กรุงเทพฯ--2 ก.ค.--สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย
วันที่ 1 กรกฎาคม 2557 ณ ทำเนียบเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย – มร.เธียรี่ วีโต เอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย เป็นผู้แทน มร.เบอนัวต์ อามงต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ การอุดมศึกษา และการวิจัย มอบอิสริยาภรณ์ Palmes Academique ชั้น Officier แด่ ผศ.วุฒิพงศ์ เตชะดำรงสิน รองผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เพื่อระลึกถึงคุณงามความดีและคุณูปการที่ได้ทำเพื่อวงการวิจัยและความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ระหว่างประเทศฝรั่งเศสและไทย โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิ อาทิ ศ. ดร.ยอดหทัย เทพธรานนท์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ในคณะกรรมการนโยบายกองทุนสนับสนุนการวิจัย รศ. ดร.ประจักษ์ พุ่มวิเศษ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ในคณะกรรมการติดตามและประเมินผลการสนับสนุนการวิจัย ศ. นพ.วิจารณ์ พานิช กรรมการกำกับทิศทางโครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก (คปก.) ศ. ดร.อมเรศ ภูมิรัตน ผู้อำนวยการ คปก. รศ. ดร.ปาริฉัตร หงสประภาส ผู้ช่วยผู้อำนวยการด้านจัดการทุนเครือข่ายวิจัยนานาชาติ นายดอน ปรมัตถ์วินัย อดีตเอกอัครราชทูต ณ กรุงวอชิงตันดีซี และนักเรียนทุนรัฐบาลฝรั่งเศส ร่วมแสดงความยินดี
ผศ.วุฒิพงศ์สำเร็จการศึกษาด้านคอมพิวเตอร์จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน ประเทศสหรัฐอเมริกา ทันทีที่กลับมาประเทศไทยได้ทำงานที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยสอนหนังสือและรับผิดชอบหลากหลายหน้าที่ตลอดระยะเวลา 16 ปี ได้รับการยกย่องให้เป็นบุคคลสำคัญในการพัฒนาระบบอินเตอร์เน็ตในประเทศไทย จากนั้นในปี พ.ศ. 2538 ได้ดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการ สกว. ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ให้ทุนสนับสนุนโครงการวิจัยในประเทศไทย ด้วยวิสัยทัศน์และความชื่นชอบในงานวิจัยของ ผศ.วุฒิพงศ์ จึงช่วยสร้างเสริมวงการวิจัยของประเทศไทย ปัจจุบันวงการนี้เจริญก้าวหน้าไปอย่างมากโดยมี ผศ.วุฒิพงศ์รับบทบาทเป็นผู้ขับเคลื่อนคนสำคัญ
สำหรับความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ระหว่างประเทศฝรั่งเศสและประเทศไทย เป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาได้จากแรงผลักดันของ ผศ.วุฒิพงศ์ นับตั้งแต่การเดินทางไปดูงานที่ประเทศฝรั่งเศสครั้งแรก อันเกิดจากการสนับสนุนของสถานทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย ซึ่ง ผศ.วุฒิพงศ์ได้สร้างสายสัมพันธ์อันแข็งแกร่งระหว่างหน่วยงานวิจัยของทั้งสองประเทศ นำมาซึ่งการลงนามในข้อตกลงความร่วมมือระหว่าง สกว. และ CNRS ซึ่งเป็นหน่วยงานวิจัยที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศฝรั่งเศส ในเวลาไม่นานต่อมานับแต่นั้นสายสัมพันธ์ด้านการวิจัยระหว่างสองประเทศนับวันจะยิ่งแน่นแฟ้นและยืนยงที่ ผศ.วุฒิพงศ์มีส่วนในการผลักดันให้เกิดกิจกรรมความร่วมมือจำนวนมาก ผ่านการจัดสัมมนาวิชาการ และการร่วมสนับสนุนทุนการศึกษาระดับปริญญาเอกนับร้อยทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันและสร้างคุณประโยชน์ในฐานะกรรมการพิจารณาตัดสินทุนของสถานทูต ซึ่ง ผศ.วุฒิพงศ์ได้ใช้ประสบการณ์และการวิเคราะห์ อันเป็นกุญแจหนึ่งที่สำคัญที่นำมาให้โครงการนี้ประสบความสำเร็จ นอกจากนี้ยังมีส่วนผลักดันให้เกิดความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และสถาบัน Ecole d’architecture de Bordeaux ตลอดจนการเดินทางไปดูงานที่ประเทศฝรั่งเศสครั้งล่าสุด ซึ่งเป็นโอกาสดีในการรับทราบข้อมูลการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างการวิจัยในประเทศฝรั่งเศส และเชื่อมั่นว่าจะนำประสบการณ์ที่ได้รับไปสร้างความร่วมมือใหม่ ๆ ต่อไปในอนาคต