กรุงเทพฯ--27 มิ.ย.--อพท.
อพท. หนุนฝึกงานสร้างอาชีพให้ชุมชนชาวมุสลิมบ้านเนินพลับหวาน และเทศบาลเมืองหนองปรือ ผลักดันเป็นศูนย์กลางอาหารฮาลาลอาเซียน ตอบสนองแนวทางของ คสช. ในการช่วยเหลือประชาชน และกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชน
พันเอก ดร. นาฬิกอติภัค แสงสนิท ผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. เปิดเผยว่า ได้มอบหมายให้สำนักงานพื้นที่พิเศษเมืองพัทยาและพื้นที่เชื่อมโยง (อพท.3) ไปดำเนินการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการท่องเที่ยวให้แก่ชุมชนเพื่อรองรับการเปิดเสรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC : ASEAN ECONOMIC COMMUNITY) โดยใช้วงเงินงบประมาณของปี 2557 เน้นเพิ่มศักยภาพการบริการ และฝึกทักษะความรู้เพื่อการประกอบอาชีพ ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางบริหารงานของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ที่ต้องการเห็นภาคธุรกิจการท่องเที่ยวเป็นอุตสาหกรรมที่สร้างรายได้ให้แก่ชุมชนชนและประเทศชาติ
ทั้งนี้เรื่องการฝึกอาชีพ อพท.3 รายงานว่า ได้ร่วมกับเทศบาลเมืองหนองปรือ และผู้นำชุมชนบ้านเนินพลับหวานทั้ง 10 หมู่บ้าน และพื้นที่ใกล้เคียงที่มีประชากรนับถือศาสนาอิสลามมากกว่าร้อยละ 60 ณ มัสยิดนูรุ้ลยากีน เตรียมความพร้อมพัฒนาชุมชนแห่งนี้ให้เป็นศูนย์กลางผู้จำหน่ายอาหารฮาลาลในพื้นที่ โดย อพท. จะสนับสนุนการฝึกอบรมประกอบอาชีพให้กับชุมชนดังกล่าว ได้แก่ ฝึกอบรมการเตรียมอาหารไทยและต่างประเทศ 1 หลักสูตร ฝึกอบรมการตัดเย็บเสื้อผ้าและเครื่องแต่งกาย 2 หลักสูตร และอบรมภาษาอังกฤษเพื่อใช้สื่อสารกับชาวต่างประเทศ 2 หลักสูตร โดยใช้งบประมาณรวมทั้งสิ้น 636,000 บาท
ในส่วนการเพิ่มขีดความสามารถด้านการบริการ อพท.3 ได้จัดโครงการอบรมผู้ประกอบการ ผู้ขับเรือโดยสาร เรือเร็ว เรือลากอุปกรณ์กีฬาทางน้ำ ผู้ให้บริการเรือสกูตเตอร์ จำนวน 500 คน เป้าหมายเพื่อยกระดับการบริการให้ได้คุณภาพที่เป็นมาตรฐาน สร้างความมั่นใจให้กับนักท่องเที่ยวที่ใช้บริการ
ในส่วนของมาตรฐานเรือให้บริการท่องเที่ยวและกิจกรรมท่องเที่ยว ได้จัดทำสติกเกอร์แสดงผลการตรวจตราเรือที่ผ่านเกณฑ์ที่กำหนดของกรมเจ้าท่า สำหรับเป็นสัญลักษณ์ให้นักท่องเที่ยวรับรู้ และกรมเจ้าท่ารับทราบว่า เรือลำใดที่ยังไม่ได้รับการตรวจมาตรฐาน นอกจากนั้นยังจัดโครงการฝึกอบรมมาตรฐานความปลอดภัยในการเดินเรือ รวมงบประมาณ 294,300 บาท
นายทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ์ ผู้จัดการ สำนักงานพื้นที่พิเศษเมืองพัทยาและพื้นที่เชื่อมโยง (อพท.3) กล่าวว่า โครงการอบรมความรู้การทำอาหารให้แก่ชุมชนชาวมุสลิม อพท.3 จะดำเนินการผ่านภาคีเครือข่าย โดยจะทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับศูนย์ฝึกอาชีพเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ครบ 36 พรรษา และวิทยาลัยเทคโนโลยีไทยอิโตะ ในการเป็นผู้ฝึกอบรมวิชาชีพในโครงการนี้ โดยเน้นฝึกอบรมความรู้ด้านการทำอาหารไทยและต่างชาติ แต่ถูกต้องตามหลักการประกอบอาหารของชาวมุสลิม วิธีทำอาหารที่ถูกสุขลักษณะ ตลอดจนวิธีการบรรจุภัณฑ์ ส่วนด้านการฝึกอาชีพจะอบรมการตัดเย็บเสื้อผ้า จะเน้นสอนเพื่อให้ชุมชนนำความรู้ไปใช้เพื่อการผลิตสินค้าของที่ระลึกของชาวมุสลิมประเภทเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย รวมถึงหมวกสำหรับผู้ชาย (กะปิเยาะ) ผ้าคลุมศีรษะสำหรับผู้หญิง (ฮิญาบ) โดยจะเชิญอาจารย์ผู้สอนจากภาคใต้ซึ่งเป็นแหล่งต้นกำเนิดทางวัฒนธรรมมาเป็นครูผู้สอน
เป้าหมายการดำเนินโครงการนี้ เพื่อสร้างความพร้อมให้แก่ชุมชนในการผลิตสินค้าด้านการท่องเที่ยว ให้สามารถจำหน่ายแก่นักท่องเที่ยวที่เข้ามาในพื้นที่ เพื่อเป็นการสร้างรายได้ และแสดงอัตลักษณ์ของชุมชน รวมถึงการสร้างความพร้อมในมาตรฐานการบริการ โดยทั้งหมดจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถของชุมชนในการรองรับนักท่องเที่ยวและการแข่งขันที่จะเกิดขึ้นภายหลังการเปิด AEC ตอกย้ำเป็นศูนย์กลางอาหารฮาลาลและผลิตภัณฑ์เพื่อนักท่องเที่ยวชาวมุสลิม เพราะเมืองพัทยาเป็นอีกหนึ่งจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวจากตะวันออกกลาง และกลุ่มนักท่องเที่ยวที่นับถือศาสนาอิสลาม