กรุงเทพฯ--29 มิ.ย.--โออิชิ กรุ๊ป
แนวโน้มความรุนแรงของปัญหาหมอกควันในภาคเหนือยังคงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากผลการตรวจวัดปริมาณฝุ่นละอองโดยกรมควบคุมมลพิษของไทยพบว่าจังหวัดในภาคเหนือของไทยมีจำนวนฝุ่นละอองสูงกว่าค่ามาตรฐานถึง 3 เท่า ซึ่งพื้นที่ที่ประสบปัญหาความรุนแรงมากที่สุด คือ จ.แม่ฮ่องสอน ตามด้วย จ.เชียงราย และ จ.แพร่ ตามลำดับ (จากผลการสำรวจของสาธารณสุขจังหวัดแพร่ เดือนมกราคม 2557) ส่งผลให้มีผู้ป่วยเป็นมะเร็งและโรคทางเดินหายใจเพิ่มขึ้นทุกปีอย่างต่อเนื่อง บริษัทโออิชิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ในฐานะองค์กรเอกชนที่ดำเนินกิจกรรมเพื่อสังคมมาอย่างต่อเนื่อง จึงเล็งเห็นความสำคัญของการช่วยเหลือสังคมในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะเรื่องมลภาวะทางอากาศ บริษัทฯ จึงร่วมกับ วิทยาลัยชุมชนแพร่ สนับสนุนทุนโครงการวิจัย “โออิชิไร่ชา แก้ปัญหาหมอกควัน” ที่ไม่เพียงมุ่งหวังให้ความช่วยเหลือสังคมในการแก้ปัญหามลภาวะในอากาศเพียงเท่านั้น หากยังจะช่วยพัฒนาเกษตรกรในชุมชนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี
มารุต บูรณะเศรษฐกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท โออิชิ กรุ๊ป (จำกัด) มหาชน เผยว่า “หนึ่งในนโยบายสำคัญของโออิชิ นอกจากพัฒนากระบวนการดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพเพื่อให้เกิดประสิทธิผลสูงสุดแล้ว เรายังยึดมั่นในแนวทางการทำธุรกิจที่หากำไรอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคม โดยให้ความสำคัญกับการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมอย่างรับผิดชอบและยั่งยืนให้เป็นรูปธรรมควบคู่กันไปด้วย ล่าสุดเราได้ร่วมกับวิทยาลัยชุมชนแพร่สนับสนุนทุนวิจัยโครงการ “โออิชิไร่ชา แก้ปัญหาหมอกควัน” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนการปลูกไร่ชาออร์แกนิกบนพื้นที่เกษตรกรรมบนภูเขาในเขตหมู่บ้านนาคูหา ต.สวนเขื่อน อ.เมือง จ.แพร่ ทดแทนการปลูกพืชแบบดั้งเดิมที่มีการเผาตอซังและเศษผลิตผลหลังการเก็บเกี่ยว จนก่อให้เกิดปัญหาหมอกควัน นอกจากนั้นยังเป็นการขยายแหล่งปลูกชาใหม่ๆ และพัฒนาคุณภาพใบชาให้ได้มาตรฐาน สามารถป้อนสู่โรงงานโออิชิ พร้อมสร้างรายให้ได้แก่ชุมชนอย่างยั่งยืน”
ในด้านแผนการดำเนินงาน บุญญพัฒน์ นามวงค์พรหม รักษาราชการแทน ผู้อำนวยการ วิทยาลัยชุมชนแพร่ เผยว่า “ตอนนี้ทางวิทยาลัยได้รวบรวมเกษตรกรเจ้าของพื้นที่ที่ต้องการเข้าร่วมโครงการได้กว่า 40 ครัวเรือนแล้ว รวมเป็นพื้นที่ประมาณ 131 ไร่ หลังจากนี้เราจะพาคณะครูผู้จัดทำโครงการ พร้อมตัวแทนเกษตรกรมาดูโรงงานโออิชิ เพื่อศึกษาและได้เห็นภาพกระบวนการผลิตอย่างใกล้ชิด เพื่อนำไปเป็นข้อมูลต่อยอดในการลงพื้นที่ปลูกจริง และเผยแพร่องค์ความรู้สู่เกษตรกรท่านอื่นๆ ต่อไป พร้อมทั้งเตรียมจัดอบรมเทคนิคการปลูกและเก็บใบชาให้ได้ประสิทธิภาพ โดยเชิญผู้เชี่ยวชาญไปให้ความรู้และถ่ายทอดเทคนิคใหม่ๆ ในกระบวนการปลูก-ดูแลรักษา-การเก็บใบชา หลังจากนั้นจึงทดลองปลูกชาออร์แกนิคในพื้นที่ของเกษตรกร เพื่อให้ได้ใบชาที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค รวมทั้งโรงงานผลิตชาเขียวของโออิชิ โดยคาดว่าจะเริ่มดำเนินการภายในกลางปีนี้”
โออิชิตั้งเป้าปั้นโครงการ “โออิชิไร่ชา” ที่ จ.แพร่ ให้เป็นโครงการนำร่องสำหรับแก้ไขปัญหาหมอกควัน ในภาคเหนือ อีกทั้งเป็นการสร้างอาชีพและรายได้ให้แก่เกษตรกร ต่อยอดไปสู่การพัฒนาภูมิทัศน์ให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ โดยหวังจะให้แนวความคิดนี้ถูกเผยแพร่ไปสู่เกษตรกรในชุมชนอื่นๆ เพื่อเป็นแนวทางในการรักษาสิ่งแวดล้อม ควบคู่ไปกับการสร้างอาชีพและรายได้ให้กับชาวบ้านต่อไปในอนาคตอย่างยั่งยืน