กรุงเทพฯ--1 ก.ค.--สมาคมนายหน้าอสังหาริมทรัพย์ไทย
สมาคมนายหน้าอสังหาริมทรัพย์ไทยเผยสถานการณ์ตลาดอสังหาริมทรัพย์หลังการปัญหาการเมืองสงบ ผู้บริโภคเกิดความมั่นใจและตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยง่ายขึ้น ส่งผลต่อยอดขายบ้านมือสองเพิ่ม 10-15% วอนภาครัฐออกมาตรการส่งเสริมทั้งเรื่องดอกเบี้ย ภาษีและค่าธรรมเนียมการโอนอย่างถาวร มั่นใจจะช่วยกระตุ้นให้เกิดการซื้อ-ขายธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ทั้งระบบ ย้ำจุดอ่อนนายหน้าไทยไม่มีไลเซ่นส์ห่วงเสียเปรียบต่างชาติหลังเปิดเออีซี
นายแพทย์สมศักดิ์ มุนีพีระกุล นายกสมาคมนายหน้าอสังหาริมทรัพย์ไทย เปิดเผยถึงทิศทางของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์มือสองว่า ภาวะตลาดเริ่มดีตั้งแต่ช่วงไตรมาส 2 เป็นต้นมา แต่หลังจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ามาบริหารประเทศแล้วทำให้สถานการณ์การเมืองสงบ ส่งผลต่อความเชื่อมั่นในการจับจ่ายใช้สอยของประชาชน การตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยจึงมีแนวโน้มที่ดีเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงที่ผ่านมา เนื่องจากยอดขายอสังหาริมทรัพย์มือสองกระเตื้องมากขึ้น เพราะประชาชนตัดสินใจซื้อง่ายขึ้น หากเปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมาพบว่าตลาดมีความเคลื่อนไหวในทิศทางบวกประมาณ 10-15% และหากมีปัจจัยอื่น ๆ เข้ามาช่วย เช่น เศรษฐกิจโลกที่จะส่งผลต่อการลงทุนในธุรกิจอสังหาฯ มากขึ้น หรือแม้เรื่องการส่งออกที่เป็นปัจจัยสำคัญทำให้มีเงินเข้าประเทศ ประชาชนก็จะมีเงินเข้ามาใช้จ่ายในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ นอกจากนี้แล้วหากอัตราดอกเบี้ยซื้อบ้านถูกลงกว่านี้น่าจะช่วยกระตุ้นให้เกิดการตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยได้ ที่สำคัญภาครัฐน่าจะมีมาตรการกระตุ้นการตัดสินใจซื้อของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการลดค่าธรรมเนียมการโอนและภาษีอย่างถาวร น่าจะทำให้ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ทั้งใหม่และมือสองดีขึ้นกว่าเดิมอย่างแน่นอน
นายแพทย์สมศักดิ์ เปิดเผยเพิ่มเติมว่า ในช่วงที่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์มือสองซบเซาในช่วงปลายปีที่ผ่านมาจนถึงไตรมาสที่ 1 ของปีนี้ นายหน้าที่เป็นสมาชิกของสมาคมฯ ได้ให้ความสำคัญกับการฝึกอบรมในหลักสูตรต่าง ๆ ทั้งหลักสูตรของสมาคมฯ และร่วมกับองค์กรอื่น ๆ เพื่อพัฒนาศักยภาพของตนเอง หากเศรษฐกิจดีและประชาชนมีกำลังซื้อตลาดบ้านมือสองจะกลับมาคึกคักอีกครั้งจะได้มีความพร้อมในการทำงาน โดยเฉพาะหลังจากการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ทางสมาคมฯ ได้ตระหนักถึงปัญหาต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้น โดยเฉพาะเรื่องความแตกต่างระหว่างมาตรฐานการทำงาของนายหน้าในระดับนานาชาติ ที่มีความพร้อมมากกว่าทั้งเรื่องของเม็ดเงินในการลงทุน รวมทั้งการมีไลเซ่นส์ให้กับนายหน้าอสังหาริมทรัพย์แล้ว ในขณะที่ประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายออกมาบังคับใช้ จึงอาจมีความเสียเปรียบต่างชาติในด้านต่าง ๆ
“ในขณะนี้สมาคมฯ ได้ให้ความสำคัญกับการดูและและควบคุมจรรยาบรรณและมาตรฐานการทำงานของนายหน้าอสังหาฯ ที่เป็นสมาชิก รวมทั้งมีนโยบายในการพัฒนาความรู้ความสามารถที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์มือสองอย่างต่อเนื่อง ซึ่งน่าจะทำงานแข่งขันกับต่างชาติได้ ในขณะที่นายหน้าทั่วไปที่ไม่มีสังกัดน่าจะทำงานยากขึ้น เนื่องจากประชาชนและลูกค้าจะขาดความเชื่อมั่น เนื่องจากการแข่งขันของธุรกิจในอนาคตผู้บริโภคมีโอกาสเปรียบเทียบและเลือกใช้บริการกับนายหน้าที่ได้มาตรฐานมากเท่านั้น โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับนายหน้าจากสิงคโปร์ซึ่งมีไลเซ่นส์เรียบร้อยแล้ว นอกจากนี้แล้วการที่ประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายส่งผลให้ปริมาณลูกค้าที่มาใช้บริการซื้อ-ขายอสังหาริมทรัพย์ผ่านนายหน้ามีไม่มากเหมือนกับต่างประเทศ เพราะการมีกฎหมายรองรับจะทำให้ลูกค้าเกิดความมั่นใจและไว้วางใจซื้อ-ขายผ่านนายหน้ามากขึ้น หากเปรียบเทียบกับประเทศในตะวันตกอย่างอเมริกา ที่การซื้อ-ขายบ้านมือสองนั้นผ่านนายหน้าเกือบ 100% ในขณะที่ประเทศไทยผ่านนายหน้าเพียงประมาณ 30% ซึ่งถือว่าเป็นสัดส่วนที่น้อยมากเมื่อเปรียบเทียบกับการทำธุรกรรมในประเทศที่มีกฎหมายควบคุมการทำงานของนายหน้า” นายแพทย์สมศักดิ์กล่าวและเปิดเผยเพิ่มเติมว่า ในช่วงที่ยังไม่มีพ.ร.บ.นายหน้าอสังหาริมทรัพย์ ทางสมาคมได้พยายามหามาตรการต่าง ๆ เพื่อช่วยให้ผู้บริโภคเกิดความมั่นใจนายหน้าที่เป็นสมาชิกของสมาคมฯ โดยได้ร่วมกับสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์กรมหาชน)และมหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต ในการจัดมาตรฐานคุณวุฒิวิชาชีพนายหน้าอสังหาริมทรัพย์ โดยแบ่งความสามารถของนายหน้าออกเป็นระดับต่าง ๆ ตามความสามารถ ตั้งแต่ระดับพนักงานทั่วไปจนถึงระดับผู้บริหารองค์กร เพื่อสร้างมาตรฐานการทำงานให้ประชาชนยอมรับและเลือกใช้บริการได้อย่างมั่นใจ