กรุงเทพฯ--3 ก.ค.--กสทช.
ตามที่สำนักงาน กสทช. ได้เผยแพร่ข่าวประชาสัมพันธ์ ซึ่งมีเนื้อหาโต้แย้ง[1] ผลการศึกษาของโครงการติดตามนโยบายสื่อและโทรคมนาคม (NBTC Policy Watch) เรื่อง “ราคาค่าโทร 3G หนึ่งปีเปลี่ยนไปอย่างไร?” โดย ดร.พรเทพ เบญญาอภิกุล ทางโครงการฯ ขอชี้แจงต่อสาธารณะดังนี้
1. โครงการ NBTC Policy Watch เลือกทำการเปรียบเทียบราคาค่าบริการ 3G กับ 2G โดยใช้ราคา 2G ของเดือนพฤษภาคม 2556 เป็นฐาน แทนที่จะเป็นวันออกใบอนุญาต (7 ธันวาคม 2555) ตามเงื่อนไขที่ กสทช. กำหนด เนื่องจาก (1) เป็นเดือนสุดท้ายก่อนที่ผู้ให้บริการทุกรายเปิดให้บริการ 3G และ (2) กสทช.เริ่มกำกับดูแลราคาค่าบริการ 3G อย่างจริงจังในเดือนมิถุนายน 2556 ตามมติ กทค. ที่ 16/2556 ทางโครงการฯ จึงเห็นว่า การใช้ข้อมูลช่วงเดือนพฤษภาคม 2556 เป็นฐานวัดการเปลี่ยนแปลงของราคามีความเหมาะสมทางวิชาการในการตอบโจทย์ของงานวิจัยมากกว่า
กระนั้น แม้ว่าช่วงเวลาที่เลือกใช้ในการคำนวณจะแตกต่างกัน แต่จากการตรวจสอบพบว่า แพคเกจราคา 2G เดือน พฤษภาคม 2556 ที่โครงการฯใช้ศึกษา ไม่ได้แตกต่างจากวันที่ 7 ธันวาคม 2555 ที่สำนักงาน กสทช. ใช้ เช่นนี้แล้ว ข้อโต้แย้งของสำนักงาน กสทช. จึงไม่ได้ส่งผลให้ข้อสรุปของงานศึกษาเปลี่ยนแปลงไป โครงการฯ ยังคงยืนยันว่า ราคาค่าบริการ 3G โดยเฉลี่ยลดลงไม่ถึง 15% ซึ่งไม่เป็นไปตามข้อกำหนดของ กสทช.
2. สำนักงาน กสทช. วิจารณ์ว่าโครงการ NBTC Policy Watch ใช้ข้อมูลแพคเกจไม่ครบถ้วน เทียบไม่ได้กับการคำนวณราคาของสำนักงาน กสทช.ที่ใช้ข้อมูลแพคเกจมากถึงกว่า 600 แพคเกจ ในประเด็นนี้โครงการฯ มีเหตุผลประกอบการเลือกระเบียบวิธีวิจัยที่ชัดเจน กล่าวคือ โครงการฯ ตั้งใจเลือกใช้แพคเกจขายพ่วงบริการหลายประเภทที่ผู้บริโภคจำนวนมากเลือกใช้อย่างแท้จริงมาทำการคำนวณเท่านั้น ไม่ใช่แพคเกจเฉพาะกิจหรือเฉพาะกลุ่ม ดังนั้น แพคเกจที่ถูกใช้ในการคำนวณจึงมีคุณสมบัติ ดังนี้ (1) ไม่เฉพาะเจาะจงหรือขายพ่วงโทรศัพท์ (2) เปิดให้ลูกค้าทุกราย (3) ให้บริการข้อมูลเป็นปริมาณไม่ใช่เวลา (4) ไม่รวมบริการแถมชั่วคราว (5) ประกาศในเว็บไซต์อย่างชัดเจน และ (6) เป็นของผู้ให้บริการหลัก 3 รายที่มีส่วนแบ่งการตลาดสูง
ในทางตรงกันข้าม โครงการ NBTC Policy Watch เห็นว่า การที่สำนักงาน กสทช. ใช้ทุกแพคเกจที่ผู้ให้บริการรายงานมาเฉลี่ยหาราคาโดยไม่ให้น้ำหนักกับความนิยมหรือจำนวนผู้ใช้ กลับเป็นจุดอ่อนในการคำนวณของ กสทช.เอง เพราะหลายแพคเกจที่นับรวมมาคำนวณอาจไม่มีผู้ใช้บริการจริงเลยหรือมีจำนวนน้อยมาก แต่เมื่อถูกนำมาใช้คำนวณอาจจะส่งผลดึงราคาเฉลี่ยให้ลดลง ซึ่งเป็นเพียงภาพลวงตา เพราะผู้บริโภคไม่ได้รู้สึกถึงการเปลี่ยนแปลงจริงและไม่ได้รับประโยชน์จริงแต่อย่างใด
