กรุงเทพฯ--27 มิ.ย.--กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
นายวิเชียร ชวลิต ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธานพิธีเปิดงาน “วันต่อต้านการค้ามนุษย์ ประจำปี ๒๕๕๗” เพื่อรณรงค์เผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับภัยของการค้ามนุษย์ และแสดงเจตนารมณ์และความมุ่งมั่นในการดำเนินงานป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ณ ห้องประชุม ESCAP Hall ชั้น ๒ ศูนย์การประชุมสหประชาชาติ กรุงเทพฯ
นายวิเชียร ชวลิต ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า ในการดำเนินงานป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทย พบความยากลำบากประการหนึ่ง คือ ประเทศไทย มีพรมแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้านหลายพันกิโลเมตร และเป็นศูนย์กลางของการคมนาคมในภูมิภาค ทำให้สะดวกต่อการโยกย้ายถิ่นฐาน ทั้งที่เข้าเมืองโดยถูกกฎหมายและผิดกฎหมาย รวมทั้งการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของไทย
ทำให้แรงงานจำนวนมากจากประเทศเพื่อนบ้านต้องการเคลื่อนย้ายเข้ามาประเทศไทย เพื่อหางานทำที่มีรายได้ดีกว่าในประเทศของตน อีกทั้งผู้ประกอบการของไทยก็มีความต้องการแรงงานต่างด้าวมาทำงานบางประเภท ที่คนไทยไม่นิยมทำ เช่น งานกรรมกร งานในอุตสาหกรรมประมงและประมงต่อเนื่อง จึงเกิดขบวนการนำพาหรือหลอกลวง ทั้งจากประเทศต้นทาง และประเทศปลายทาง เช่นเดียวกับคนไทยจำนวนไม่น้อยที่ต้องการเคลื่อนย้ายไปทำงานในต่างประเทศ ทั้งที่เดินทางโดยสมัครใจ และที่ถูกหลอกลวงว่าจะได้รายได้ที่มากขึ้น ตลอดจนค่านิยมทางวัตถุ ซึ่งจากปัจจัยต่างๆ เหล่านี้จึงทำให้คนไทยและคนต่างด้าวจำนวนหนึ่งตกเข้าสู่ขบวนการค้ามนุษย์ ทั้งในประเทศตนเองและประเทศอื่น
สำหรับรูปแบบของการค้ามนุษย์ในประเทศไทย ยังคงพบใน ๓ รูปแบบ ได้แก่ การแสวงหาประโยชน์ทางเพศ การบังคับใช้แรงงานหรือบริการ และการนำคนมาขอทาน แต่กลับพบวิธีการหลอกลวง กลลวง ของขบวนการค้ามนุษย์ ที่ซับซ้อนและรุนแรงมากขึ้น เช่น การปลอมแปลงอายุของเด็กต่างด้าวให้สูงเกินจริง แต่เป็นหนังสือเดินทางฉบับจริง เพื่อให้เด็กมีอายุมากพอที่จะรับจ้างทำงานได้ หรือให้ขายบริการทางเพศ ซึ่งต้องอาศัยกระบวนการตรวจทางการแพทย์เข้าช่วยเพื่อนำไปสู่กระบวนการคุ้มครอง
นายวิเชียร กล่าวต่อไปว่า ในส่วนของประเทศไทย ตลอดระยะเวลา ๒ ปี กระทรวงการพัฒนาสังคมฯเป็นหน่วยประสานงานหลักในการดำเนินงานเรื่องนี้ ซึ่งยังมีบางประเด็นที่ต้องขับเคลื่อนการทำงานระหว่างหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง และมีบางประเด็นที่ยังเป็นข้อท้าทาย ทั้งนี้ ผู้บริหารและผู้ปฏิบัติงานทุกคน มีความพยายาม ความมุ่งมั่นตั้งใจ ทั้งในส่วนของการสอบสวนคดีค้ามนุษย์ในปี ๒๕๕๖ ที่มีจำนวนมากขึ้นถึง ๖๗๔ คดี การฟ้องคดีของอัยการต่อศาล จำนวน ๓๘๖ คดี และสถิติคดีในชั้นศาลที่พิพากษาแล้ว จำนวน ๓๘๓ คดี และให้การช่วยเหลือผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ ทั้งคนไทยและคนต่างด้าว จำนวน ๖๘๑ คน อย่างเท่าเทียม ไม่เลือกปฏิบัติ ซึ่งการดำเนินงานต่างๆ เหล่านี้ ไม่ใช่เพื่อตอบโจทย์ใดเป็นการเฉพาะ แต่ทุกคนได้ร่วมกันทำงานโดยมุ่งดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดจากการค้ามนุษย์ ให้ถึงที่สุด และคำนึงถึงกลุ่มเป้าหมายที่เป็นกลุ่มเสี่ยง กลุ่มผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ ตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. ๒๕๕๑ ซึ่งนอกจากจะมุ่งบังคับใช้กฎหมายกับการค้ามนุษย์เป็นการเฉพาะ ยังให้ความสำคัญกับการคุ้มครองช่วยเหลือผู้เสียหายเป็นสำคัญ จึงเป็นเหตุผลหลักที่กำหนดให้กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ เป็นหน่วยรักษาการตามกฎหมาย
ทั้งนี้ “สำหรับการจัดงานวันต่อต้านการค้ามนุษย์ ประจำปี ๒๕๕๗ นอกจากมีวัตถุประสงค์เพื่อรณรงค์เผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับภัยของการค้ามนุษย์ตามมติคณะรัฐมนตรีแล้ว กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ขอเชิญชวนทุกท่านร่วมแสดงเจตนารมณ์และความมุ่งมั่นในการดำเนินงานป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. ๒๕๕๑ และให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล หรือที่เรียกว่า 5P เพื่อขจัดการค้ามนุษย์ให้หมดไปจากประเทศไทย” นายวิเชียร กล่าวตอนท้าย