กรุงเทพฯ--29 มิ.ย.--สภาเทคนิคการแพทย์
วันที่ 29 มิถุนายน 2500 เป็นวันที่วิชาชีพ ”เทคนิคการแพทย์” ถือกำเนิดขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย เพราะเป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงลงพระปรมาภิไธยในพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ (มหาวิทยาลัยมหิดลในปัจจุบัน) เป็นแห่งแรกของประเทศไทย ดังนั้น ผู้ประกอบวิชาชีพเทคนิคการแพทย์ จึงถือเอาวันที่ 29 มิถุนายนของทุกปี เป็น “วันเทคนิคการแพทย์ไทย”
เทคนิคการแพทย์ หรือ “หมอแล็บ” เป็นบุคลากรทางการแพทย์สำคัญที่ทำงานควบคู่กับแพทย์-พยาบาลในระบบบริการสาธารณสุขไทยมานานกว่า 5 ทศวรรษแล้ว โดยเป็นผู้ทำหน้าที่ตรวจวิเคราะห์ ค้นหาสาเหตุการเกิดโรค และความเจ็บป่วยของคนไข้ เพื่อให้การวินิจฉัย ติดตามการบำบัดรักษา พยากรณ์โรค และประเมินภาวะสุขภาพไปอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผล แต่ด้วยความที่เป็นผู้ปฏิบัติงานอยู่เบื้องหลังกระบวนการรักษาพยาบาล คนไข้ส่วนใหญ่จึงไม่ค่อยรู้จักเทคนิคการแพทย์เท่าใดนัก ทั้งๆ ที่เทคนิคการแพทย์เป็นผู้ไขปัญหาโรคภัยไข้เจ็บให้พวกเขา จนนำไปสู่กระบวนการรักษาพยาบาลที่ถูกต้องและหายจากโรคภัยไข้เจ็บเหล่านั้น
ไม่เพียงแต่ เทคนิคการแพทย์ จะมีหน้าที่ตรวจวิเคราะห์ ศึกษาวิจัย เพื่อการวินิจฉัย การรักษา การติดตามและพยากรณ์โรคของผู้ป่วยร่วมกับแพทย์แล้ว เทคนิคการแพทย์ยังมีบทบาทสำคัญยิ่งในการตรวจประเมินภาวะสุขภาพของประชาชนและการควบคุมป้องกันโรคที่เป็นปัญหาสำคัญของประเทศ อาทิ โรคเอดส์ โรคซาร์ส ไข้หวัดนก วัณโรค โรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย สารเสพติด รวมถึงโรคไม่ติดเชื้อ เช่น เบาหวาน โรคไต โรคตับ โรคหัวใจและหลอดเลือด และมะเร็ง เป็นต้น ยิ่งในอนาคตอันใกล้นี้ ประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุและจะเป็นสังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ในปี 2568 การตรวจคัดกรองและการรักษาโรคเรื้อรังที่เกิดจากการเสื่อมของร่างกายจะมีมากขึ้น นั่นหมายความว่า เทคนิคการแพทย์จะต้องทำงานหนักขึ้นเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุในอนาคตอันใกล้นี้ด้วยเช่นกัน
ในฐานะผู้ไขปัญหาโรคร้ายในวงการแพทย์ การปฏิบัติหน้าที่ของเทคนิคการแพทย์ จำเป็นต้องใช้องค์ความรู้ ความสามารถ ความเชี่ยวชาญ ทักษะและประสบการณ์สูง ร่วมกับการใช้เทคโนโลยีทางการแพทย์ที่เหมาะสม (ซึ่งบางกรณีต้องใช้เทคโนโลยีระดับโมเลกุลที่ซับซ้อน) เพื่อให้การค้นหาสาเหตุการเกิดโรคในผู้ป่วยมีความถูกต้องแม่นยำสูง รวดเร็ว ทันเวลา แม้ว่างานส่วนใหญ่จะเป็นงานมีความเสี่ยงสูงต่ออันตรายและการติดเชื้อ แต่เทคนิคการแพทย์ ก็ยังคงมุ่งมั่นที่จะดำเนินการทุกวิถีทางเพื่อให้ได้คำตอบว่าการเจ็บป่วยนั้นมีสาเหตุมาจากอะไร เพื่อให้การบำบัดรักษาอาการเจ็บไข้ได้ป่วยเหล่านั้นเป็นไปอย่างถูกทิศทาง ขณะเดียวกันเทคนิคการแพทย์ก็ยังคงต้องทำหน้าที่ศึกษาวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการควบคู่ไปด้วย เพื่อให้สามารถตรวจหาสาเหตุการเจ็บไข้ได้ป่วยในโรคอุบัติใหม่ โรคที่มีความซับซ้อน หลากหลาย หรืออยู่ในระยะเริ่มต้นของโรคได้อย่างทันท่วงที