นอกจากนี้ แนวคิดที่โครงการ NBTC Policy Watch ใช้ในการคำนวณราคาอ้างอิงก็เป็นวิธีที่ใช้กันอย่างแพร่หลายกันทั่วไปในวงวิชาการและวงการกำกับดูแล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มประเทศ OECD[2] อีกทั้งเป็นวิธีที่มีความยืดหยุ่นในการประยุกต์ใช้งาน เพราะการเพิ่มหรือลดแพคเกจที่ต้องการพิจารณาสามารถทำได้ง่าย โครงการฯ จึงขอแนะนำให้สำนักงาน กสทช.ศึกษาระเบียบวิธีที่มีคุณภาพและมีมาตรฐานทางวิชาการที่สูงขึ้นกว่าแนวทางการคำนวณที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ซึ่งมีปัญหาหลายประการ อาทิ ปัญหาการแยกราคาบริการแต่ละประเภทออกจากราคาแพคเกจ ปัญหาการนับรวมแพคเกจที่ผู้บริโภคอาจไม่ได้ใช้จริงหรือไม่สามารถใช้ได้จริง และปัญหาการตีความเพื่อแยกแยะว่าแพคเกจใดเป็นแพคเกจเดิมของ 2G ที่นำมาใช้ต่อใน 3G หรือแพคเกจใดเป็นแพคเกจใหม่ โดยทางโครงการฯ ยินดีให้คำปรึกษาแนะนำและแลกเปลี่ยนทางวิชาการกับทางสำนักงาน กสทช.เพื่อร่วมกันรักษาประโยชน์ของผู้บริโภค
3. งานของโครงการ NBTC Policy Watch มีข้อสรุปสำคัญอื่นๆ นอกเหนือจากเรื่องราคา 3G ที่ยังลดลงไม่ถึง 15% เช่น ราคาค่าบริการในส่วนที่ใช้เกินแพคเกจทั้งค่าโทร (1.5 บาทต่อนาที) และค่าบริการข้อมูล (2 บาทต่อเมกะไบท์) ซึ่งเก็บเกินจากอัตราขั้นสูงที่ กสทช. กำหนด ข้อมูลดังกล่าวมีความชัดเจน ตรวจสอบได้ง่าย และเป็นการกระทำผิดโดยไม่มีข้อโต้แย้ง แต่สำนักงาน กสทช.กลับไม่ได้ใส่ใจที่จะพิจารณาประเด็นดังกล่าวนี้ในข่าวประชาสัมพันธ์ของสำนักงานฯ แต่อย่างใด
4. สำหรับข้อวิจารณ์ที่มีต่อ ดร.พรเทพ เบญญาอภิกุล นักวิจัยประจำโครงการว่าผลิตงานที่ไม่เป็นกลางและไม่มีมาตรฐานด้วยเหตุผลว่า ดร.พรเทพ กำลังร้องเรียนผู้ให้บริการรายหนึ่งว่าลดราคาค่าบริการ 3G ลงไม่ถึง 15%นั้น โครงการฯ ขอชี้แจงว่าการร้องเรียนของ ดร.พรเทพเป็นส่วนหนึ่งของการทดสอบปัญหาของกระบวนการคุ้มครองผู้บริโภคของ กสทช. รวมถึงกระบวนการแก้ปัญหาของผู้ให้บริการเมื่อได้รับการร้องเรียนด้วย วิญญูชนทั่วไปย่อมเข้าใจได้ว่าเหตุการณ์นี้มิใช่เรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนแต่อย่างใด
จากการร้องเรียนของ ดร.พรเทพ โครงการ NBTC Policy Watch พบว่า กระบวนการจัดการเรื่องร้องเรียนล่วงเลยมาเกือบ 1 ปี แต่ก็ยังไม่แล้วเสร็จ ผู้ให้บริการแก้ปัญหาด้วยการเสนอส่วนลดค่าบริการเป็นการเฉพาะรายให้กับ ดร.พรเทพ จนทำให้โครงการฯ ได้ชี้ให้เห็นในการแถลงผลการวิจัยว่า เป็นเรื่องไม่ถูกต้อง เพราะปัญหาเรื่องค่าบริการไม่ลดลงตามข้อกำหนดนั้นควรได้รับการแก้ไขเป็นการทั่วไปโดยไม่เลือกปฏิบัติ ไม่ใช่การแก้ปัญหาเป็นรายบุคคลเฉพาะผู้ร้องเรียน น่าเสียดายที่แทนที่ สำนักงาน กสทช. จะใช้โอกาสนี้ยกระดับการคุ้มครองประโยชน์ของผู้บริโภคให้ถ้วนทั่วในวงกว้าง กลับใช้การทดลองดังกล่าวย้อนกลับมาตั้งคำถามต่อนักวิจัยผู้พยายามปกป้องสิทธิของผู้บริโภค โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อผลสรุปของการศึกษาที่ดำเนินการอย่างตรงไปตรงมาส่งผลลบต่อ กสทช.
