กรุงเทพฯ--2 ก.ค.--โฟร์ พี แอดส์
กรมควบคุมโรค (คร.) ร่วมกับจังหวัดจันทบุรี รณรงค์ป้องกันโรคมือ เท้า ปากในศูนย์เด็กเล็กและชุมชน ในช่วงเริ่มเข้าสู่ฤดูฝน เพราะเป็นช่วงที่มีการเกิดและการระบาดของโรคดังกล่าว เด็กมักจะอยู่รวมกันในอาคารเป็นส่วนใหญ่มีการทำกิจกรรมและการเล่นของเล่นร่วมกันมากขึ้น แสงแดดน้อยทำให้การล้างทำความสะอาดและการผึ่งแดดของเล่นและเครื่องใช้ต่างๆ ทำได้ลำบาก ส่งผลให้เกิดการแพร่กระจายของโรคได้ง่ายขึ้น หากไม่มีการป้องกันควบคุมโรคที่ดีแล้วก็อาจทำให้มีการระบาดได้ กลุ่มอายุที่พบมากที่สุดคือ ต่ำกว่า 3 ปี เน้นเด็กป่วยด้วยไข้เกิน 2 วัน หรือร่วมกับซึม เหม่อ ผวา ให้รีบนำไปพบแพทย์ที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเทศบาลตำบลพลิ้ว อ.แหลมสิงห์ จ.จันทบุรี
นายแพทย์ศุภมิตร ชุณห์สุทธิวัฒน์ โฆษกกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่าจากข้อมูลการเฝ้าระวังโรคมือ เท้า ปาก โดยสำนักระบาดวิทยากรมควบคุมโรค พบว่าตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม–22 มิถุนายน 2557 พบผู้ป่วยทั้งหมด 19,763 ราย จาก 77 จังหวัด ยังไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต กลุ่มอายุที่พบมากที่สุด คือ 1–3 ปีซึ่งพบการระบาดได้ทั่วประเทศ และเมื่อเปรียบเทียบจำนวนผู้ป่วยสะสม กับปีที่ผ่านมาพบว่าปี 2557 สูงกว่าปี 2556 ถึงร้อยละ 16 และคาดการณ์ว่าจำนวนผู้ป่วยโรคมือ เท้า ปาก มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นและสูงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการเกิดโรคและการระบาดของโรคมือ เท้า ปาก มักจะเกิดในพื้นที่ที่มีเด็กเล็กอาศัยอยู่รวมกันจำนวนมากซึ่งศูนย์เด็กเล็กและโรงเรียนอนุบาล เป็นสถานที่ที่รับเลี้ยง และดูแลเด็กเล็กจำนวนมาก จึงเป็นพื้นที่เสี่ยงและกลุ่มเสี่ยงของโรคมือ เท้า ปาก ประกอบกับช่วงนี้เริ่มเข้าสู่ฤดูฝน ซึ่งเป็นปัจจัยที่มีความสัมพันธ์และเอื้อต่อการเกิดโรคดังกล่าว เพราะอากาศที่เย็นลงจะทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของเด็กเล็กอ่อนแอลง และเจ็บป่วยง่ายขึ้น นอกจากนี้เด็กมักจะอยู่รวมกันในอาคารเป็นส่วนใหญ่ มีการทำกิจกรรม และการเล่นของเล่นร่วมกันมากขึ้น ส่งผลให้เกิดการแพร่กระจายของโรคได้ง่ายขึ้น ร่วมกับแสงแดดน้อยทำให้การล้างทำความสะอาดและการผึ่งแดดของเล่นและเครื่องใช้ต่างๆ ทำได้ลำบากยิ่งขี้น ดังนั้นการเตรียมความพร้อมในการป้องกันและควบคุมโรค ถือว่าเป็นสิ่งที่ต้องเร่งดำเนินการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสื่อสารความเสี่ยงและประชาสัมพันธ์ หากไม่มีการเตรียมการป้องกันโรคล่วงหน้า อาจเกิดการระบาดของโรคมือ เท้า ปากในวงกว้างได้ ดังนั้น เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในการป้องกันการระบาดของโรคมือเท้าปาก กรมควบคุมโรค โดยสำนักโรคติดต่ออุบัติใหม่ จึงได้จัดกิจกรรมรณรงค์ป้องกันโรคมือ เท้า ปากขึ้นในพื้นที่จังหวัดจันทบุรี
