กรุงเทพฯ--30 มิ.ย.--สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ
จากรณีที่ช่วงระยะเวลานี้กีฬาฟุตบอลกำลังเป็นที่สนในของคนทั่วโลก ซึ่งนอกจากเทศกาลการแข่งขันฟุตบอลโลกจะนำความสนุกสนานมาให้ผู้รับชมกีฬาแล้ว ในขณะเดียวกันก็มีนักกีฬาอีกจำนวนมากที่ต้องบาดเจ็บและป่วยฉุกเฉินในขณะที่ทำการแข่งขันฟุตบอล ไม่ว่าจะเป็นการหยุดหายใจ หรือหัวใจหยุดเต้น ทำให้สหพันธ์ฟุตบอลระหว่างประเทศ หรือ ฟีฟ่า ได้ออกข้อกำหนดว่าการแข่งขันฟุตบอลระดับนานาชาติจะต้องมีเครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าชนิดอัตโนมัติ (AED) รถพยาบาลและทีมแพทย์ประจำสนาม ซึ่งเรื่องนี้เองก็ทำให้วงการการแข่งขันฟุตบอลในประเทศไทยได้ให้ความสำคัญต่อกรณีนี้เช่นกัน
โดยนพ.ไพศาล จันทรพิทักษ์ ว่าที่กรรมการการแพทย์ฉุกเฉิน (กพฉ.) และ กรรมการฝ่ายแพทย์ คณะกรรมการฝ่ายแพทย์สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ FIFA Sports Medicine Panel of Doctors กล่าวว่า จากที่มีข้อกำหนดของฟีฟ่าและประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในสมาชิกสหพันธ์ฟุตบอลเอเชียหรือ AFC เราก็ได้รับการแจกเครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าชนิดอัตโนมัติ หรือเครื่อง automated external defibrillator, AED มาจำนวน 2 เครื่อง ซึ่งตนเห็นว่าเรื่องนี้เป็นประโยชน์มากจึงได้ดำเนินการผลักดันให้สมาคมฟุตบอลมีการจัดซื้อเครื่อง AED แจกจ่ายให้กับสโมสรฟุตบอลต่างๆ เพิ่มเติม โดยขณะนี้ได้มอบให้สโมสรต่างๆแล้ว 20 ทีม และในอนาคตจะผลักดันให้มีการติดตั้งในสนามกีฬาทุกทีม รวม 38 ทีม ทั้งในการแข่งขันไทยพรีเมียร์ลีกและการแข่งขันอื่นๆ ด้วย นอกจากนี้ตนยังจะทำการผลักดันให้สมาคมกีฬาประเภทอื่นๆ ติดตั้งเครื่อง AED ไว้ในสนามกีฬาของตนเองด้วย เนื่องจากนักกีฬามีภาวะความเสี่ยงสูงที่จะเกิดอาการหัวใจหยุดเต้นได้ นอกจากนี้ในสถานที่ออกกำลังกายทุกแห่งก็ควรมีการติดตั้งเครื่องนี้ด้วย ซึ่งตนจะผลักดันให้มีกฎหมายบังคับให้มีการติดตั้งเครื่อง AED ในบริเวณที่มีคนอยู่เป็นจำนวนมาก เช่นศูนย์การค้า สวนสาธารณะ เหมือนที่ในต่างประเทศบังคับใช้ ซึ่งจะมีการจัดอบรมให้ประชาชนสามารถใช้งานเครื่อง AED ด้วยตนเองให้ได้ด้วย
ว่าที่กรรมการการแพทย์ฉุกเฉิน (กพฉ.) และ กรรมการฝ่ายแพทย์ ประธานคณะกรรมการฝ่ายแพทย์สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ FIFA Sports Medicine Panel of Doctors กล่าวอีกว่า สำหรับการจัดบริการทางการแพทย์ฉุกเฉินในสนามแข่งขันฟุตบอลจะต้องมีการจัดการดังนี้ แต่ละทีมฟุตบอลที่เข้าร่วมการแข่งขันจะต้องมีแพทย์ประจำทีม ต้องเตรียมรถพยาบาล จำนวน 2 ชุด พร้อมแพทย์ประจำสนาม 1 คน เพื่อ ให้มีความพร้อมในการดูแลภาวะฉุกเฉินในสนามแข่งขัน พร้อมที่จะนำผู้บาดเจ็บส่งไปยังโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด หรือ โรงพยาบาลที่รับผิดชอบในการแข่งขันนั้นๆ การที่จำเป็นต้องมีรถพยาบาล 2 คัน เพราะเมื่อถึงคราวที่ต้องส่งโรงพยาบาลและการแข่งขันยังไม่เสร็จสิ้น อาจมีกรณีฉุกเฉินรายต่อไปเกิดขึ้นได้ นอกจากนี้ควรมีการซักซ้อมกรณีการเกิดสาธารณภัยหมู่เช่นการจราจลระหว่างการแข่งขันด้วย
ด้าน นพ.อนุชา เศรษฐเสถียร เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กล่าวว่า เครื่อง AED จะใช้ป้องกันและแก้ปัญหากรณีผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจขาดเลือดหรือผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน ซึ่งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้นๆ ของประเทศไทย รวมถึงนักกีฬาฟุตบอลด้วย การแก้ปัญหาที่ดีคือต้องทำให้เกิดความพร้อมในการช่วยเหลือมากขึ้น ทั้งเรื่องการปฐมพยาบาล การช่วยฟื้นคืนชีพ และการช่วยเหลือโดยการใช้เครื่อง AED ประเทศที่เจริญแล้วทั้งญี่ปุ่น อเมริกา และยุโรปพิสูจน์มาแล้วว่าการช่วยฟื้นคืนชีพและการใช้เครื่อง AED เพิ่มโอกาสการรอดชีวิต เราจึงควรมีการผลักดันและรณรงค์ให้มีการติดตั้งเครื่อง AED ในพื้นที่สาธารณะ รวมทั้งควรฝึกให้บุคลากรในพื้นที่สาธารณะนั้นๆ และประชาชนใช้เครื่อง AED ให้ได้ทั่วประเทศ และใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วย
เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กล่าวอีกว่า การช่วยชีวิตคนนั้นมีอยู่ 3 Hที่ผู้เข้าให้การช่วยเหลือจะต้องเรียนรู้ ซึ่ง H ที่หนึ่งคือ Hazardอันตรายหรือภาวะเสี่ยง คือการเหลียวดูว่าบริเวณที่ผู้ป่วยอยู่นั้นมีอะไรอันตรายบ้างที่จะมีผลกระทบต่อผู้ป่วยฉุกเฉิน H ที่สองคือ Help คือการช่วยเหลือโดยโทรผ่านสายด่วน 1669พร้อมทั้งทำการปฐมพยาบาลตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ และ Hที่ 3 คือ Hello คือการเข้าไปปลุกเรียกผู้ป่วยฉุกเฉิน ซึ่งหากผู้ป่วยไม่ตอบสนองจากการช่วยเหลือตามแนวทางสาม H แล้วให้ผู้เข้าให้การช่วยเหลือทำการฟื้นคืนชีพทันทีและรีบนำเครื่อง AED เข้ามาช่วยในการฟื้นคืนชีพก็จะทำให้โอกาสรอดชีวิตของผู้ป่วยฉุกเฉินเพิ่มมากขึ้นได้ ทั้งนี้เราสามารถตรวจสอบคลื่นหัวใจว่ามีความผิดปรกติหรือไม่เมื่อมีการเปิดใช้งานเครื่อง AED โดยผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจผิดปรกติคลื่นหัวใจจะเป็นเส้นคลื่นตัวหนอน และถ้าไม่ได้รับการช่วยเหลืออย่างทันท่วงทีคลื่นหัวใจจะเป็นส้นตรงหยุดนิ่ง ซึ่งในระหว่างที่คลื่นหัวใจเป็นตัวหนอนถ้าได้รับการช่วยฟื้นคืนชีพด้วยการกระตุกไฟฟ้าเร็วเท่าไหร่อัตราการรอดชีวิตก็จะสูงขึ้นมากเท่านั้น