กรุงเทพฯ--30 มิ.ย.--มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา
นักศึกษาคณะศิลปกรรมศาสตร์ มรภ.สงขลา สวมบทพี่เลี้ยง ถ่ายทอดความรู้จากห้องเรียน สู่น้องมัธยม ในโครงการ “ร้องรำทำงานศิลป์” ครั้งที่ 8 ฝึกทักษะความชำนาญ หวังเป็นใบเบิกทางสู่ครูนาฏศิลป์มืออาชีพ
โครงการร้องรำทำงานศิลป์ โดยคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) จัดต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 8 แล้ว นายวีรศักดิ์ อักษรถึง คณบดีศิลปกรรมศาสตร์ มรภ.สงขลา กล่าวถึงความน่าสนใจของกิจกรรมในปีนี้ว่า แบ่งออกเป็น 4 ศาสตร์ คือ นาฏศิลป์ ดนตรีไทย ดนตรีสากล และ ศิลปะ อารมณ์ ถ่ายทอดความรู้โดยอาจารย์และนักศึกษาคณะศิลปกรรมศาสตร์ ถือเป็นเวทีฝึกซ้อมทักษะความสามารถของนักศึกษา เพื่อก้าวเข้าสู่ความเป็นมืออาชีพในอนาคต อีกทั้งยังเป็นการเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างมหาวิทยาลัยกับโรงเรียนต่างๆ ในพื้นที่ รวมถึงเผยแพร่ศักยภาพของนักศึกษาและคณาจารย์ โดยมีนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาจากโรงเรียนในพื้นที่ จ.สงขลา ร่วมฝึกอบรมพร้อมลงมือปฏิบัติจริง ซึ่งช่วยเปิดโลกทัศน์และส่งเสริมการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นกับนักเรียน นำไปสู่การพัฒนาทางความคิด
ภาวินี รัตนพันธุ์ “น้องปลา” นักศึกษาชั้นปีที่ 4 โปรแกรมวิชานาฏยรังสรรค์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มรภ.สงขลา หนึ่งในนักศึกษาพี่เลี้ยงกิจกรรมร้องรำทำงานศิลป์ กล่าวว่า เข้าร่วมกิจกรรมนี้เป็นปีแรก โดยช่วยดูแลน้องๆ ในการฝึกปฏิบัติรำวงมาตรฐาน อันเป็นเรื่องที่ตนถนัด บรรยากาศการอบรมสนุกสนานมาก น้องๆ ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี ซึ่งจุดเริ่มต้นของการเรียนศาสตร์นาฏศิลป์นั้น ในขณะที่เรียนระดับมัธยมศึกษา ได้เข้าร่วมชมรมนาฏศิลป์ คุณครูที่ฝึกสอนเป็นศิษย์เก่าโปรแกรมนาฏยรังสรรค์ มรภ.สงขลา นับเป็นแรงบันดาลใจเริ่มแรกในการตัดสินใจสมัครเรียนด้านนาฏศิลป์ และรู้สึกภูมิใจที่ได้เรียนในสิ่งที่ตนรัก มีความสุขทุกครั้งที่ได้ร่ายรำ การเรียนนาฏศิลป์ก็เหมือนกับได้ก้าวไปสู่อีกโลกหนึ่ง อีกทั้งนาฏศิลป์ยังเป็นวิชาที่ฝึกสมาธิและความอดทน ทำให้ตนเองได้รับโอกาสเดินทางไปร่วมเผยแพร่วัฒนธรรมการรำไทยไกลถึงต่างประเทศ นับเป็นประสบการณ์ครั้งสำคัญของชีวิต นอกจากนั้น ยังมีรายได้จากการแสดง ทำให้สามารถแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายจากทางบ้าน ไม่อยากให้คนรุ่นหลังหลงลืมรากเหง้าความเป็นไทย โดยเฉพาะวิชานาฏศิลป์ ซึ่งเป็นศาสตร์ที่ใกล้จะสูญหาย เนื่องจากมีผู้สนใจในสาขานี้ลดลงเรื่อยๆ ฉะนั้น จึงอยากเป็นตัวแทนเยาวชนร่วมสืบทอดให้ศาสตร์แขนงนี้อยู่คู่สังคมไทยตลอดไป
