กรุงเทพฯ--4 ก.ค.--มูลนิธิสยามกัมมาจล
เด็กไทยอ่านหนังสือน้อยลง…หรือหนังสือดีๆ มีให้เด็กอ่านน้อยลง?
นี่อาจจะเป็นปัญหาสำคัญที่ทำให้ทุกคนมองว่า “เด็กไทย” ไม่ชอบอ่านหนังสือ แต่จะมีสักกี่คนที่เคยลงไปสำรวจว่าในห้องสมุดมีหนังสือดีๆ อยู่กี่เล่ม และบรรดาหนังสือที่มีอยู่เหมาะสมกับวัยของเด็กหรือไม่
ห้องสมุดในโรงเรียนวัดบ่อทรัพย์ จังหวัดสงขลาอาจเป็นภาพสะท้อนของโรงเรียนนับหมื่นนับพันแห่งในประเทศไทย ที่ ธนพร บุญส่ง หรือ “นุ่น” นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 มองเห็นตั้งแต่เข้ามาเรียนที่นี่
“ห้องสมุดที่นี่มีขนาดเล็ก คับแคบ ไม่สวยงาม และมีหนังสือน้อย ถึงมีก็ไม่ทันสมัย ทำให้นักเรียนไม่สนใจอ่านหนังสือ”
สิ่งที่นุ่นเห็น นำไปสู่การ “คิดต่อ” ว่าจะทำอย่างไรให้ห้องสมุดในโรงเรียนของเธอมีชีวิตและเป็นสถานที่บ่มเพาะนิสัยรักการอ่านให้นักเรียนได้
ไม่เพียงแค่คิด...แต่ต้องลงมือทำ
นุ่นลงรับสมัครตำแหน่งประธานนักเรียนโรงเรียนบ่อทรัพย์ที่มีเด็กจำนวน 300 กว่าคน และนโยบายที่นุ่นได้ให้ไว้คือ “จะทำห้องสมุดของโรงเรียนให้สวยงามและมีหนังสือน่าอ่านมากขึ้น” เมื่อนุ่นได้เป็นประธานนักเรียนแล้ว เป็นช่วงจังหวะเดียวกับ ที่ พรรณิภา โสตถิพันธุ์ หรือ “ป้าหนู” ผู้อำนวยการสงขลาฟอรั่ม เข้ามาแนะนำ โครงการพลังพลเมืองเยาวชนสงขลา ที่ได้รับการสนับสนุจากมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) นุ่นมองเห็นว่านี่อาจจะเป็นช่องทางหนึ่งที่ทำให้ฝันในการสร้าง “ห้องสมุด” ของเธอเป็นจริงขึ้นมา
“ที่เห็นความเป็นไปได้และมั่นใจว่าทำได้ เพราะว่าเราไม่ได้ทำงานคนเดียว ตัวโครงการระบุว่าต้องมีทีมทำงาน 5 คน มีอาจารย์ที่ปรึกษาคอยชี้แนะ และยังมีการอบรมการทำโครงการจากสงขลาฟอรั่มด้วย”
นุ่นนำเรื่องไปปรึกษา ศลิษา มานะศิริ หรือ “ครูษา” บอกเล่าถึงวัตถุประสงค์และความตั้งใจในการทำโครงการ จากนั้นเดินหน้าหาสมาชิกด้วยการออกไปประกาศหน้าเสาธง พบว่ามีน้องๆ ชั้นประถมศึกษาและมัธยมศึกษาให้ความสนใจมากมาย แต่มาสมัครจริงๆเพียง 13 คน ซึ่งเป็นคนที่ชอบอ่านหนังสือและเข้าห้องสมุดเป็นประจำ...แต่สิ่งที่นุ่นต้องการมากกว่า “จิตอาสา” คือ ความสามารถในการทำงานเป็นทีม เป็นเพื่อนคิดเวลางานมีปัญหา
