ความคุ้มค่าของเทคโนโลยีในการศึกษา ต้องมาจากเป้าหมายในการใช้งานเพื่อสร้างเยาวชนให้คิดเป็น ทำงานได้

ข่าวเทคโนโลยี Tuesday July 1, 2014 10:19 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--1 ก.ค.--คาร์ลบายร์ แอนด์ แอสโซซิเอทส์ แนวทางการพัฒนาทางการศึกษาที่หลายประเทศทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยให้ความสำคัญอย่างยิ่งคงไม่พ้นเรื่องการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุด อย่างไรก็ตามประเด็นของการเลือกเทคโนโลยีที่เหมาะสมยังคงมีหลายแง่มุมที่สถานศึกษาจำเป็นจะต้องให้ความสำคัญ เพราะการใช้เทคโนโลยีในโรงเรียนนั้น อาจจะไม่ได้ให้ประโยชน์เต็มที่ หากผู้บริหารสถานศึกษาไม่ตระหนักถึงศักยภาพของเทคโนโลยีในการเตรียมเยาวชนไทยให้คิดเป็นทำงานได้ และไม่ได้บริหารจัดการให้เกิดการเข้าถึงและการใช้งานเทคโนโลยีในรูปแบบที่เกิดประโยชน์ในการพัฒนาความสามารถผู้เรียน สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) จึงได้ เปิดตัวโครงการฝึกอบรมเพื่อส่งเสริมการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีโทรคมนาคมในการพัฒนาการศึกษา NBTC Education Executive Roadshow 2014 ให้แก่ผู้บริหารโรงเรียนและครูในสังกัดสำนักงานการศึกษาขั้นพื้นฐาน 4 ภูมิภาคทั่วประเทศ เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีให้แก่ผู้บริหารหน่วยงานการศึกษาทั่วประเทศ และเพื่อให้มีผลช่วยยกระดับเยาวชนไทย ใช้เทคโนโลยีโทรคมนาคมพัฒนาการศึกษาในยุค 4G ร้อยโท ดร. เจษฎา ศิวรักษ์ เลขานุการรองประธาน สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ กล่าวถึงความสำคัญสำคัญของการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในการศึกษาว่า “หนึ่งในเป้าหมายหลักของ กสทช. ก็คือการสนับสนุนการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในภาคการศึกษาอย่างเหมาะสม ทันท่วงที และมีประสิทธิภาพ เพื่อสร้างความเท่าเทียมให้กับคนทั่วประเทศไทย ดังนั้นเรามุ่งมั่นที่จะเดินหน้าสร้างเครือข่ายให้ทุกคนได้เขาถึงและใช้อินเตอร์เน็ตได้อย่างเท่าเทียม โดยเฉพาะในเรื่องของการศึกษา ซึ่งเรามองว่าเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง แล้วเมื่อทั้งประเทศได้เข้าเป็นเครือข่ายเดียว ครูและนักเรียนทั่วประเทศสามารถที่จะได้รับประโยชน์จากการกระจายเนื้อหาอย่างทั่วถึงและรวดเร็ว และนอกจากนั้น กสทช. ยังมีความสนใจที่จะส่งเสริมให้มีการผลิตสื่อท้องถิ่น เพื่อสร้างมิติการเรียนรู้ใหม่ๆ ให้เกิดประโยชน์ในวงกว้างอีกด้วย” กิจกรรมการฝึกอบรมครั้งแรกนั้นมีการบรรยายและเสวนาที่ครอบคลุมแง่มุมต่างๆ ของเทคโนโลยีที่มีบทบาทในการศึกษาเช่น การบรรยายเรื่อง “บทบาทสำคัญของผู้บริหารการศึกษาในการเลือกสรรเทคโนโลยีที่ใช่” ซึ่งมีจุดประสงค์เพื่อเน้นย้ำบทบาทสำคัญของผู้บริหารการศึกษาในการเลือกสรรและจัดให้มีเทคโนโลยีที่เหมาะสม ตรงกับความต้องการของโรงเรียน รวมทั้งเสริมสร้างครูผู้สอนให้มีความเข้าใจในการนำเทคโนโลยีมาใช้จัดการเรียนการสอน โดยไม่เพียงมุ่งหวังสร้างความรู้ แต่ยังคำนึงถึงการสร้างขีดความสามารถให้กับเยาวชนด้วย เพราะหากครูใช้เทคโนโลยีเพียงเพื่อเป็นอีกทางหนึ่งที่จะป้อนข้อมูล การลงทุนทางเทคโนโลยีต่างๆ ก็จะไม่สามารถก่อให้เกิดประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ โดย ดร.