กรุงเทพฯ--3 ก.ค.--มูลนิธิสยามกัมมาจล
ดังที่ทราบกันดีว่า “หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” เป็นหลักคิด ที่ส่งผลถึงหลักการทำงานและหลักการใช้ชีวิต คอยกระตุ้นเตือนให้เราฉุกคิดอยู่เสมอไม่ว่าจะทำอะไรจะต้องตั้งอยู่บน ความมีเหตุผล ความพอประมาณ และ การมีภูมิคุ้มกันที่ดี บนเงื่อนไขของ ความรู้ และ คุณธรรม ไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น ซึ่งสามารถประยุกต์ใช้ได้ไม่จำกัด ทั้งชีวิตในด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรม เพื่อให้ผู้ใช้มีชีวิตที่สมดุล มีความสุข ท่ามกลางสังคมที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว การปลูกฝังเศรษฐกิจพอเพียงลงสู่ตัวเยาวชนในวันนี้จึงเชื่อได้ว่าจะทำให้สังคมไทยมีกำลังคนที่มีคุณภาพ ในภายภาคหน้า
แต่เพราะเศรษฐกิจพอเพียงเป็น “หลักคิด” การสอนเด็กๆ ของเราให้มีความพอเพียงด้วยวิธีการท่องจำจึงไม่ได้ผล แนวทางหนึ่งที่ถูกนำมาใช้อย่างได้ผล คือการที่ครู “ตั้งคำถาม” กระตุ้นย้ำซ้ำเตือนบ่อยๆ ให้เขาเกิด “กระบวนการคิด”
อ.เบญจมาศ สิงห์น้อย ครูวิชาการงานและอาชีพ และวิชาสังคมศึกษา โรงเรียนชุมชนบ้านห้วยค้อมิตรภาพที่ 206 ต.หนองแวงนางเบ้า อ.พล จ.ขอนแก่น โรงเรียนศูนย์การเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงด้านการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ เล่าว่าภายหลังจากที่โรงเรียนได้น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงขับเคลื่อนในโรงเรียนเพื่อปลูกฝังอุปนิสัยพอเพียงแก่ลูกศิษย์ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549 จนได้รับการประเมินเป็นโรงเรียนศูนย์การเรียนรู้ฯ เมื่อปี พ.ศ. 2555 “คำถาม” ถือเป็นเครื่องมือสำคัญที่ครูใช้สร้างการเรียนรู้แก่ลูกศิษย์ โดยเฉพาะในเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงที่เด็กๆ ต้องเรียนรู้ที่จะ “คิด” ก่อนทำ
อ.เบญจมาศยกตัวอย่างวิธีการตั้งคำถามเพื่อปลูกฝังเศรษฐกิจพอเพียงลงสู่ตัวนักเรียนว่า ในวิชาสังคมศึกษาปีล่าสุด นักเรียนชั้น ม.3 ต้องพบกับปัญหาแบบจำลองลูกโลกของเก่าพังเสียหายทำให้ไม่มีสื่อการเรียนรู้เรื่องทวีปอเมริกาตามหลักสูตร ครูจึงถือโอกาสนี้ในการ “ตั้งคำถาม” กับเด็กๆ เพื่อหาทางออก โดยบทบาทของครูทำหน้าที่ให้คำปรึกษา อำนวยการการเรียนรู้...
