กรุงเทพฯ--2 ก.ค.--อาซิแอม เบอร์สัน-มาร์สเตลเลอร์
ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) นำโดย นายอภิสิทธิ์ ไล่สัตรูไกล(ที่ 2 จากซ้าย) ผู้อำนวยการ เดินหน้าขยายความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาชื่อดังระดับภูมิภาคมุ่งติดอาวุธทางความคิดสร้างสรรค์ สร้างโอกาสและความร่วมมือที่แข็งแกร่ง พร้อมนำภูมิปัญญาท้องถิ่นจากภูมิภาคสู่สากล เผยแนวทางการปรับรูปแบบของโครงการกระจายโอกาสสร้างแหล่งเรียนรู้สู่ภูมิภาค หรือ miniTCDC โดยจะเน้นขยายความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาให้มากขึ้น คัดเลือกสถาบันตัวแทนระดับภูมิภาคขึ้นเป็น miniTCDC Center จำนวน 5 แห่งทำหน้าที่เชื่อมต่อ miniTCDC แต่ละแห่งในภูมิภาคเดียวกัน
นายอภิสิทธิ์ ไล่สัตรูไกล ผู้อำนวยการ ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ กล่าวว่า “miniTCDC ได้เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ปี 2550 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้บริการองค์ความรู้ด้านการออกแบบที่หลากหลาย เติมเต็มไอเดียสดใหม่ให้นักเรียน นักศึกษาด้านการออกแบบในต่างจังหวัดเข้าถึงได้ง่าย และได้รับประสบการณ์ ความรู้เท่าเทียมกับนักศึกษาในกรุงเทพฯ โดยตลอดเวลา 7 ปีที่จัดทำ miniTCDC ขึ้นมานั้น ได้ขยายแหล่งการเรียนรู้ไปยังสถาบันการศึกษา 16 มหาวิทยาลัย ใน 16 จังหวัดทั่วประเทศได้ให้บริการความรู้แก่นักศึกษากว่า 122,000 คน บริการหนังสือและสื่อความรู้อื่น ๆ กว่า 80,000 ครั้งจัดนิทรรศการหมุนเวียนเพื่อเติมเต็มไอเดีย 19 นิทรรศการ และจัดโครงการพัฒนาความรู้นอกห้องเรียน ระหว่างนักศึกษาและชุมชน เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ OTOP ให้เข้ากับสินค้าไลฟ์สไตล์เชิงพาณิชย์มากขึ้น สำหรับในปีนี้ เราต้องการพัฒนาและปรับรูปแบบของ miniTCDC จาก “การขยายโอกาส” ไปสู่ “การขยายความร่วมมือ” กับสถาบันการศึกษาระดับภูมิภาค ต่อยอดภูมิปัญญาของชุมชน ความคิดสร้างสรรค์ของนักศึกษาไปสู่เวทีในระดับสากล และจะเดินหน้าสร้างความร่วมมือที่แข็งแกร่งกับสถาบันการศึกษาทั่วประเทศต่อไปในอนาคตพร้อมกระตุ้นให้เกิดการตื่นตัวด้านการออกแบบ โดย TCDC จะทำหน้าที่เป็น
พี่เลี้ยงให้นักศึกษาได้มีโอกาสคิด และลงมือปฏิบัติด้วยตนเอง”
นายเกรียงชัย มีติ๊บ นักศึกษาชั้นปี 3 คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ม. นเรศวร พูดถึง miniTCDC ว่า “รู้สึกดีที่ความรู้ทางด้านการออกแบบได้ส่งตรงถึงแต่ละภูมิภาคมากขึ้น ทำให้เด็ก ๆ ในต่างจังหวัดได้มีแหล่งให้ค้นคว้าหาข้อมูลทางด้านงานออกแบบโดยเฉพาะ ซึ่งปกติผมและเพื่อน ๆ ก็จะใช้บริการ miniTCDC ในการหาข้อมูล ผลงานอ้างอิง หรือดูแนวคิดเรื่องวัสดุต่าง ๆ อยู่เป็นประจำเวลาทำโปรเจ็คท์ส่งอาจารย์ สำหรับแนวคิดใหม่ของ miniTCDC ที่จะให้มีการจะรวบรวมความรู้พื้นถิ่น งานวิจัยของพื้นที่ต่าง ๆ ไว้ แล้วส่งต่อเป็นความรู้ให้ที่ TCDC ศูนย์กลาง คิดว่าเป็นเรื่องดีมากเลยครับ นอกจากจะได้ข้อมูลจากส่วนกลางเพิ่ม ยังมีโอกาสได้ถ่ายทอดผลงานและความรู้จากภูมิภาคของเราด้วยครับ ซึ่งก็จะแสดงให้เห็นว่าคุณภาพของการศึกษา และความสามารถของเยาวชนในแต่ละท้องถิ่นก็มีองค์ความรู้ที่น่าสนใจ และน่าจะนำไปต่อยอดให้ดีขึ้นได้ในอนาคตครับ”