ขอบข่ายงานของเทคนิคการแพทย์ ครอบคลุมงานในห้องปฏิบัติการหลายสาขา ทั้งโลหิตวิทยาภูมิคุ้มกัน ธนาคารเลือด โลหิตวิทยาและจุลทรรศนศาสตร์คลินิก เคมีคลินิก ภูมิคุ้มกันวิทยาคลินิก จุลชีววิทยาคลินิก ปรสิตวิทยา พิษวิทยา นิติวิทยาศาสตร์ ชีววิทยาระดับโมเลกุลและมนุษย์พันธุศาสตร์ เทคโนโลยีเกี่ยวกับเซลล์ต้นกำเนิด (Stem cell) เทคโนโลยีการเจริญพันธุ์ของมนุษย์ รวมไปถึงการทดสอบทางสรีรวิทยา หรือการทดสอบทางห้องปฏิบัติการอื่นที่มีลักษณะงานคล้ายกับสาขาที่กล่าวมาแล้ว
เมื่อเป็นดังนี้ งานของเทคนิคการแพทย์จึงมีความหลากหลาย กว้างขวาง ครอบคลุม และเกี่ยวข้องกับชีวิตของผู้คนตั้งแต่เกิดจนกระทั่งตาย เมื่อแรกเริ่มปฏิสนธิเทคนิคการแพทย์ก็เข้าไปเกี่ยวข้องแล้ว โดยเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการตรวจสุขภาพของมารดาเพื่อปกป้องและดูแลชีวิตในครรภ์ให้ปลอดภัย โดยการค้นหาโรคร้ายที่จะถ่ายทอดจากแม่ไปสู่ลูก ไม่ว่าจะเป็นเอดส์ ซิฟิลิส ไวรัสตับอักเสบ ซึ่งรวมไปถึงการตรวจค้นหาความผิดปกติทางพันธุกรรมด้วย เมื่อลืมตามาดูโลกแล้ว เทคนิคการแพทย์ก็ยิ่งต้องเข้าไปเกี่ยวข้องในทุกช่วงวัยของชีวิตมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการตรวจคัดกรองสุขภาพทารกแรกเกิดเพื่อป้องกันโรคเอ๋อ การตรวจเพื่อวินิจฉัยความผิดปกติในทารก เช่น G6PD,Phenylketonuria;PKU, Microbilirubin การตรวจเพื่อวินิจฉัยอาการไข้ในเด็ก โลหิตจาง ฯลฯ การตรวจเลือดก่อนเข้าทำงาน/ศึกษา การตรวจเลือดก่อนแต่งงาน ฝากครรภ์ การตรวจภาวะมีบุตรยาก การตรวจสารเสพติด, การตรวจเพื่อการสร้างเสริมภูมิคุ้มกัน, การบริการโลหิต, การตรวจเพื่อหาสาเหตุการเจ็บไข้ได้ป่วยตามอาการ (ตรวจค้นหาโรคเบาหวาน,ไขมันผิดปกติและหลอดเลือด,โรคตับ,โรคไต,ธัยรอยด์, มะเร็ง,การติดเชื้อ,โรคข้อกระดูก, โรคในระบบภูมิคุ้มกัน ,ฮอร์โมน,เกลือแร่,วิตามิน, ตรวจปัสสาวะ-อุจจาระ เสมหะ สารคัดหลั่ง ฯลฯ) หรือตรวจประเมินภาวะสุขภาพตามช่วงวัยต่างๆ ตลอดจนการตรวจติดตามการรักษาและพยากรณ์โรคในยามที่ต้องเผชิญกับโรคภัยไข้เจ็บ หรือแม้จวบจนกระทั่งวาระสุดท้ายของชีวิต ที่อาจจำเป็นต้องพิสูจน์หาสาเหตุการตาย ก็ยังต้องมีการตรวจทางนิติวิทยาศาสตร์ร่วมด้วย
57 ปีมาแล้ว ที่เทคนิคการแพทย์ มุ่งมั่น ตั้งใจ ทำงานเคียงบ่าเคียงไหล่แพทย์-พยาบาลอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยหรือย่อท้อ มาโดยตลอด แม้จะเป็นงานที่เรียกว่า “ปิดทองหลังพระ” ที่ไม่มีใครทราบก็ตาม แต่เทคนิคการแพทย์ก็ภาคภูมิใจที่มีส่วนช่วยให้คนไทยมีสุขภาพดี และหายจากการเจ็บไข้ได้ป่วย มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
57 เทคนิคการแพทย์ไทย คือ 57 ปี แห่งการค้นหาโรคภัย เพื่อให้ประชาชนชาวไทยมีสุขภาพดีและชีวิตที่ยืนยาว
ผู้เขียน : อรรณพ สุภานันท์ เทคนิคการแพทย์