กรุงเทพฯ--2 ก.ค.--คอร์แอนด์พีค
ส่วนใหญ่ของผมบางศีรษะล้านมาจากพันธุกรรม โดยพบปัญหาผมบางในชายไทยที่มีอายุมากกว่า 50 ปี มากถึง 50% ในเพศชาย ส่วนใหญ่จะเริ่มมีอาการในบริเวณ M Shape คือแนวผมด้านหน้าถอยร่นจนกลายเป็นง่ามเหนือขมับทั้ง 2 ด้าน และมีบริเวณกลางศีรษะร่วมด้วย ส่วนเพศหญิงจะเป็นลักษณะผมบางลง ทั่วศีรษะ และมีอาการหนักบริเวณกลางศีรษะ
คนเราจะมีเส้นผมบนศีรษะประมาณ 90,000-140,000 เส้น โดยในหนึ่งตารางเซ็นติเมตรจะมีเส้นผมอยู่ 120-200 เส้น และร่วงไม่เกินวันละ 100 เส้น แต่หากใครที่มีปัญหาผมร่วงเยอะขึ้นเรื่อย ๆ ควรไปปรึกษาแพทย์ โดยแนวทางการรักษานั้น แพทย์จะให้คำปรึกษาและรักษาด้วยการทายาและรับประทานยาใน 1 ปี แรก หากยังไม่ได้ผลก็จะรักษาด้วยการปลูกถ่ายเส้นผม แต่เดิมการผ่าตัดปลูกผมนั้น ต้องใช้บุคลากรเป็นจำนวนมาก และใช้เวลานานในการผ่าตัด ทำให้มีผู้ป่วยที่รอรับบริการอยู่เป็นจำนวนมาก การปลูกถ่ายเส้นผมถูกพัฒนารูปแบบขึ้นเรื่อย ๆ ที่ใช้กันมีอยู่ 3 วิธี คือ
1. วิธีมาตรฐาน การผ่าตัดปลูกถ่ายเส้นผมแบบ strip surgery (strip harvesting follicular unit transplantation) โดยการตัดหนังศีรษะที่มีเส้นผมบริเวณท้ายทอยออกเป็นแผ่น แล้วนำมาหั่นโดยใช้กล้องจุลทัศน์ขยายเพื่อให้ออกมาเป็นทีละกอผม (follicular unit) แล้วไปปลูกในบริเวณที่มีปัญหา ซึ่งเป็นการปลูกถ่ายผมที่ทำให้เกิดแผล
2. วิธีใช้เครื่องมือทำการเจาะ เรียกว่า FUE (follicular unit extraction) โดยใช้หัวเจาะเล็ก ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1 มิลลิเมตร เจาะเส้นผมบริเวณท้ายทอย ดึงกอผมออกมาทีละกอ (follicular unit) แล้วไปปลูกในบริเวณที่มีปัญหา ซึ่งเป็นการปลูกถ่ายเส้นผมแบบไร้แผล
3. วิธีใช้หุ่นยนต์ปลูกถ่ายเส้นผมอัตโนมัติ 4 มิติ ซึ่งถูกพัฒนาขึ้นเรื่อย ๆ โดยสนับสนุนการทำงานของแพทย์ด้วยระบบคอมพิวเตอร์ในการผ่าตัดปลูกถ่ายรากผมแบบอัตโนมัติ ที่ปลายแขนของหุ่นยนต์จะมีระบบกล้องที่มองเห็นภาพได้เสมือนสายตาคน จึงช่วยวิเคราะห์ตัวแปรต่าง ๆ เช่น ทิศทางการงอกของเส้นผมองศา และความลึกของรากผมทุกเส้นการทำการเจาะรากผม จึงทำให้รากผมที่มีคุณภาพดีเท่ากันทุกเส้น และแม่นยำตลอดการปลูกถ่ายเส้นผม
หุ่นยนต์แขนกล ประกอบด้วย กล้องสแกนองศาของรากผม มีหัวเจาะสำหรับเจาะโดยประมวลผลจากคอมพิวเตอร์ ช่วยให้แขนกลเข้าเจาะที่รากผมได้อย่างแม่นยำ มีประสิทธิภาพกว่าการใช้มือมนุษย์ซึ่งอาจมีโอกาสพลาดได้ 3-20 เปอร์เซ็นต์ (transection rate) เมื่อเทียบกับการใช้หุ่นยนต์เจาะ transection rate โอกาสพลาดจะเหลือประมาณ 2-10 เปอร์เซ็นต์ หมายถึงมีโอกาสตัดขาดน้อย ไม่ทำให้เส้นผมเสีย จากนั้นนำกอผม ซึ่งมีเซลล์ต้นกำเนิดเส้นผม (follicular stem cell) ออกมาทำการปลูกถ่ายบนหนังศีรษะ ซึ่งการเจาะกอผมเพื่อปลูกถ่ายได้เร็วขึ้น จะทำให้การผ่าตัดได้ผลดี เพราะรากผมที่นำออกมาจะมีช่วงอายุไม่เกิน 8 ชั่วโมง หากปลูกถ่ายได้ช้า เซลล์รากผมจะตาย ทำให้ประสิทธิภาพการปลูกถ่ายเส้นผมลดลง
ข้อดีคือ มีความแม่นยำ รวดเร็วในการเจาะกอผมมากขึ้น จึงทำให้ใช้เวลาในการผ่าตัดและจำนวนบุคลากรทางการแพทย์น้อยลง ทั้งมีความปลอดภัย และลดผลแทรกซ้อนที่จะเกิดขึ้นตามมา
อย่างไรก็ดี แม้จะมีการนำหุ่นยนต์มาใช้ปลูกผม แต่แพทย์ก็ยังมีหน้าที่ออกแบบวาดรอยผมว่า จะปลูกผมบริเวณใดและควบคุมเครื่องในการเจาะรู เพื่อฝังเส้นผมลงไปบนหนังศีรษะให้กับผู้ป่วย ซึ่งต้องอาศัยความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เพื่อให้ได้ผลการปลูกที่สวยงาม และหมดปัญหาเรื่องเส้นผมบนหนังศีรษะ หลังการผ่าตัดปลูกผมแล้ว แผลจะหายเอง แต่ควรระวังอย่าให้โดนน้ำ จากนั้นจะมีเส้นผมที่หลุดร่วง และเริ่มเกิดเป็นเส้นผมแบบถาวรในช่วงเวลาประมาณ 3 เดือน และจะงอกเต็มที่ประมาณ 12-18 เดือน
การดูแลเส้นผมก็อาศัยหลักการรักษาสุขภาพทั่วไป คือ รับประทานอาหารครบ 5 หมู่ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ไม่เครียด นอกจากนั้นยังต้องเลี่ยงปัจจัยที่ทำให้ผมเสีย เช่น การทำเคมี ทั้งยืดดัดย้อมผมบ่อยเกินไป ก็ทำให้ผมร่วงก่อนวัยอันควร หมั่นสังเกตสัญญาณเริ่มต้นของอาการผมบางศีรษะล้าน โดยเริ่มจากมีผมร่วงเกินวันละ 100 เส้น และอาจมีอาการอื่นร่วม เช่น อาการอักเสบของหนังศีรษะ หนังศีรษะมัน มีแผล ฝี รังแค เป็นต้น ซึ่งหากเกิดความผิดปกติ ก็ควรปรึกษาแพทย์ เพื่อเลือกวิธีรักษาที่เหมาะสม