รายละเอียดโครงการกระจายโอกาสสร้างแหล่งเรียนรู้สู่ภูมิภาค หรือ miniTCDC รูปแบบใหม่
ขอเชิญสถาบันการศึกษาในระดับอุดมศึกษาที่มีสาขาวิชาการด้านการออกแบบหรือที่เกี่ยวข้อง ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือสร้างสรรค์องค์ความรู้ด้านการออกแบบที่จะเติบโตไปด้วยกัน จากภูมิภาคสู่สากล โดยสถาบันการศึกษาที่เข้าร่วมโครงการกับ miniTCDC จะได้รับสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ รวมกว่า 700,000 บาท โดยมีแนวทางหลักในการดำเนินงาน ดังนี้
1. พัฒนา miniTCDC รูปแบบใหม่ เพื่อให้ตอบโจทย์ในระดับความร่วมมือส่วนภูมิภาค ประกอบด้วย “miniTCDC Center” จำนวน 5 แห่ง และ “miniTCDC” จำนวนไม่น้อยกว่า 10 แห่ง โดยมี “miniTCDC Center” เป็นเสมือนเป็นสาขาที่เป็นตัวแทนของ TCDC ประจำภูมิภาค ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางเชื่อมต่อ “miniTCDC” ของแต่ละจังหวัดในภูมิภาคเดียวกัน
ทั้งนี้ จะมีการพัฒนากระบวนการคัดเลือกการเป็น miniTCDC รูปแบบใหม่ สถาบันการศึกษาที่มี
ความพร้อมสามารถสมัครเข้าร่วมโครงการ ซึ่ง miniTCDC จะมีเกณฑ์การคัดเลือกโดยมุ่งเน้นการทำงานวิจัยด้านงานออกแบบในท้องถิ่น เพื่อนำมารวบรวมไว้ในฐานข้อมูลของ TCDC สำหรับนำไปใช้ต่อยอด
องค์ความรู้ และการขยายเครือข่าย (Networking) เพิ่มมากขึ้นในอนาคต
ตารางเปรียบเทียบโมเดลminiTCDC รูปแบบปัจจุบัน และ miniTCDC รูปแบบใหม่
รายละเอียดบริการ/กิจกรรม miniTCDC ปัจจุบัน miniTCDC รูปแบบใหม่
miniTCDC Center miniTCDC
จำนวนแห่ง 13 5 10
ระยะเวลาความร่วมมือ - 3 ปี 3 ปี
จำนวนหนังสือที่ให้บริการ 250 เล่ม/เทอม 500 เล่ม/ปี 300 เล่ม/ปี
จำนวนวัสดุตัวอย่าง 24 ชิ้น 24 ชิ้น 24 ชิ้น
บริการฐานข้อมูลออนไลน์ ü ü ü
จัดแสดงนิทรรศการสัญจร ü - -
ทุนสนับสนุนงานวิจัย - 100,000 – 200,000 ไม่เกิน 100,000
สิทธิการเข้าใช้TCDC และสาขา 10days pass 10 ใบ ระดับสถาบัน 10days pass 10 ใบ
(แสดงบัตรนักศึกษา)
กิจกรรมถ่ายทอดสดCU ü ü ü
การเข้าร่วมกิจกรรมระดับท้องถิ่น ü ü ü
การเข้าร่วมกิจกรรมกับส่วนกลาง ü ü ü
2. พัฒนาเนื้อหากิจกรรมให้มีความสอดคล้องกับความต้องการของสถาบันการศึกษาภูมิภาค
3. พัฒนาการบริหารโครงการเพื่อให้ TCDC เป็นศูนย์กลางในการบริหารจัดการความรู้อย่างมีประสิทธิภาพภายใต้ทรัพยากรที่มีอยู่ คือ การรวบรวมฐานข้อมูลเพื่อเชื่อมต่อกับ TCDC กรุงเทพฯ เพื่อเป้าหมาย
ในการกระจายความรู้ให้กับนักศึกษา สถาบันการศึกษา ผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการด้านวัสดุท้องถิ่น เป็นต้น
4. แสวงหาความร่วมมือในการจัดทำโครงการเพื่อส่งเสริมกิจกรรมความรู้ของ miniTCDC กับหน่วยงานภายนอก
- ปี 2556-2557 จัดทำ “โครงการพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์ต้นแบบ OTOP” ร่วมกับ OTOP และสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี
- ปี 2557 จัดทำโครงการส่งเสริมพื้นที่ชุมชนสร้างสรรค์ด้วยพลังเยาวชนผ่านเครือข่ายโครงการ miniTCDC, TCDC เชียงใหม่ และสสส.