กรุงเทพฯ--27 มิ.ย.--อาซิแอม เบอร์สัน-มาร์สเตลเลอร์
ในยุคที่ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือเออีซี ภาษาอังกฤษได้ก้าวเข้ามามีบทบาทสำคัญ และกลายเป็นภาษาที่ทุกคนจำเป็นต้องเรียนรู้ แต่ด้วยปัจจัยด้านปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคม ส่งผลให้เด็ก ๆ ซึ่งอยู่ในชนบทที่ห่างไกล ขาดโอกาสในการเรียนรู้และฝึกฝนภาษาอังกฤษไปอย่างน่าเสียดาย ด้วยข้อจำกัดทั้งในด้านวิชาการ การขาดแคลนบุคลากรครูผู้สอน หรือแม้กระทั่งตำราเรียนที่ล้าสมัย
กลุ่มมิตรผล ได้ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว และมีความมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมการยกระดับการศึกษาให้กับเยาวชน
ในท้องถิ่นที่ห่างไกล อันเป็นที่มาของ “โครงการยกระดับมาตรฐานการศึกษาสู่โรงเรียนมาตรฐานสากล” โดย กลุ่มมิตรผล มุ่งเน้นให้ความสำคัญทั้งการพัฒนาด้านวิชาการ การพัฒนาบุคลากรอาจารย์ผู้สอน ตลอดจนศักยภาพของนักเรียน ซึ่งโรงเรียนกรับใหญ่ว่องกุศลกิจพิทยาคม ก็เป็นหนึ่งในหลายโรงเรียนที่กลุ่มมิตรผลได้ให้การสนับสนุน จนกระทั่งล่าสุดโรงเรียนกรับใหญ่ฯ สามารถพัฒนาศักยภาพการเรียนการสอนได้เป็น 'หนึ่งอำเภอ หนึ่งโรงเรียนในฝัน'ประจำจังหวัดราชบุรี
เพื่อเตรียมความพร้อมให้โรงเรียนกรับใหญ่ฯ ก้าวสู่มาตรฐานสากลอย่างแท้จริง กลุ่มมิตรผลจึงได้ให้การสนับสนุน
ในการพัฒนาการเรียนการสอนด้วยระบบ EIS หรือ English for Integrated Studies ซึ่งเป็นการเรียนการสอนที่นำภาษาอังกฤษเข้ามาบูรณาการกับทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ เพื่อกระตุ้นให้ผู้เรียนมีการใช้ทักษะทางภาษาอย่างต่อเนื่อง ในช่วงแรกนั้น ทางโรงเรียนกรับใหญ่ฯ ได้นำหลักสูตรนี้มาใช้ในการเรียนการสอน 3 วิชา ได้แก่ วิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และคอมพิวเตอร์ ต่อมาจึงได้ผนวกวิชาศิลปะและสังคมศึกษาเข้าไปด้วย ล่าสุดกลุ่มมิตรผลได้สนับสนุนการพัฒนาห้องปฏิบัติการด้านภาษา ที่มีอุปกรณ์สื่อการสอนแบบโต้ตอบ หรืออินเทอร์แอคทีฟ (Interactive) ซึ่งช่วยสร้างบรรยากาศให้การเรียนรู้เป็นไปอย่างสนุกสนานและไม่น่าเบื่อ พร้อมทั้งช่วยให้นักเรียนสามารถพัฒนาทักษะทางภาษาได้อย่างรวดเร็ว และในขณะเดียวกันก็ได้มีการส่งผู้เชี่ยวชาญจาก สถาบันพัฒนามิตรผล ไปฝึกอบรมและวัดผลให้กับบุคลากรและครูผู้สอน เพื่อเพิ่มพูนความรู้และพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษ ช่วยให้การสอนดำเนินไป อย่างมีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ กลุ่มมิตรผล ยังได้ให้การสนับสนุน “การพัฒนาห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์” โดยได้ปรับปรุงบรรยากาศของห้องสมุดให้มีแสงสว่างเพิ่มขึ้น พร้อมติดตั้งชั้นวางหนังสือใหม่ที่สะดวกสบายต่อการใช้งาน รวมทั้งพัฒนาระบบห้องสมุดระบบอิเล็กทรอนิกส์ให้ทันสมัยยิ่งขึ้น โดยสนับสนุนคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊คจำนวน 5 เครื่อง เพื่อให้นักเรียนและบุคลากรในโรงเรียน ได้เข้ามาสืบค้นข้อมูลและหาความรู้ในอินเทอร์เน็ตได้อย่างสะดวก ส่วนนักเรียนที่ต้องการค้นคว้าข้อมูลในการทำการบ้านหรือเตรียมตัวสอบ ก็สามารถยืมคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊คกลับไปใช้ที่บ้านได้อีกด้วย