“ครูก็เลยถามเขาว่าลูกโลกก็พังไปแล้ว ทำอย่างไรดีที่เราจะมีลูกโลกมาเรียนรู้ มาทบทวนกันก่อนว่าเรียนสังคมศึกษา เขาเรียนอะไรกันบ้าง เช่น เรื่องทำเลที่ตั้ง สภาพภูมิอากาศ สภาพประเทศ แล้วก็มีเรื่องของแผนที่ แล้วเราจะหาวิธีทำอย่างไรที่เราจะไม่ต้องไปซื้อลูกโลก เพราะลูกหนึ่งก็ตั้ง 4-5 พันบาทใช่ไหม เขาก็เลยถามว่า ครูครับ วาดเอาได้ไหม วาดใส่กระดาษ อีกคนก็บอกว่า วาดใส่กระดาษมันก็เห็นแต่พวกเราสิครับ คนอื่นเขาไม่เห็น มาวาดให้คนเห็นได้ทุกคนดีไหมครับ ก็เลยมาวางแผนด้วยกันว่าเราจะทำอย่างไรบ้าง เด็กหลายกลุ่มจึงเสนอว่าเขาอยากทำให้เป็นที่ระลึกให้โรงเรียน และใครไปใครมาที่โรงเรียนเราก็ได้เห็น ก็เลยตกลงกันว่าจะวาดแผนที่บน พื้นซีเมนต์หน้าอาคารเรียน ครูก็บอกเขาว่า ก็ลองดู ถ้าคิดจะทำ เราจะทำอย่างไรบ้าง”
พอ อ.เบญจมาศ เริ่มเห็นว่าเด็กๆ พร้อมแล้วที่จะเรียนรู้ จึงได้จังหวะตั้งคำถามต่อพร้อมสอดแทรกหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงลงสู่ “กระบวนการคิด” และ “กระบวนการทำงาน” ของลูกศิษย์ทันที
“เด็กๆ ถามว่า ครูคะ มีสีไหม เราก็รู้ว่าถ้าเด็กถามอย่างนี้เขารู้จักการวางแผนเรื่องวัสดุอุปกรณ์ เป็นเรื่องการมีภูมิคุ้มกัน เด็กบอกว่าครูคะ สีไม่พอ เราจะเอาสีเก่ามาทำอะไรได้บ้าง ตอนนี้เขาก็จะได้ฝึกเรื่องความพอประมาณ ถามต่อไปว่าใครจะรับผิดชอบทวีปไหนๆ เขาก็ต้องใช้คุณธรรมในการแบ่งงานว่า เราจะแบ่งกันทำเป็นทวีปๆ เราก็ถามต่ออีกว่าใครจะเป็นผู้นำบ้าง การแบ่งกลุ่มเราจะทำอย่างไร เด็กก็บอกว่า คนที่เก่งก็ไปเป็นหัวหน้า เขาจะโหวตกันเอง เราก็ถามต่อว่า แล้วคนที่ไม่เก่งทำอะไร นั่งดูใช่ไหม เด็กก็บอกว่า ไม่ใช่ๆ ผมก็จะทำหน้าที่อย่างนั้นอย่างนี้ แล้วเขาก็กำหนดวันกันว่า สัปดาห์หน้าครับ พวกผมจะใส่เสื้อเก่าที่ไม่กลัวเปื้อนมาทำ เหตุผลเพื่อให้ได้แผนที่โลกเป็นสื่อเรียนรู้”
อ.เบญจมาศ เล่าต่อว่า จุดนี้พอเขาจะทำ เราต้องถามเงื่อนไขความรู้ที่เด็กๆ ต้องมีก่อนทำงาน เช่นเรื่องมาตราส่วน เส้นรุ้งเส้นแวงอยู่ตรงไหน ทำเป็นไหม ตอนแรกเขาจะทำเป็นแพลนมาให้ครูดูก่อน สัปดาห์ต่อไปเขาก็จะลงไปที่พื้นที่แผ่นซีเมนต์หน้าอาคารเรียน ขนาดประมาณ 5 คูณ 4 เมตร เขาก็เอาแผนที่โลกมากางแล้วแบ่งกันทำ ทำ 2 วัน วันละ 2 ชม.ก็เสร็จ ทำเสร็จแล้วเราก็ถอดบทเรียนเขาว่าทำเสร็จแล้วจะใช้อย่างไร ใครจะดูแล แผนที่นี้เป็นของใคร เขาบอกว่าแผนที่นี้เป็นของทุกคน ตรงนี้เป็นทวีป เป็นทะเล น้องมาเรียนรู้ได้ แต่พวกผมจะไม่เอาภาษาไทย พวกผมจะเอาภาษาอังกฤษเขียนชื่อประเทศ ขอให้ครูต่างชาติมาช่วยเรื่องการเขียนให้ถูก คนผ่านไปผ่านมาเห็นทุกวันๆ แล้วก็จำคำศัพท์ได้ ครูจึงถามต่อว่า "ทำแล้วเธอได้อะไร" เด็กก็บอกว่าผมทำแล้วผมมีความสุขที่ทำแล้วคนมาอ่านและมันก็จะเป็นสมบัติของโรงเรียน เราก็ไม่ต้องเปลืองเงินซื้อลูกโลก สีที่ใช้ก็ใช้สีที่พอมีอยู่ ครูซื้อเพิ่มเพียงบางส่วน
