กรุงเทพฯ--1 ก.ค.--PRDD
นายสมิทธ์ พนมยงค์ กรรมการผู้อำนวยการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด เปิดเผยว่า บลจ.ไทยพาณิชย์ ได้รับการประกาศอันดับบริษัทจัดการกองทุนภายในประเทศ (National Scale Asset Manager Rating) จาก บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด เป็นปีที่ 4 โดยคงอันดับเครดิตที่ “Highest Standards (tha)” แสดงถึงการที่บริษัทมีการจัดการด้านปฏิบัติการและการลงทุน ที่ฟิทช์คิดว่าโดดเด่นกว่ามาตรฐานที่นักลงทุนสถาบันภายในประเทศใช้ในการพิจารณาบริษัทจัดการลงทุนเป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน จาก 2 ปีแรกที่ “M2+(tha)”
ทั้งนี้จากการประกาศของฟิทช์ สำหรับการคงอันดับบริษัทจัดการกองทุนของบลจ.ไทยพาณิชย์ สะท้อนถึงการที่บริษัทมีชื่อเสียงที่ดีและเป็นที่รู้จักในธุรกิจการบริหารจัดการกองทุนในประเทศไทย การที่บริษัทมีผู้บริหารระดับสูงและบุคลากรทางด้านการลงทุนที่มีประสบการณ์ กระบวนการลงทุนที่เป็นระบบ การมีส่วนแบ่งทางการตลาดที่สูง รวมถึงได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) (อันดับเครดิต’AA (tha)’/แนวโน้มมีเสถียรภาพ/’F1+(tha)’) ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่รายเดียวของบริษัท โดยบลจ.ไทยพาณิชย์ ได้รับประโยชน์จากการที่ธนาคารไทยพาณิชย์มีสาขาเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้บริษัทยังได้รับประโยชน์จากการโอนสายงานด้านการบริหารจัดการความเสี่ยง ด้านการกำกับและควบคุม และด้าน IT ไปยังธนาคารไทยพาณิชย์ซึ่งมีความพร้อมสูงทั้งทางด้านบุคลากรและทรัพยากรในสายงานดังกล่าว
นอกจากนี้ธนาคารไทยพาณิชย์ ได้ให้ความสำคัญต่อธุรกิจการบริหารจัดการกองทุนและให้การสนับสนุนทั้งทางด้านการปฏิบัติงานและทางด้านการเงิน ด้วยความหลากหลายของผลิตภัณฑ์บลจ.ไทยพาณิชย์ นอกจากความโดดเด่นในกองทุนตราสารหนี้และกองทุนรวมตลาดเงิน ยังมีกองทุนตราสารทุน กองทุนผสมที่ลงทุนทั้งในและต่างประเทศ กองทุนที่ลงทุนในตราสารมากกว่า 1 ประเภท (multi asset class) ซึ่งรวมถึงกองทุนที่ลงทุนในต่างประเทศ และกองทุนที่สะท้อนถึงระดับความเสี่ยงที่รับได้ของผู้ลงทุนแต่ละประเภท (risk target funds) นอกจากนี้บริษัทยังเน้นกลยุทธ์ customer centric โดยการยึดเอาความต้องการของลูกค้าเป็นจุดศูนย์กลางในการเสนอผลิตภัณฑ์แก่ลูกค้าสถาบันประเภทกองทุนสำรองเลี้ยงชีพและกองทุนส่วนบุคคล
ขณะเดียวกันฟิทช์มองว่าบลจ.ไทยพาณิชย์มีกรอบนโยบายการบริหารจัดการและการควบคุมความเสี่ยงที่แข็งแกร่ง โดยอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของธนาคารไทยพาณิชย์ซึ่งมีความพร้อมสูงทั้งทางด้านบุคลากรและประสบการณ์ ซึ่งกรอบนโยบายหลักดังกล่าวสนับสนุนให้บริษัทสามารถทำหน้าที่บริหารจัดการกองทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีคณะกรรมการบริหารความเสี่ยงของบลจ.ไทยพาณิชย์และฝ่ายบริหารความเสี่ยงของธนาคารไทยพาณิชย์ร่วมกันบริหารความเสี่ยงด้านการปฏิบัติงานและความเสี่ยงด้านการจัดการลงทุน