นายจรัญ สุขเสรี ผู้อำนวยการโรงเรียนกรับใหญ่ว่องกุศลกิจพิทยาคม กล่าวว่า “การพัฒนาทั้งด้านวิชาการและอุปกรณ์การเรียนการสอนนับเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องทำอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ทันต่อสถานการณ์และโลกที่เปลี่ยนแปลงไป การสนับสนุนจากกลุ่มมิตรผลที่ผ่านมาและต่อเนื่องจนถึงหลักสูตร EIS และห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์ในปัจจุบัน ทำให้เราสามารถยกระดับมาตรฐานการศึกษาของโรงเรียนและบุคลากร จนก้าวขึ้นเป็นโรงเรียนในโครงการ 'หนึ่งอำเภอ หนึ่งโรงเรียนในฝัน' ได้สำเร็จ ผมและคณะครู รวมทั้งนักเรียนทุกคน ต้องขอขอบคุณกลุ่มมิตรผลที่ได้สร้างสรรค์สิ่งดี ๆ ให้กับโรงเรียนของเรา ทำให้เด็ก ๆ ในท้องถิ่นได้มีแหล่งสืบค้นข้อมูลที่ทันสมัย และได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพและมีมาตรฐานที่ดีเทียบเท่ากับเด็ก ๆ ในเมือง”
น้องจ๋อม หรือ นางสาวเสาวลักษณ์ พรสุขศิริ นักเรียนชั้น ม.6 โรงเรียนกรับใหญ่ว่องกุศลกิจพิทยาคม กล่าวถึงประโยชน์ที่ได้รับจากโครงการนี้ว่า “การเรียนแบบสองภาษาทำให้หนูกล้าใช้ภาษาอังกฤษมากขึ้น จากเดิมที่ฟังภาษาอังกฤษไม่เข้าใจมากนัก แต่ปัจจุบันสามารถเข้าใจในสิ่งที่คุณครูสอนได้ไม่ยาก และยังมีสื่อการเรียนการสอนแบบอินเทอร์แอคทีฟที่ทำให้การเรียนสนุกขึ้น การสืบค้นข้อมูลก็ทำได้สะดวกเพราะมีห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์ที่จัดเรียงข้อมูลของหนังสือไว้อย่างเป็นหมวดหมู่ และช่วยให้การค้นคว้าข้อมูลจากแหล่งต่าง ๆ ในอินเทอร์เน็ตไม่เป็นอุปสรรค อีกต่อไป เราทุกคนดีใจที่ได้เห็นความก้าวหน้าทั้งด้านการเรียนการสอนที่มีคุณภาพของโรงเรียน และห้องสมุด ที่ทันสมัย"
นายศุภนิตย์ มานะจิตต์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มงานองค์กรสัมพันธ์ กลุ่มมิตรผล กล่าวว่า “กลุ่มมิตรผลให้การสนับสนุนโรงเรียนกรับใหญ่ว่องกุศลกิจพิทยาคมนับตั้งแต่เริ่มก่อตั้งจนถึงปัจจุบัน เพราะเราให้ความสำคัญ กับการตอบแทนชุมชนท้องถิ่นซึ่งเป็นต้นกำเนิดของกลุ่มมิตรผล เราดีใจที่โครงการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนด้วยภาษาอังกฤษ และการพัฒนาห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์ ได้มีส่วนช่วยลดความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา ทำให้เด็กในชนบทได้มีโอกาสเรียนรู้ภาษาอังกฤษ ซึ่งเป็นภาษาที่มีความสำคัญในปัจจุบัน และช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ของเยาวชน และบุคลากรในโรงเรียน รวมทั้งชุมชนได้อย่างรอบด้าน”