“การเรียนรู้ตรงนี้เราก็มองว่าเขามีจิตอาสา บอกเขาว่าไหนลองถอดบทเรียนซิว่าเราทำตรงนี้แล้วมันเป็นอย่างไรบ้าง คนไหนเรียนหนังสือไม่เก่ง อากาศร้อนๆ เขาก็ยังตักน้ำให้เพื่อนกินได้ เขาก็มีความสามัคคี เอื้อเฟื้อ รับผิดชอบ มีจิตอาสา แล้วสิ่งที่เขาภูมิใจมากที่สุดคือเขาได้นำเสนอเวลาที่คนมาดูงานที่โรงเรียน เขาจะนำเสนอว่าประเทศนี้อยู่ตรงนี้ ทวีปนี้ มีภูมิประเทศอย่างไร เราก็มองว่ามันเป็นการเรียนรู้ที่ต่อเนื่องหลายๆ วิชาไปด้วย แล้วเราก็สามารถใช้เล่นเกมได้ ไม่ใช่อ่านอย่างเดียว มองเห็นด้วย เล่นเกมได้ด้วย ใครอยากไปอยู่ประเทศอะไร การเดินทางเป็นอย่างไร เดินทางอย่างไร เส้นศูนย์สูตรอยู่ตรงไหน เด็กๆ ก็ตอบได้”
อ.เบญจมาศ สรุปว่า การที่เด็กกล้าคิดกล้าแสดงออกเช่นนี้เกิดขึ้นจากการที่ครูตั้งคำถามให้เขาคิดแล้วหาวิธีการแก้ปัญหา ครูเองต้องคอยถามเรื่อยๆ ให้เขามีส่วนร่วม ทั้งส่วนร่วมในการพัฒนาโรงเรียน ที่สำคัญคือส่วนร่วมในการพัฒนาสมองและสร้างแนวคิดของตัวเขาเอง การตั้งคำถามจึงสำคัญมาก เราจึงต้องพยายามกระตุ้นให้เขาคิดถึงเหตุถึงผล คิดก่อนทำ คิดให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตไม่ลืมรากเหง้า ที่ผ่านมาสามารถบอกได้ว่าการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงมีผลทำให้เด็กเราหลายๆ คนเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ หลักฐานความสำเร็จคือเสียงสะท้อนจากคนภายนอกมาถึงโรงเรียน เช่นเด็กที่เราส่งไปเรียนการโรงแรมที่โรงแรมแอมบาสเดอร์ ครูที่นั่นเขาบอกว่าเด็กของเราสุดยอด มีวินัย ตรงเวลา และมีความรับผิดชอบ คำชมเหล่านี้เพิ่งมีหลังที่เราขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียง เด็กเขาเองก็คิดเช่นนั้น
“หน้าที่ของครูจึงเป็นการตั้งคำถามทำอย่างไรให้เด็กคิดได้ เพราะถ้าเขาคิดได้ อะไรก็สำเร็จทุกอย่าง” อ.เบญจมาศ ปิดท้าย
นี่คือเรื่องราวของ “ครูเบญจมาศ สิงห์น้อย” หนึ่งในตัวอย่างความสำเร็จของการขับเคลื่อนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่สถานศึกษาโดยความร่วมมือระหว่างกระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) โดยมุ่งหวังให้สถานศึกษาในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) 4 หมื่นแห่งทั่วประเทศได้น้อมนำไปปลูกฝังเป็นอุปนิสัยลงสู่ตัวเยาวชนได้ใช้เป็นหลักคิด หลักการใช้ชีวิต สร้างให้เกิดบุคลิกของคนไทยรุ่นใหม่เป็นผู้มีทักษะการคิดวิเคราะห์ คิดอย่างสร้างสรรค์ และคิดอย่างมีวิจารณญาณ มีคุณธรรมจริยธรรม ไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น ซึ่งสอดรับกับแนวทางการปฏิรูปการศึกษารอบใหม่ที่กำลังก่อตัวขึ้นในขณะนี้