ด้วยเหตุนี้จึงทำให้นุ่นเลือก “ทีมทำงาน” ที่พอรู้จักและมั่นใจได้ว่าจะสามารถทำงานร่วมกันได้ โดยมีครูษาอาสาเข้ามาเป็น “ที่ปรึกษาโครงการ” ช่วยเฟ้นหาคณะทำงานอีกแรง
นอกจากนุ่นแล้วยังมี วนัชพร หวั่นเส้ง หรือ “กิ๊ฟ” บุษยา พิมพาชะโร หรือ “บุษ” พิมพิศา ปาณะ หรือ “โอ๊ต” และ อารีรัตน์ งาหัตถี หรือ “แนน” ภายใต้ชื่อกลุ่มจิตใสอาสา ซึ่งบางคนเป็นเพื่อนของนุ่น บางคนเป็นรุ่นน้อง เพราะนุ่นคาดหวังว่าให้รุ่นน้องมาสานต่องานของรุ่นพี่หลังจากที่พวกเขาจบการศึกษา
ความละเอียดรอบคอบของนุ่น มิได้มีเฉพาะการ “คัดเลือก” คนมาร่วมทีมเท่านั้น แต่เธอยังเป็นคนที่มุ่งมั่นกับงานที่เธอปรารถนาจะทำให้มันเกิดขึ้นในช่วงที่เธอยังเรียนอยู่ที่นี่...และที่สำคัญต้องเสร็จให้ทันกับระยะเวลาที่กำหนด
ดังนั้นงานชิ้นแรกของกลุ่มก็คือการตั้งชื่อโครงการ...ชื่อที่ต้องใช้สื่อสารกับกลุ่มคนที่พวกเขาต้องเข้าไปติดต่อประสานงาน
“เราอยากทำให้ห้องสมุดไม่เงียบเหงา เป็นห้องสมุดแห่งความสนุกสนาน มีแต่ความบันเทิง และไม่เครียด” นี่คือโจทย์ที่นุ่นทิ้งให้เพื่อนและน้องร่วมกันคิด...ซึ่งอาจจะดูขัดกับความเป็นจริงของห้องสมุดทั่วๆ ไปคือ “ความสงบเงียบ” เท่านั้นที่ห้องสมุดต้องการ
“พวกเราตั้งชื่อว่าโครงการห้องสมุดคาเฟ่เคลื่อนที่พี่สอนน้อง เอาคำว่า “คาเฟ่” ที่หมายถึง ความสนุกสนาน ความบันเทิง ไม่เครียด ไม่ใช่ว่าเข้าห้องสมุดแล้วเงียบเหงา ส่วน “เคลื่อนที่” หมายถึงการเอาหนังสือไปหาน้อง โดยไม่ต้องให้น้องๆ ขึ้นมาบนห้องสมุด “พี่สอนน้อง” คือ เราต้องการหาแกนนำให้มาสอนน้อง ชักจูงน้องเป็นลูกโซ่ เพื่อให้น้อง ๆ มาทำต่อจากเรา”
เริ่มต้นที่ “ข้อมูล”
กลุ่มจิตใสอาสาจึงเริ่มลงมือสำรวจน้องๆ ในโรงเรียนเกี่ยวกับการอ่านหนังสือ และการใช้ห้องสมุด โดยใช้แบบสอบถามที่ครูษาช่วยออกแบบให้
“เราอยากให้น้องในโรงเรียนเข้าห้องสมุดมากขึ้น จากสถิติเดิมวิธีการคือ ให้คุณครูบรรณารักษ์ประจำอยู่หยอดแผ่นพลาสติกประจำชั้นเวลามีเด็กเข้าไปใช้ห้องสมุด พอถึงกำหนดก็เอาออกมานับ และครูก็จะให้รางวัลเด็กที่เข้าห้องสมุดเป็นประจำ....แต่ที่น่าตกใจคือพอเอาสถิติมาดูปรากฏว่าคนเข้าห้องสมุดน้อยมาก“