ครรชิต มาลัยวงศ์ ราชบัณฑิต สาขาวิชาคอมพิวเตอร์ กล่าวว่า “โรงเรียนและสถานศึกษาต่างๆ จะก้าวทันสังคมไอทีในระดับแนวหน้าได้นั้นขึ้นอยู่กับวิสัยทัศน์ของผู้บริหารการศึกษาที่เข้าใจความก้าวหน้าและผลกระทบของเทคโนโลยี เข้าใจหลักการและแนวคิดของการศึกษาอิงระบบและอุปกรณ์ไอทีในยุคใหม่ นำเทคโนโลยีที่เหมาะสมเข้ามาใช้ในโรงเรียนและสถานศึกษา จัดฝึกอบรมให้อาจารย์ใช้การสอนแบบใหม่ ปรับปรุงการสอนให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องคิดใหม่ไปถึงอนาคต เราต้องช่วยกันคิดว่า อีก 20 – 30 ปีข้างหน้าเราต้องการให้คนไทยเป็นอย่างไร และเราจะต้องใช้ไอทีเพื่อช่วยให้บรรลุเป้าหมายนี้ได้อย่างไร เทคโนโลยีแบบไหน ที่เราควรเลือกมาใช้เพื่อหล่อหลอมให้คนไทยมีลักษณะตามที่เราต้องการ นอกจากนั้น เราจะสร้างและพัฒนาอาจารย์เพื่อสนับสนุนแนวทางนี้ได้อย่างไร โดยสถานศึกษาจะต้องร่วมมือกัน และถึงเวลาแล้วที่ผู้บริหารการศึกษาทุกคนจะต้องเริ่มคิดที่จะพัฒนาและเลือกใช้เทคโนโลยีที่สามารถจะพัฒนาคนไทยยุคใหม่ได้จริง” สำหรับในช่วงเสวนาที่มีหัวข้อว่า “ห้องเรียนอนาคต: ทลายกำแพงการเรียนรู้ สู่ความสำเร็จในการจัดการศึกษา” มีผู้ร่วมเสวนาอาทิ นายมนต์ชัย กุณฑีกนก ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาธุรกิจบริษัท อินเทล ไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งให้ข้อคิดเกี่ยวกับห้องเรียนอนาคต หรือ ห้องเรียนอัจฉริยะว่า “จากประสบการณ์ของอินเทล ที่ได้ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาให้แก่หลายโรงเรียนทั่วประเทศ ปัจจัยพื้นฐานที่โรงเรียนควรจะมีเพื่อให้การใช้เทคโนโลยีเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ประกอบด้วย เครื่องคอมพิวเตอร์ซึ่งอาจจะเป็นแท็บเล็ตหรือ โน้ตบุ๊กแบบ 2in1 การเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตและเซิร์ฟเวอร์ เนื้อหาการเรียนการสอนสำหรับนักเรียน และที่สำคัญที่สุดคือบุคลากรครูที่สามารถใช้เทคโนโลยีได้อย่างเข้าใจ โดยสามารถประยุกต์เข้ากับหลักสูตรได้” นอกจากนั้น รศ. ดร. บุญญฤทธิ์ อุยยานนวาระ จากสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร (SIIT) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้กล่าวเพิ่มเติมว่าในปัจจุบันพฤติกรรมของเด็กเปลี่ยนไปตามสภาพแวดล้อมและเทคโนโลยี สื่อการเรียนรู้ที่ครูสามารถเลือกมาใช้ประกอบการเรียนการสอนมีเพิ่มมากขึ้นอย่างมหาศาล ตัวอย่างแหล่งเรียนรู้ในภาษาไทย เช่น www.learningspace.ipst.ac.th และ www.thaigoodview.com และยังมีแหล่งเรียนรู้ในภาษาอังกฤษอีกมากมาย การเรียนการสอนในปัจจุบันจึงจะเน้นการพัฒนาผู้เรียนให้มีความสามารถในการคิดอย่างมีวิจารณญาณ ไม่ใช่การจำเหมือนสมัยก่อน ดังนั้นไม่ใช่เทคโนโลยีที่เปลี่ยนไปอย่างเดียว การสอนของครูก็ต้องเปลี่ยน ต้องประยุกต์ให้นักเรียนใช้เทคโนโลยีในการค้น การวิเคราะห์ การสร้างสรรค์ และการสื่อสารด้วย นอกจากนั้น ภายในการอบรมครั้งนี้ยังได้รับเกียรติจาก รศ.ยืน ภู่วรวรรณ ที่ปรึกษาและผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมบรรยายในหัวข้อ “ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีอุบัติใหม่ เปิดโอกาสการเรียนรู้ทุกตารางนิ้วในโรงเรียน” ซึ่งเน้นย้ำว่าครูต้องมีทักษะที่เหมาะกับจุดเน้นของการศึกษาที่เปลี่ยนไป เหมาะสมกับลักษณะของคนรุ่นใหม่ ครูต้องสามารถสร้างสภาพแวดล้อมให้นักเรียนอยากเรียนโดยนำเทคโนโลยีมาเป็นตัวช่วย โดย รศ.ยืน กล่าวทิ้งท้ายว่า “หาวิธีการสอนให้ครู สำคัญน้อยกว่าหาวิธีการเรียนให้เด็ก” กิจกรรมการจัดอบรมสำหรับผู้บริหารการศึกษานั้น ในแต่ละครั้งจะใช้เวลา 1 วัน ประกอบด้วยการบรรยาย เสวนา และสาธิตเกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีโทรคมนาคมสนับสนุนการจัดการศึกษา โดยจัดขึ้น 4 ครั้ง ในภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร เพชรบุรี นครราชสีมา และเชียงใหม่

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