กรุงเทพ--25 ส.ค.--กรมการจัดหางาน
นางนิทัศน์ ธีระวิทย์ อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพข้อเท็จจริง และภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน กรมการจัดหางานจึงขอยกเลิกประกาศ เรื่อง กำหนดอัตราค่าจ้างมาตรฐานขั้นต่ำสำหรับการจ้างแรงงานไทยไปทำงานในต่างประเทศ พ.ศ. 2538 และกำหนดอัตราค่าจ้างมาตรฐานขั้นต่ำ และเงื่อนไขสำหรับการจ้างแรงงานไทยไปทำงานในต่างประเทศใหม่ ดังนี้
- อัตราค่าจ้างมาตรฐานขั้นต่ำที่นายจ้างจะต้องจ่ายให้คนหางานไทยต้องไม่ต่ำกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของประเทศนั้น หรือให้เป็นไปตามประกาศของประเทศนั้น ๆ แต่ถ้าประเทศใดไม่มีการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ให้พิจารณาจากอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของกลุ่มประเทศใกล้เคียง ซึ่งจะต้องพิจารณาจากมาตรฐานการครองชีพและรายได้ต่อคนของประชาชนในประเทศนั้น หรือพิจารณาจากข้อมูลที่ได้สอบถามไปยังกระทรวงการต่างประเทศ หรือสำนักงานแรงงานไทยในต่างประเทศ แต่ถ้าทำงานบนยานพาหนะให้เป็นไปตามดุลยพินิจของอธิบดี
- อัตราค่าจ้างมาตรฐานขั้นต่ำนี้ ไม่รวมถึงค่าที่พักและอาหาร เว้นแต่จะมีกฏหมายของประเทศนั้น ๆ กำหนดให้รวม (ต้องระบุในสัญญาจ้าง)
- อัตราค่าจ้างมาตรฐานขั้นต่ำดังกล่าว เป็นอัตราค่าจ้างสุทธิต่อเดือน (สิงคโปร์และบรูไน เป็นรายวัน) ไม่รวมค่าล่วงเวลา โดยคำนวณจากการทำงาน 6 วัน ๆ ละ 8 ชั่วโมง
- ถ้ากฏหมายประเทศใดกำหนดให้หักเงินลูกจ้าง เพื่อจ่ายค่าประกันสังคมหรือค่าภาษีให้นายจ้างหักได้ไม่เกินกว่าที่กฏหมายกำหนดและต้องระบุในสัญญาจ้าง
- ผู้ปฏิบัติงานที่ใช้วิชาชีพ วิชาการและผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้อง อัตราค่าจ้างให้เป็นไปตามที่จะตกลงกัน
- คนหางานจะต้องโอนเงินกลับประเทศไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของค่าจ้างที่ได้รับในแต่ละเดือน
- ค่าเดินทาง กรณีไต้หวันและฮ่องกงนายจ้างจะต้องจ่ายค่าโดยสารเครื่องบินให้คนหางานทั้งไปและกลับ สำหรับประเทศอื่น ๆ กรมการจัดหางานจะพิจารณาจากหลักฐานและสัญญา
- นายจ้างต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับหลักประกันในการนำคนงานต่างชาติเข้าไปทำงานในประเทศของตน
กรณีใดที่ประกาศฉบับนี้ไม่สามารถใช้บังคับได้ หากมีความจำเป็นเร่งด่วน อธิบดีกรมการจัดหางานจะเป็นผู้พิจารณากำหนดตามความเหมาะสม--จบ--