เมื่อเห็นว่า “ห้องสมุดเริ่มร้างคน” นุ่นและทีมจึงจัดทำแบบสอบถามใหม่อีกชุดเพื่อสำรวจความต้องการในการใช้ห้องสมุด ด้วยการลงไปสำรวจคนในโรงเรียน ทั้งถามแบบตัวต่อตัว และแจกแบบสอบถาม ข้อมูลที่ค้นพบคือ ห้องสมุดมีหนังสือน้อย ที่มีอยู่ก็เล่มเก่าๆ เดิมๆ บางเล่มอ่านซ้ำแล้วซ้ำอีก อยากได้หนังสือใหม่ๆ บ้าง
นุ่นและเพื่อนแก้ปัญหาด้วยการเชิญชวนผู้ปกครองและชาวบ้านให้มาบริจาคหนังสือ แม้จะมีการบริจาคเข้ามามากมาย แต่หนังสือที่ได้ก็ไม่ตรงกับความต้องการของเด็กๆ ในโรงเรียน บางเล่มก็ไม่เหมาะสมกับวัยของน้องๆ ในโรงเรียน นุ่นจึงคัดเลือกบางส่วนที่เป็นประโยชน์เก็บไว้ ส่วนที่ไม่ใช้ก็นำไปขายเพื่อนำเงินมาสมทบทุนพัฒนาห้องสมุด เช่น อุปกรณ์การเรียน หนังสือดีๆ หรือของตกแต่งห้องสมุดให้สวยงาม
แต่ถึงกระนั้นก็ตาม “หนังสือ” ที่ได้รับบริจาคจากในชุมชนก็ยังไม่เป็นที่พอใจของกลุ่มจิตใสอาสา นุ่นและเพื่อนจึงเริ่มเขียนจดหมายด้วยลายมือกว่า 100 ฉบับเพื่อขอความอนุเคราะห์หนังสือจากสำนักพิมพ์ต่างๆ ที่เธอพอจะรู้จัก เช่น ซีเอ็ด และสำนักพิมพ์อื่นๆ
น้องไม่มาหาหนังสือ..เราก็เอาหนังสือไปหาน้อง
ระหว่างรอคำตอบจากสำนักพิมพ์ นุ่นก็ไม่อยู่เฉยจัดแบ่งทีมในกลุ่มแกนนำ ชวนเพื่อนรวมกลุ่มมาอ่านหนังสือให้น้องฟังโดยคัดเอาหนังสือและการ์ตูนที่คิดว่าน้องๆ สนใจใส่ตะกร้าไปอ่านให้น้องฟัง
และแล้วกิจกรรม “ห้องสมุดคาเฟ่เคลื่อนที่” ซึ่งนุ่นจำรูปแบบกิจกรรมนี้มาตั้งแต่เรียนชั้น ป.2 - ป.3 ที่คุณครูนำหนังสือหนังสือใส่ตะกร้าแล้วมาวางไว้ที่ม้าหินอ่อนเพื่อให้เด็กนักเรียนอ่าน เลยคิดว่าถ้าทำแบบนั้นกับโครงการของพวกเราน่าจะดี เพราะเห็นว่าน้องๆ ไม่ชอบเข้าห้องสมุด แต่สิ่งที่เราคิดต่อคือ ถ้าเขาไม่มา เราก็จะไปหาเอง
นุ่นเล่าต่อว่า ครั้งแรกที่หิ้วตะกร้าหนังสือลงไปหาน้องๆ นั้น ไม่ประสบความสำเร็จมากนัก ไม่มีใครสนใจเลย ขณะที่สมาชิกในทีมก็ไม่กล้าพูดจาโน้มน้าวเชิญชวน ทางออกตอนนั้นคือพยายามให้กำลังใจกันเองว่าถ้าไม่ทำน้องๆ ก็จะไม่เข้าห้องสมุดอ่านหนังสือและจะอ่านหนังสือไม่ออก ส่วนครูษาก็คอยให้กำลังใจบอกว่า ท้อได้แต่อย่าถอย ทำให้สมาชิกมีกำลังใจเพิ่มขึ้น
หลังได้กำลังใจจากครูและสมาชิกในทีม กลุ่มจิตใสใจอาสาก็เริ่มเข้าหาน้องๆ มากขึ้น พยายามปรับกลยุทธ์ในการพูด จากหยิบหนังสือขึ้นมาอ่านเป็นเริ่มต้นด้วยการเล่นเกม มีตุ๊กตาหรือหุ่นมือประกอบการเล่า นอกจากนั้นยังดัดเสียงสูงๆ ต่ำๆ เป็นเหมือนตัวละครในนิทานที่อ่านให้น้องๆ ฟัง
