กรุงเทพฯ--30 มิ.ย.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์
กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เร่งเดินหน้ายกระดับคุณภาพผลิตภัณฑ์หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) ประเภทผ้าและเครื่องแต่งกาย ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์จากภูมิปัญญาท้องถิ่นของไทยให้ก้าวไปสู่เวทีโลก ผ่าน “โครงการยกระดับผลิตภัณฑ์ โอทอป ประเภทผ้าและเครื่องแต่งกายด้วยนวัตกรรม” ภายใต้ “โครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) ประเภทผ้าและเครื่องแต่งกายก้าวสู่สากล” ให้กับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนประเภทผ้าและเครื่องแต่งกายจากทั่วประเทศ จำนวน 80 กลุ่ม โดยมุ่งเน้นไปที่ผลิตภัณฑ์ระดับ A B และ C หรือโอทอประดับ 4 - 5 ดาว ภายใต้หลักการ “การตลาดนำการผลิตควบคู่กับการพัฒนาศักยภาพของผู้ผลิต” เน้นการพัฒนา 3P คือ คน (People) และผลิตภัณฑ์ (Product) และการพัฒนากระบวนการผลิต (Process) ซึ่งจะเป็นการพัฒนาการจัดการองค์ความรู้ (Knowledge Management) ให้แก่วิสาหกิจชุมชนในการนำนวัตกรรมมาใช้ให้เกิดเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ และมีความโดดเด่น แต่ยังคงไว้ซึ่งเอกลักษณ์เฉพาะตัว นอกจากนี้ยังส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีคุณภาพสูงเหนือคู่แข่งในอาเซียน เพื่อรองรับการขยายช่องทางการตลาดที่เพิ่มสูงขึ้นทั้งในและต่างประเทศ ล่าสุดได้ลงนามความร่วมมือในการพัฒนาผลิตภัณฑ์โอทอปในกลุ่มพื้นที่ภาคอีสานประมาณ 40 กลุ่ม งานดังกล่าวจัดขึ้นเมื่อเร็ว ๆ นี้ ณ ห้องออคิดบอลรูม 2 ชั้น 2 โรงแรมพูลแมน ขอนแก่น ราชาออคิด จังหวัดขอนแก่น โดยมีผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชนเข้าร่วมงานเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้ โครงการดังกล่าว ตั้งเป้าในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ไม่น้อยกว่า 80 ผลิตภัณฑ์ และคาดว่าจะสามารถยกระดับผลิตภัณฑ์ให้ครองใจผู้บริโภค รวมถึงสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลิตภัณฑ์โอทอป ประเภทผ้าและเครื่องแต่งกายได้เพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่าร้อยละ 10 - 20
นายกอบชัย สังสิทธิสวัสกิ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) กล่าวว่า การก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน นับเป็นความท้าทายที่ผู้ประกอบการไทยไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการขนาดใหญ่ SMEs หรือแม้แต่วิสาหกิจชุมชนจำเป็นต้องปรับตัวเพื่อรองรับความปลี่ยนแปลงจากการเปิดการค้าเสรี และการแข่งขันทางการค้าที่จะทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ซึ่งกลุ่มประเทศสมาชิก AEC ล้วนแล้วแต่มีผลิตภัณฑ์โอทอบที่คล้ายคลึกกัน ดังนั้น การพัฒนาผลิตภัณฑ์โอทอปของไทยให้สามารถแข่งขัน
