเล่นไปเล่นต่อที่บ้านได้
“ชาวซีพีเอฟร่วมกันจัดกิจกรรมดีๆเช่นนี้ร่วมกับชาวชุมชน เพื่อพัฒนาเยาวชนที่เป็นเหมือนต้นกล้าของอนาคต ให้ได้รับโอกาสทั้งในด้านการศึกษาเพื่อพัฒนาสติปัญญา รวมถึงด้านสุขอนามัยและร่างกายที่แข็งแรงด้วยการเล่นกีฬา และมุ่งหวังให้กิจกรรมนี้เป็นต้นแบบให้องค์กรอื่นๆ ได้ร่วมกันพัฒนาลูกหลานไทยไปด้วยกัน” ทรงศักดิ์ กล่าว
กิจกรรมสร้างสรรค์สังคมที่ซีพีเอฟดำเนินการมาตลอด เปรียบเสมือนกระจกส่องสะท้อนให้ทุกองค์กรได้หันมาให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจควบคู่ไปกับการคืนกำไรให้กับสังคม โดยเฉพาะด้านการศึกษาที่ถือเป็นการพัฒนาชาติให้ก้าวหน้าต่อไปได้โดยยอาศัยแรงพลังอันเข้มแข็งของทุกภาคส่วนมิได้รอให้ภาครัฐเป็นฝ่ายขับเคลื่อนแต่ฝ่ายเดียว