กรุงเทพฯ--27 มิ.ย.--เอเอสวี อินเตอร์ กรุ๊ป
เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2557 ที่สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 12 (นครศรีธรรมราช) นายธรรมนูญ อัครพิน ผู้อำนวยการสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 12 (นครศรีธรรมราช) พาคณะสื่อมวลชนดูภารกิจการป้องกันและปราบปรามการตัดไม้ และรายงานสถิติการดำเนินคดีเกี่ยวกับการจับกุมไม้ในท้องที่ รวมทั้งการส่งเสริมให้เกษตรกรทำระบบการเกษตรแบบผสมผสาน และระบบวนเกษตร เพื่อเป็นแนวทางหนึ่งที่จะเพิ่มพื้นที่สีเขียว และช่วยแก้ไขปัญหาการเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม ตลอดจนการให้ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจแก่เกษตรกรที่เพิ่มมากขึ้น
นายธรรมนูญ กล่าวว่า ปัจจุบันสภาพป่ามีความเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งการสำรวจภาคพื้นดินอาจไม่ทันกับสถานการณ์ปัจจุบัน ดังนั้นกรมป่าไม้จึงนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้การบริหารจัดการทรัพยากรป่าไม้ในจังหวัดนครศรีธรรมราช ด้วยระบบสารสนเทศที่ทันสมัย ครอบคลุมภารกิจทุกด้าน ทั้งการป้องกันการลักลอบตัดไม้ทำลายป่า การบุกรุกพื้นที่ การอนุญาตใช้ประโยชน์ การปลูกฟื้นฟูสภาพป่า พื้นที่ป่าชุมชน ตลอดจนข้อมูลพื้นฐานทางด้านบุคลากร การจัดซื้อจัดจ้าง เพื่อเป็นข้อมูลที่สำคัญในการประมวลและวิเคราะห์ผลได้อย่างครบถ้วนและครอบคลุม ทันสมัย และเป็นปัจจุบัน สำหรับปัญหาในภาคใต้ที่มีการปลูกยางพารา เกษตรกรส่วนใหญ่เน้นการปลูกพืชเชิงเดี่ยว ทำให้ส่งผลกระทบต่อความอุดมสมบูรณ์ของดิน ความชื้นของดิน การชะล้างพังทลายของหน้าดิน กรมป่าไม้จึงมีการส่งเสริมระบบการทำเกษตรแบบผสมผสาน และระบบวนเกษตร ซึ่งเป็นรูปแบบหนึ่งของการเกษตรยั่งยืน
โดยมีการศึกษาและวิจัยเกี่ยวกับการปลูกแบบผสมผสานของเกษตรกรในพื้นที่จ.นครศรีธรรมราช ตรัง และพัทลุง โดยส่งเสริมปลูกไม้เศรษฐกิจทั้งไม้โตเร็วและไม้โตช้าผสมผสานยางพารา อาทิ กระถินเทพา มะฮอกกานี จำปาป่า กฤษณา ตะเคียนทอง และยางนา ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของสภาพพื้นที่ ซึ่งสามารถปลูกไม้เศรษฐกิจได้ 6 รูปแบบ คือ 1.การปลูกไม้เศรษฐกิจชนิดเดียวแทรกระหว่างแถวยางพารา 2.การปลูกไม้เศรษฐกิจหลายชนิดผสมผสานกับระหว่างแถวยางพารา 3.การปลูกไม้เศรษฐกิจเป็นแนวเขตรอบสวนยางพารา 4.การปลูกไม้เศรษฐกิจในแถวยางพารา เป็นการปฃูกซ่อมทดแทนต้นยางพาราที่ตาย 5.การปลูกไม้เศรษฐกิจร่วมกับยางพาราแบบป่ายาง และ 6.การปลูกไม้เศรษฐกิจร่วมกับยางพาราแบบผสมผสาน ซึ่งการทำเกษตรแบบผสมผสาน และระบบวนเกษตรเหล่านี้ พบว่า สามารถช่วยปรับปรุงทรัพยากรดิน และช่วยแก้ไขปัญหาการเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้น ระบบการปลูกแบบผสมผสานจึงเป็นแนวทางหนึ่งที่จะเพิ่มพื้นที่สีเขียว และจากการศึกษาเปรียบเทียบผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ พบว่า การปลูกแบบผสมผสานกับยางพารามีกำไรสุทธิมากกว่าการปลูกสวนยางพาราเชิงเดี่ยวได้มากกว่าถึง 3 เท่า