“เรามาทบทวนความผิดพลาดในครั้งแรก และหาวิธีที่จะทำให้น้องๆ มาอ่านหนังสือกับพวกเรา วันหนึ่งตอนที่เดินอ่านหนังสือในห้องสมุดมองเห็นตุ๊กตา จึงเกิดความคิดว่าทำไมไม่เอาไปอ่านร่วมกับการเล่านิทาน เพราะในห้องสมุดมีตุ๊กตาวางอยู่เฉยๆ หลายตัว”
จากนั้นน้องๆ อนุบาลก็ถูกหลอกล่อให้สนใจหนังสือนิทานด้วย “ละครหุ่นมือ” ที่กลุ่มคิดขึ้น แม้จำนวนน้องๆที่มาจะไม่มาก แต่นุ่นก็คิดว่ากิจกรรมครั้งนี้ ประสบความสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ
แต่กลุ่มจิตใสอาสาก็มิได้หยุดอยู่แค่นั้น... นุ่นแบ่งเพื่อนๆ แกนนำเป็น 5 กลุ่ม กระจายกำลังกันออกไปอ่านนิทานให้น้องๆ ฟังตามมุมต่างๆ ในโรงเรียน และระหว่างที่อ่านหนังสือก็จะมีกิจกรรม “ตอบคำถามชิงรางวัล” ไปด้วย
“คาเฟ่” แห่งการเรียนรู้
ผลของความเพียรพยายามของนุ่นและเพื่อนๆ ในระยะเวลา 4 - 5 เดือนของการทำโครงการ พบว่ามีน้องๆ ระดับชั้นอนุบาลสนใจเข้าร่วมฟังนิทานที่พี่ๆ นำมาเล่าประกอบละครหุ่นมือเพิ่มขึ้น และสิ่งที่สร้างความยินดีให้กับนุ่นและเพื่อนมากที่สุดคือ มีหนังสือจากสำนักพิมพ์ซีเอ็ดบุ๊ค และสำนักพิมพ์อื่นๆ มูลค่านับแสนบาททยอยมาส่งที่โรงเรียนวัดบ่อทรัพย์ ทำให้ “ห้องสมุดโรงเรียนวัดบ่อทรัพย์” มีจำนวนหนังสือเพิ่มขึ้น และมีสื่อเทคโนโลยีที่ทันสมัยให้เด็กๆ นักเรียนในโรงเรียนได้ใช้อย่างไม่น้อยหน้าใคร อีกทั้งยังมีสถานที่ที่มีความสวยงามและน่าใช้มากขึ้น
ทั้งหมดนี้เกิดจากความพยายามของเด็กผู้หญิงตัวเล็กๆ กลุ่มหนึ่งที่รักหนังสือและอยากทำประโยชน์ อยากให้น้องๆ ในโรงเรียนอ่านหนังสือออก สิ่งที่เกิดขึ้นกับเด็กกลุ่มจิตใสอาสามีค่ามากกับตนเองและผู้อื่น คือสิ่งดีๆ ที่ยังคงมีคนรุ่นใหม่ที่ใส่ใจต่อสังคม
พรรณิภา โสตถิพันธุ์ หรือ “ป้าหนู” ผู้อำนวยการสงขลาฟอรั่ม เล่าว่า ช่วงแรกที่เด็กๆ กลุ่มจิตใสอาสาร่วมกันคิดชื่อ “โครงการห้องสมุดคาเฟ่เคลื่อนที่พี่สอนน้อง” นั้น แม้ความหมายรวมๆ ของคำว่า “ห้องสมุด” คำว่า “คาเฟ่” และ คำว่า “เคลื่อนที่” จะไปกันคนละทิศคนละทาง แต่เมื่อนำเอาคำทั้ง 3 มารวมกัน ก็จะได้ความหมายที่ชัดเจนในแง่ของการ “ส่งสาร”