อย่างไรก็ตาม การที่สำนักงาน กสทช. ยกเรื่อง “ผลประโยชน์ทับซ้อน” มาใช้ในคราวนี้ ทางโครงการฯ รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ทางสำนักงาน กสทช.ได้ตั้งคำถามและตระหนักถึงปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อนในการปฏิบัติหน้าที่ และหวังว่าสำนักงาน กสทช. จะให้ความสำคัญในเรื่องนี้อย่างหนักแน่นตลอดไปในอนาคต โดยเฉพาะการเรียกร้องมาตรฐานสูงกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในองค์กรกำกับดูแลและผู้ให้บริการ มิใช่กับผู้บริโภครายเล็กรายน้อยอย่างหาสาระมิได้
ท้ายที่สุดนี้ โครงการฯ ขอยืนยันว่างานวิจัยทั้งหมดของโครงการถูกจัดทำขึ้นอย่างอิสระโดยปราศจากผลประโยชน์ใดๆ ภายใต้มาตรฐานทางวิชาการและการตรวจสอบอย่างเคร่งครัดจากผู้ทรงคุณวุฒิภายใต้กระบวนการของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) นอกจากนั้น ในการจัดการแถลงผลการศึกษาและการสัมมนาสาธารณะทุกครั้ง ทางโครงการ NBTC Policy Watch ได้รักษาหลักสิทธิในการโต้ตอบและแลกเปลี่ยนของ กสทช. เสมอมา ดังจะเห็นว่าทางโครงการฯ ได้เชิญฝ่าย กสทช. มาร่วมแลกเปลี่ยนถกเถียงบนเวทีเดียวกันเสมอมา ซึ่งทางโครงการฯ มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ทาง กสทช.หันมาให้ความสนใจงานวิชาการของทางโครงการฯ โดยส่งบุคลากรเข้าร่วมงานเสวนาทางวิชาการและตอบข้อสังเกตเชิงนโยบายของโครงการฯ อย่างต่อเนื่อง เพราะโครงการฯ มีความปรารถนาอย่างแท้จริงที่จะสร้างเวทีสาธารณะเพื่อถกเถียงแลกเปลี่ยนทางปัญญาเกี่ยวกับนโยบายสื่อและโทรคมนาคมของ กสทช. อย่างสร้างสรรค์บนฐานของงานวิชาการ
ในโอกาสที่สำนักงาน กสทช.ประกาศว่าจะส่งหนังสือและข้อมูลมาที่ สกว. ทางโครงการฯ ขอเรียกร้องให้สำนักงาน กสทช. เปิดเผยข้อมูลและวิธีการคำนวณราคา 3G ต่อสาธารณะด้วย เพื่อให้เกิดการถกเถียงและตรวจสอบในสังคมวงกว้าง ทั้งนี้ โครงการฯ จะยังคงยึดมั่นในการตรวจสอบและให้ความเห็นทางวิชาการเพื่อประโยชน์ในการทำหน้าที่ของ กสทช. ภายใต้มาตรฐานทางวิชาการที่มีคุณภาพ และขอร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการรักษาประโยชน์สาธารณะต่อไป
[1]ดูที่ “อัดรายงานวิจัยของ NBTC Policy Watch เรื่องค่าโทร 3จี ไม่ลด 15% ใช้ข้อมูลมั่วเสนอมีหนังสือถึง สกว. ส่งข้อมูลที่ถูกต้อง ย้ำนักวิจัยต้องมีจรรยาบรรณและเป็นกลาง”
http://www.nbtc.go.th/wps/portal/NTC/!ut/p/c5/04_SB8K8xLLM9MSSzPy8xBz9CP0os3hnd0cPE3MfAwMDP09TAyOXMBc_T1dLAwMnU_1wkA48Kowg8gY4gKOBvp9Hfm6qfkF2dpqjo6IiAEc6d5w!/dl3/d3/L2dJQSEvUUt3QS9ZQnZ3LzZfNE83RDVQRzVJQkFWNDBJQ0JDOEo1MTJTQjQ!/?WCM_GLOBAL_CONTEXT=/wps/wcm/connect/library+ntc/internetsite/04newsactivi/0401pubnews/040102news/news_pub_detail/5275588044942cdaa29bfb02798649ff
[2]ดูเพิ่มเติม เช่น OECD (2012), Methodology for Constructing Wireless Broadband Price Basket(DSTI/ICCP/CISP(2011)5/FINAL)(http://search.oecd.org/officialdocuments/publicdisplaydocumentpdf/?cote=DSTI/ICCP/CISP(2011)5/FINAL&docLanguage=En )