ด้าน อภิสิทธิ์ รองเมือง “น้องเก๊งเก่ง” นักศึกษาชั้นปีที่ 4 โปรแกรมวิชานาฏยรังสรรค์ อีกคนหนึ่ง กล่าวถึงความรู้สึกหลังได้รับคัดเลือกให้เป็นหนึ่งในรุ่นพี่ที่ร่วมฝึกอบรมว่า รู้สึกเป็นเกียรติและดีใจมากที่ได้รับโอกาสในการถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับการรำวงมาตรฐาน 10 เพลง ให้น้องๆ รุ่นหลังที่มีใจรักด้านนาฏศิลป์ รำไทย อยากให้เยาวชนได้เรียนรู้และร่วมกันอนุรักษ์วิชานาฏศิลป์ ซึ่งจุดมุ่งหมายของตนเมื่อเรียนจบจากรั้วมหาวิทยาลัย ก็อยากเป็นคุณครูสอนวิชานาฏศิลป์ แม้สาขานี้จะไม่มีใบรับรองวิชาชีพครู แต่จะไปเรียนเพิ่มเติม เพราะอยากมีส่วนร่วมถ่ายทอดวิชานาฏศิลป์ให้แก่เยาวชนรุ่นหลังได้มีโอกาสได้เรียนรู้สืบต่อไป
ณิชากร เจริญสุข “น้องนีล” นักศึกษาชั้นปีที่ 2 โปรแกรมวิชาดนตรีไทย กล่าวว่า เดิมทีเลือกเรียนดนตรีไทยตามเพื่อนๆ แต่หลังจากที่ได้เริ่มเรียนรู้ ก็รู้สึกหลงรักดนตรีไทยเป็นอย่างมาก เพราะดนตรีไทยเป็นสิ่งที่แสดงถึงขนบธรรมเนียมประเพณี อีกทั้งคนในอดีตใช้ดนตรีในทุกกิจกรรมตั้งแต่เกิดจนตาย แต่ปัจจุบันดนตรีไทยเริ่มหายไปจากสังคม เพราะถูกดนตรีสากลเข้ามาแทนที่ สังเกตเห็นได้จากงานพิธีการต่างๆ เช่น งานบวช งานศพ ที่ผู้คนมักใช้ดนตรีสมัยสมัยใหม่แทนการเล่นดนตรีไทยเช่นในอดีต เมื่อผู้ถ่ายทอดและผู้รับมีจำนวนน้อย อาจส่งผลให้ดนตรีไทยสูญหายไป ซึ่งคนที่เล่นดนตรีไทยในปัจจุบัน นอกจากจะเล่นเพราะใจรักแล้ว ยังมีส่วนสำคัญในการอนุรักษ์ศาสตร์แขนงนี้ให้ยังคงอยู่ และสามารถสืบทอดต่อไปยังลูกหลานได้
ขณะที่ พัทธดนย์ สัมฤทธิ์ “น้องบิ๊ก” นักศึกษาชั้นปีที่ 3 โปรแกรมวิชาดนตรีไทย เผยว่า เริ่มเรียนดนตรีตั้งแต่ระดับประถมศึกษา ทำให้รู้สึกรักและผูกพันกับดนตรีไทยตลอดมา เมื่อมีโอกาสได้เข้ามาศึกษาในโปรแกรมวิชาดนตรีไทย มรภ.สงขลา จึงประจักษ์ว่าปัจจุบันจำนวนคนที่สนใจศาสตร์ด้านนี้มีน้อยมาก เห็นได้จากจำนวนเพื่อนร่วมชั้นที่มีเพียง 7 คนเท่านั้น ตนจึงอยากเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมอนุรักษ์ดนตรีไทย
ในส่วนของผู้เข้าร่วมอบรมด้านศิลปะ อย่าง ธีรภัทร เส้งบันทึก “น้องเติ้ล” นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 โรงเรียนเทศบาล 4 กล่าวว่า ชื่นชอบในวิชาศิลปะ รู้สึกมีความสุขและผ่อนคลายเมื่อได้วาดภาพระบายสี ดังนั้น จึงได้เลือกอบรมกิจกรรมด้านศิลปะ ซึ่งทำให้ได้เรียนรู้เกี่ยวกับทักษะการวาดภาพและระบายสีจากอาจารย์และพี่ๆ นักศึกษา โดยตนและเพื่อนๆ จากต่างโรงเรียนได้ร่วมกันสร้างสรรค์ผลงาน ฝึกการคิดและจินตนาการ
โครงการร้องรำทำงานศิลป์ เป็นการเรียนรู้ด้วยการฝึกปฏิบัติจริง ทำให้นักศึกษาของ มรภ.สงขลา และผู้เข้าร่วมกิจกรรม เกิดความเชี่ยวชาญในวิชาชีพ สามารถคิดประยุกต์สร้างสรรค์ผลงานใหม่ๆ ทั้งยังเป็นทักษะติดตัวสำหรับนำไปใช้นอกรั้วมหาวิทยาลัยในอนาคต