ได้ จึงจำเป็นต้องมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีความโดดเด่น และแตกต่าง แต่ยังคงไว้ซึ่งความเป็นเอกลักษณ์และอัตลักษณ์ของภูมิปัญญาเชิงวัฒนธรรมไทย อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่พบในสินค้าโอทอปไทย คือ ส่วนใหญ่เป็นวิสาหกิจชุมชน ทำให้ประสบปัญหาด้านความสามารถในการผลิตผลิตภัณฑ์ในปริมาณมาก ๆ รวมถึงไม่ได้รับการพัฒนาทางด้านนวัตกรรมเท่าที่ควร ส่งผลให้ไม่สามารถตอบโจทย์คำสั่งซื้อของประเทศคู่ค้าได้ ด้วยเหตุนี้ กสอ. จึงมีแนวคิดในการพัฒนาวิสาหกิจชุมชนให้ผลิตผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ มีความแตกต่างเหนือคู่แข่งทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ สามารถรองรับคำสั่งซื้อของประเทศคู่ค้าได้ โดยการนำแนวทางอุตสาหกรรมเชิงสร้างสรรค์ (Creative Industry) ตามนโยบายของรัฐบาล มาประยุกต์ใช้เพื่อเพิ่มมูลค่า และสร้างความแตกต่างของผลิตภัณฑ์
นายกอบชัย กล่าวต่อว่า การเพิ่มมูลค่าสินค้าโอทอปด้วยทุนทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญา เป็นนโยบายเร่งด่วนที่ กสอ. ให้ความสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการยกระดับคุณภาพผลิตภัณฑ์ผ้าและเครื่องแต่งกายวิสาหกิจชุมชน ซึ่งในประเทศไทยมีจำนวน 17,196 ผลิตภัณฑ์ (ที่มา : กรมการพัฒนาชุมชน พ.ศ.2555) จึงได้ดำเนิน “โครงการยกระดับผลิตภัณฑ์โอทอป ประเภทผ้าและเครื่องแต่งกายด้วยนวัตกรรม” ซึ่งเป็นกิจกรรมภายใต้ “โครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) ประเภทผ้าและเครื่องแต่งกายก้าวสู่สากล” โดยร่วมมือกับ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในการพัฒนากลุ่มวิสาหกิจชุมชนโอทอปทั่วประเทศ เฉพาะกลุ่ม A B และ C หรือผลิตภัณฑ์โอทอประดับ 4 - 5 ดาวเท่านั้น ประมาณ 80 กลุ่ม โดยมีเป้าหมายในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ไม่น้อยกว่า 80 ผลิตภัณฑ์ ซึ่งได้ลงนามความร่วมมือแล้ว 2 ครั้ง คือ กลุ่มวิสาหกิจภาคเหนือ จังหวัดเชียงใหม่ กลุ่มวิสาหกิจภาคกลางและภาคใต้ที่กรุงเทพฯ และครั้งล่าสุด ในพื้นที่ภาคอีสานที่จังหวัดขอนแก่น โดยมีวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่ภาคอีสานเข้าร่วมโครงการประมาณ 40 กลุ่ม ทั้งนี้ กรมฯ กำหนดกลยุทธ์ในการพัฒนาวิสาหกิจชุมชนใน 4 ด้าน ได้แก่ 1. ด้านการพัฒนารูปแบบและบรรจุภัณฑ์ 2. ด้านนวัตกรรม 3. ด้านมาตรฐาน และ 4. ด้านการทดสอบตลาดเพื่อรับฟังเสียงตอบรับจากผู้บริโภค โดยใช้หลักการ “การตลาดนำการผลิตควบคู่กับการพัฒนาศักยภาพของผู้ผลิต” เน้นการพัฒนา 3P คือ การพัฒนาคน (People) การพัฒนาผลิตภัณฑ์ (Product) และการพัฒนากระบวนการผลิต (Process) ซึ่งจะเป็นการพัฒนาการจัดการองค์ความรู้ (Knowledge Management) ให้แก่วิสาหกิจชุมชนในการนำนวัตกรรมมาใช้ เพื่อให้เกิดผลิตภัณฑ์ใหม่และมีความโดดเด่นแต่ยังคงเอกลักษณ์เฉพาะตัว และพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีคุณภาพสูงเหมาะสมกับการใช้งานด้านต่าง ๆ เพื่อรองรับการขยายช่องทางการตลาดที่เพิ่มมากขึ้นทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยคาดว่าจะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลิตภัณฑ์โอทอปประเภทผ้าและเครื่องแต่งกายได้เพิ่มขึ้น ร้อยละ 10 – 20
ทั้งนี้ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กำหนดลงนามความร่วมมือ “โครงการยกระดับผลิตภัณฑ์โอทอป ประเภทผ้าและเครื่องแต่งกายด้วยนวัตกรรม” กลุ่มพื้นที่ภาคอีสาน งานดังกล่าวจัดขึ้นเมื่อเร็ว ๆ นี้ ณ ห้องออคิด บอลรูม 2 ชั้น 2 โรงแรมพูลแมน ขอนแก่น ราชาออคิด จังหวัดขอนแก่น โดยมีผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชนเข้าร่วมงานเป็นจำนวนมาก