ส.อ.ท. ผนึก สวทน. ร่วมสร้างภูมิคุ้มกันผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรม ไทย เพิ่มศักยภาพ ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ยกระดับขีดความสามารถการแข่งขัน

ข่าวทั่วไป Monday June 30, 2014 11:20 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--30 มิ.ย.--สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) ต่อยอดความร่วมมือ “โครงการส่งเสริมและสนับสนุนบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการจัดการ จากภาครัฐและสถาบันอุดมศึกษา ไปปฏิบัติงานเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในภาคการผลิตและบริการ” Talent Mobility วันศุกร์ที่ 27 มิถุนายน 2557 เวลา 10.30 น. ณ ห้อง ส.อ.ท. 1 ชั้น 4 สภาอุตสาหกรรมฯ โดยมี นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และ ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมแห่งชาติ ร่วมพิธีลงนามดังกล่าว เพื่อดำเนินกิจกรรมและโครงการต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมของประเทศ นายสุพันธุ์ มลคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีการแข่งขันทางการตลาดค่อนข้างสูง ส่งผลให้ผู้ผลิตจำเป็นจะต้องเปลี่ยนแปลงยุทธศาสตร์การผลิต จากเดิมที่เน้นการแข่งขันทางด้านราคาเป็นหลัก เปลี่ยนเป็นการแข่งขันทางด้านคุณภาพของสินค้า ตลอดจนคิดค้นหานวัตกรรมใหม่ๆ มาพัฒนากระบวนการผลิตและคุณภาพสินค้าให้มากยิ่งขึ้น ซึ่งการพัฒนาคุณภาพและนวัตกรรมใหม่ๆ จำเป็นต้องใช้บุคลากรทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) ที่มีความรู้ ความสามารถเข้ามาร่วมพัฒนาด้วย แต่บุคลากรดังกล่าวทำงานในสถาบันการศึกษาหรือหน่วยงานวิจัยของภาครัฐเป็นส่วนใหญ่ สำหรับในส่วนของภาคเอกชนก็ยังมีความต้องการบุคลากรทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เป็นจำนวนมากโดยเฉพาะผู้ประกอบการอุตสาหกรรมซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ เพื่อช่วยให้ภาคอุตสาหกรรมโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ที่มีอยู่ประมาณร้อยละ 90 ของประเทศ ให้มีศักยภาพที่สูงขึ้น ทั้งในด้านของการผลิต การพัฒนาผลิตภัณฑ์ ตลอดจนการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม ให้สามารถแข่งขันได้ ซึ่งจะส่งผลต่อเศรษฐกิจในระดับ มหภาคของประเทศไทยต่อไป ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ(สวทน.) กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการ Talent Mobility เป็นกลไกหนึ่งที่สำคัญในการช่วยเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันในภาคการผลิตและบริการ โดยอาศัยบุคลากรด้าน วทน. ที่มีอยู่ในภาครัฐและสถาบันอุดมศึกษาเข้าไปฝังตัวในสถานประกอบการเพื่อวิเคราะห์ปัญหาและความต้องการที่แท้จริง นอกจากนี้ บุคลากรด้าน วทน. ที่เข้าไปปฏิบัติงานในสถานประกอบการ จะได้เรียนรู้โจทย์ความต้องการจริงในสถานประกอบการ เพื่อนำไปใช้ในการเรียนการสอนและการวิจัยภายในสถาบันอุดมศึกษาต่อไป อีกทั้งบุคลากรด้าน วทน. สามารถนำนักศึกษาระดับปริญญาตรี โท เอก เข้าไปเป็นผู้ช่วยวิจัยได้ด้วย ซึ่งจะถือได้ว่าเป็นการเตรียมความพร้อมในการพัฒนาบุคลากรด้าน วทน. ประเทศในระยะยาว สำหรับความร่วมมือในครั้งนี้ สภาอุตสาหกรรมฯ ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ ได้ลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) “โครงการส่งเสริมและสนับสนุนบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและการจัดการ จากภาครัฐและสถาบันอุดมศึกษา ไปปฏิบัติงานเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในภาคการผลิตและบริการ” (Talent Mobility) ซึ่งเป็นโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อสมาชิกของสภาอุตสาหกรรมฯโดยเฉพาะอย่างยิ่งสมาชิกสภาอุตสาหกรรมจังหวัด และผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม โดยการส่งเสริมสนับสนุนให้บุคลกรทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ในภาครัฐเข้าไปปฏิบัติงานในสถานประกอบการ เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการอุตสาหกรรม ในการพัฒนาศักยภาพการผลิต การแก้ปัญหาเชิงเทคนิคต่างๆ รวมถึงการวิเคราะห์ทดสอบและระบบมาตรฐาน การจัดการ ไม่ว่าจะเป็นด้านการผลิต หรือด้านการบริการ ทำให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมสามารถใช้ประโยชน์จากการวิจัยและพัฒนา และบุคลากรวิจัย ในการเพิ่มประสิทธิภาพให้กับการผลิต พัฒนาศักยภาพและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมไทยได้อย่างแท้จริง ความร่วมมือระหว่าง ส.อ.ท. และ สวทน.อย่างต่อเนื่องเช่นนี้ จะทำให้เกิดการวิจัย พัฒนา นวัตกรรม และเทคโนโลยีในภาคอุตสาหกรรมซึ่งจะเป็นการเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้ภาคอุตสาหกรรมเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการ โดยการพัฒนาอุตสาหกรรมไทยให้ก้าวไกลด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศต่อไป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