กรุงเทพฯ--27 มิ.ย.--กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) จัดการแถลงข่าวประเด็นเรื่องปัญหาการค้ามนุษย์ในประเทศไทย และกรณีที่ประเทศไทยถูกกระทรวงต่างประเทศ ของสหรัฐอเมริกา ปรับลดอันดับสถานการณ์การค้ามนุษย์จาก Tier 2 Watch List เป็น Tier 3 ซึ่งถือเป็นกลุ่มประเทศที่มีสถานการณ์การค้ามนุษย์ในระดับเลวร้ายที่สุด โดยมี นายวิเชียร ชวลิต ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธานการแถลงข่าว ณ ห้อง ESCAP HALL ชั้น ๒ ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ กรุงเทพฯ
นายวิเชียร ชวลิต ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า กระทรวงต่างประเทศ ของประเทศสหรัฐอเมริกา ปรับลดอันดับสถานการณ์การค้ามนุษย์ของประเทศไทยจาก Tier 2 Watch List เป็น Tier 3 ซึ่งสหรัฐฯ ระบุว่า ประเทศไทยไม่ได้แสดงความก้าวหน้าในการดำเนินงานป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์เท่าที่ควร และตามกฎหมายสหรัฐฯ ที่จัดระดับประเทศไทยอยู่ใน Tier 2 ที่ต้องจับตามอง ติดต่อกันเป็นเวลา ๔ ปี (ปี ๒๕๕๓-๒๕๕๖) จึงถูกลดระดับเป็น Tier 3 โดยอัตโนมัติ ซึ่งมีประเด็นสำคัญ ๔ เรื่อง คือ ๑) การคัดแยกผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ ระบุว่า การคัดแยกผู้เสียหายในประชากรกลุ่มเสี่ยงดำเนินการได้ไม่เพียงพอ และเมื่อคัดแยกแล้วไม่ได้ส่งตัวผู้เสียหายเข้ารับการคุ้มครอง
๒) การค้ามนุษย์ด้านแรงงานในภาคประมง ระบุว่า ไม่พบว่ามีการดำเนินคดีกับเจ้าของเรือ หรือไต้ก๋ง ที่บังคับใช้แรงงาน
๓) กรณีผู้หลบหนีเข้าเมืองชาวโรฮิงญา ระบุว่า
ไม่พบว่ามีการดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดในข้อหาการค้ามนุษย์
๔) การทุจริตคอร์รัปชั่นของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ระบุว่า ไม่มีการรายงานผลการสอบสวนและดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีค้ามนุษย์ ทั้งนี้ เมื่อประเทศไทยถูกจัดอยู่ใน Tier 3 สหรัฐฯ อาจพิจารณาระดับการให้ความช่วยเหลือที่มิใช่ความช่วยเหลือเพื่อมนุษยธรรมและความช่วยเหลือที่เกี่ยวกับการค้า
เช่น ด้านทหาร ด้านการศึกษา ด้านวัฒนธรรม เว้นแต่กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงการคลัง กระทรวงกลาโหมของสหรัฐฯ และองค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐฯ จะพิจารณาร่วมกัน โดยเป็นกระบวนการภายในของฝ่ายสหรัฐฯ เพื่อเสนอประธานาธิบดีสหรัฐฯ ให้ยกเว้นระดับการให้ความช่วยเหลือ (sanction) ต่อประเทศที่ถูกจัดอยู่ในระดับ Tier 3 หรือที่เรียกว่า Presidential Waiver
นายวิเชียร กล่าวต่อว่า ประเทศไทยมีความมุ่งมั่นในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์มาโดยตลอดอย่างต่อเนื่อง แต่เมื่อรายงานการค้ามนุษย์ หรือ TIP Report ประจำปี ๒๕๕๗ ของสหรัฐฯ จัดให้ประเทศไทยเป็น Tier 3 เป็นเรื่องสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยจะต้องเพิ่มความเข้มข้นในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวมากขึ้น เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศศูนย์กลางที่มีการเคลื่อนย้ายแรงงานต่างๆ เพื่อการขยายตัวของระบบเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งเป็นสาเหตุของปัญหาการค้ามนุษย์ กระทรวงฯ ได้ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว และต้องการดำเนินการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยขอความร่วมมือจากประเทศเพื่อนบ้านที่มีอาณาเขตติดต่อประเทศไทย อาทิ ประเทศเมียนมาร์ ประเทศมาเลเซีย ประเทศลาว ประเทศกัมพูชา
เพื่อทำงานด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ร่วมกันอย่างจริงจัง เพราะปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาที่ไม่สามารถแก้ไขเพียงประเทศไทยประเทศเดียวได้ ทั้งนี้ เมื่อได้รับความร่วมมือจากทุกประเทศจะทำให้การขับเคลื่อนงานด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ประสบความสำเร็จ และช่วยให้ปัญหาดังกล่าวลดลงและหมดไปจากประเทศไทยในที่สุด
"สำหรับกรณีที่ถูกกล่าวหาว่า ประเทศไทยมีการนำชาวโรฮิงญาไปทำงานในสถานประกอบการต่างๆ ในรูปแบบของการค้ามนุษย์ ขอยืนยันว่าไม่เป็นความจริง เนื่องจากชาวโรฮิงญาหลบหนีเข้ามาประเทศไทยเพื่อเดินทางไปยังประเทศมาเลเซียเท่านั้น" นายวิเชียร กล่าวตอนท้าย