นายแพทย์ศุภมิตร กล่าวต่อว่า โรคมือ เท้า ปาก เกิดจากการติดเชื้อไวรัสในกลุ่มเอนเทอโรไวรัสติดต่อผ่านทางระบบทางเดินอาหารและการหายใจ โดยเชื้อติดมากับมือที่สัมผัสกับน้ำมูก น้ำลาย น้ำในตุ่มพองหรือแผลของผู้ป่วย และอุจจาระของผู้ป่วย สังเกตได้ง่ายคือเด็กเล็กมักจะมีไข้ และมีตุ่มพองเกิดขึ้นในปาก ฝ่ามือหรือผิวหนัง ถึงแม้ในปีนี้ยังไม่พบผู้เสียชีวิต แต่ก็มีผู้ป่วยบางรายซึ่งเป็นส่วนน้อยที่มีการติดเชื้อเข้าสู่สมองและมีอันตรายถึงเสียชีวิตได้อย่างรวดเร็ว ดังนั้นการเผยแพร่ให้คำแนะนำเรื่องโรคมือ เท้า ปาก แก่ผู้ปกครอง ครูพี่เลี้ยงและชุมชน จึงมีความสำคัญยิ่งในการช่วยกันป้องกันโรคนี้ ในส่วนของผู้ปกครอง ควรสังเกตอาการเด็ก หาก 2-3 วันแล้ว อาการแย่ลง มีไข้สูง เหนื่อยหอบ ซึม ชัก ควรรีบพามาพบแพทย์โดยด่วน ส่วนของศูนย์เด็กเล็กหรือโรงเรียนอนุบาลที่ดูแลเด็ก ควรมีการเน้นสุขอนามัยในศูนย์เด็กเล็ก โรงเรียน ผู้ดูแลเด็กควรมีการล้างมือบ่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังเปลี่ยนผ้าอ้อม ในพื้นที่ที่มีการระบาดควรมีการคัดกรองเด็กป่วย และแยกเด็กป่วยให้หยุดเรียนอยู่บ้าน หรือหากจำเป็นที่บ้านไม่มีผู้ดูแลเด็ก ศูนย์เด็กเล็กควรจัดแยกสัดส่วนไม่ใช้เครื่องใช้ร่วมกับเพื่อน หากพบผู้ป่วยในห้องเรียนเดียวกันเกิน 2 คน ควรพิจารณาปิดและทำความสะอาดเครื่องใช้ ในส่วนชุมชนสถานที่ที่อาจเป็นจุดแพร่โรคได้ เช่น สนามเด็กเล่น สระว่ายน้ำ ห้างสรรพสินค้า ก็ควรมีการทำความสะอาดสิ่งของที่ใช้ร่วมกัน การพัฒนางาน ป้องกัน ควบคุมโรคที่เกิดขึ้นในชุมชนให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน จำเป็นต้องอาศัยความเข้าใจ ความร่วมมือในชุมชน เชื่อมโยงกันเป็นเครือข่าย
“ผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการป้องกันโรค คือผู้ปกครองของเด็กและเจ้าหน้าที่ ในศูนย์เด็กเล็ก และโรงเรียนอนุบาลรวมถึงชุมชน หากไม่มีการป้องกันควบคุมโรคที่ดีแล้ว ก็อาจทำให้มีการระบาดทั่วประเทศได้ หน่วยงานทุกภาคส่วนทั้งระดับกรม ระดับกระทรวง และระดับท้องถิ่นจึงร่วมรณงค์ป้องกันโรคโดยการหมั่นล้างมือด้วยน้ำและสบู่เป็นประจำ ทั้งก่อนรับประทานอาหารและหลังการขับถ่าย ไม่ใช้สิ่งของร่วมกัน หากครูพี่เลี้ยงหรือผู้ดูแลเด็ก พบเด็กป่วยด้วยโรคมือ เท้า ปาก ควรแยกเด็กป่วยออกจากกลุ่มเพื่อนให้พักในห้องแยกที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กหรือโรงเรียนอนุบาลจัดไว้ แล้วแจ้งให้ผู้ปกครองทราบเพื่อให้เด็กพักรักษาตัวที่บ้านเป็นเวลา 1 สัปดาห์หรือจนกว่าจะหายป่วย หากผู้ปกครองสังเกตบุตรหลานของท่านมีอาการป่วยด้วยโรคมือ เท้า ปาก อาการไม่ดีขึ้น ยังมีไข้สูง ซึม อาเจียนบ่อย หายใจหอบ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ขอให้รีบพาไปพบแพทย์ หรือโทรสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักโรคติดต่ออุบัติใหม่ โทร. 0 2590 3159 หรือสายด่วนกรมควบคุมโรค 1422” นายแพทย์ศุภมิตร กล่าว