“นี่เป็นทักษะหนึ่งของการสื่อสาร ที่เด็กๆ พยายามบอกกล่าวให้คนได้รับรู้ว่า ห้องสมุดของพวกเขาเคลื่อนที่ได้ ขณะเดียวกันก็ยังเป็นห้องสมุดแห่งความสนุกสนาน เพราะเขาตีความคำว่า “คาเฟ่” คือเรื่องของความสนุกสนาน แปลโดยรวมๆ คือ ห้องสมุดแห่งความสนุกสนานเคลื่อนที่ได้...และเขาก็ทำได้จริง ๆ “
การเกิดขึ้นของทักษะด้านการสื่อสารมิได้มีเฉพาะการตั้งชื่อโครงการเท่านั้น แต่ระหว่างการกำกิจกรรมเด็กๆ ทั้ง 5 คนล้วนเกิด “กระบวนการเรียนรู้” และเกิด “ความเปลี่ยนแปลง” หลายด้าน โดยเฉพาะการปรับเทคนิคการพูด และการสื่อสารผ่านละครหุ่นมือ หรือแม้แต่การเล่านิทาน เหล่านี้คือ “สิ่งใหม่” ที่เกิดขึ้นระหว่างที่เด็กๆ ได้ทำกิจกรรมร่วมกัน
ถ้ามองในเชิงความเปลี่ยนแปลงที่ตัวบุคคล สำหรับนุ่นที่เจ้าตัวบอกว่า “เป็นคนอารมณ์ร้อน ปากจัด และมักพูดก่อนคิด” โครงการห้องสมุดคาเฟ่เคลื่อนที่พี่สอนน้อง ที่นิยามบอกชัดแล้วว่า “ต้องสนุกสนาน” ทำให้นุ่นต้องเตือนตัวเองในทุกๆ ครั้งที่ทำกิจกรรมกับน้องๆ ทำให้นุ่นเป็นคนใจเย็นขึ้นโดยที่ตัวเองก็ไม่รู้ตัว
“อยู่กับน้องๆ มาอ่านหนังสือให้น้องๆ ฟัง ทำให้กลายเป็นคนใจเย็นไปเลย เพียงแค่เห็นน้องๆ มานั่งฟังเราเล่านิทาน เราก็มีความสุขแล้ว” นุ่นบอก
บุตรเลขานุการของทีม บอกว่า นอกจากจะมีหน้าที่จัดทำรายงานและสรุปกิจกรรมของกลุ่มแล้ว บุตรยังต้องลงไปช่วยเพื่อนๆ อ่านหนังสือให้น้องๆ ฟังด้วย
“ทำเหมือนทุกคน พาน้องๆ ขึ้นไปบนห้อง บางทีก็อ่านให้น้องๆ ฟังหนังสือไปตามห้องเลย ตามใต้ต้นไม้บ้าง ต้องถามน้องๆ ก่อนว่าจะไปนั่งตรงไหน คือทุกคนจะมีหน้าที่เหมือนๆ กัน แต่สิ่งที่ได้เรียนรู้มากคือการจดบันทึก และสรุปประเด็นเพื่อเอาข้อมูลมานำเสนอ”
ส่วนกิ๊ฟที่รับผิดงานการเงินบอกว่า รู้สึกภูมิใจกับการทำกิจกรรมของตนเอง และเห็นว่าน้องสนใจและให้ความสำคัญกับการอ่านก็จะรู้สึกหายเหนื่อย
แม้ผลสำเร็จที่เกิดขึ้นจะนำความภาคภูมิใจมาสู่คนทำงาน โรงเรียน และเกิดผลต่อชุมชน แต่เหนือสิ่งอื่นใดคือการที่พวกเขาพิสูจน์ให้เห็นว่า “เพียงแค่คิด” ก็มิอาจเดินไปสู่จุดหมายได้ หากไม่ได้ “ลงมือทำ”
และสิ่งนี้ก็สะท้อนให้เห็นว่า “การทำเรื่องเล็ก ๆ ตามศักยภาพ” ก็สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ได้...