กรุงเทพฯ--4 ก.ค.--แมสคอท คอมมิวนิเคชั่น
โรคเส้นเลือดขั้วหัวใจเกิน ในสัตว์เลี้ยง ( Patent Ductus Arteriosus, PDA )
โดย สพ.ญ.สุชาดา หัทยานานนท์
โรคเส้นเลือดขั้วหัวใจเกิน ในสัตว์เลี้ยง ( Patent Ductus Arteriosus, PDA ) เป็นความผิดปกติของหัวใจตั้งแต่เกิด พบในสุนัขและแมว มักพบบ่อยในสุนัข สายพันธุ์สุนัขเล็กพบได้ใน พันธุ์ชิวาว่า ปอมเมอเรเนียน มอลตีส พูเดิ้ล ส่วนสายพันธุ์สุนัขใหญ่ พบได้ในพันธุ์เยอรมันเชพเพริด ไอริสเซ็ทเตอร์ และตระกูลคอลลี่
สาเหตุ
เกิดจากเส้นเลือดเล็กๆ ที่เรียกว่า ductus arteriosus ซึ่งเชื่อมอยู่ระหว่างเส้นเลือดใหญ่ aorta (นำพาเลือดแดง) และ เส้นเลือด pulmonary artery(นำพาเลือดดำ) ปิดไม่สนิท โดยในขณะที่สุนัขอยู่ในท้อง ductus arteriosus จะเปิดอยู่เพื่อช่วยในการไหลเวียนของเลือดจากแม่สุนัขไปสู่ลูกสุนัข เมื่อสุนัขเกิด และเริ่มหายใจเองจะมีแรงดันออกซิเจนในเลือดสูงขึ้นทำให้ ductus arteriosus ปิด และจะปิดอย่างสมบูรณ์ ภายใน 1 สัปดาห์หลังจากเกิด แต่ถ้าหาก ductus arteriosus ปิดไม่สนิท จะเกิดรูรั่ว ทำให้เลือดดำไหลปนกับเลือดแดงในหัวใจ ทำให้เกิดเสียงหัวใจผิดปกติ หัวใจทำงานหนักมากขึ้น และ โตขึ้น
อาการของโรค
สุนัขจะมีอาการเหนื่อยง่าย ไม่โต ไม่ร่าเริงเหมือนสุนัขตัวอื่นในคอก หอบ และ ไอ หากมีอาการมาก อาจมีอาการเป็นลม หมดสติ หรือชัก ได้ โดยสุนัขอาจตายตั้งแต่แรกเกิด ถึงอายุ 3ปี ขึ้นอยู่กับขนาดรูรั่วที่เส้นเลือด
สุนัขที่เป็นโรคนี้ จะมีอาการหรือไม่มี หรือรุนแรงแค่ไหนขึ้นอยู่กับขนาดของ รู PDA ที่รั่ว ถ้า มีขนาดเล็กก็จะไม่มีอาการ แต่อาจตรวจพบเสียงการเต้นของหัวใจผิดปกติแบบต่อเนื่อง (continuous heart murmur) ถ้ามีขนาดใหญ่สุนัขจะผอม โตช้า ติดเชื้อง่าย ซีด เหนื่อยง่าย และมีอาการของหัวใจวาย
การตรวจวินิจฉัย
หากลูกสุนัขมีอาการดังกล่าว ควรพาไปพบสัตวแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยโรค สัตวแพทย์จะทำการซักประวัติอย่างละเอียด ฟังเสียงหัวใจ เอกซเรย์ช่องอก ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ และการตรวจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนหัวใจ (echocardiography) ซึ่งจะช่วยในการวินิจฉัยความผิดปกติได้ หากสุนัขมีอาการหัวใจล้มเหลว จะรักษาด้วยยาที่ประคับประคองอาการหัวใจล้มเหลวเมื่ออาการดีขึ้น ควรจะได้รับการผ่าตัดปิด PDA (PDA ligation) ในรายที่ไม่ปิดเองไม่ว่า PDA จะมีขนาดเล็กหรือใหญ่ก็ตาม แต่มีบางกรณีที่ไม่สามารถทำการผ่าตัดแก้ไขได้
การรักษา
โรคเส้นเลือดขั้วหัวใจเกิน สามารถทำการรักษาได้3วิธี
1. ทานยาประคับประคองภาวะหัวใจล้มเหลว กรณีไม่สามารถทำการผ่าตัดได้
2. ผ่าตัดเปิดช่องอกและปิดเส้นเลือดหัวใจที่รั่วนั้น โดยวิธีมัด หรือวิธีใส่ clip
3. การรักษาโดยไม่ผ่าตัด แต่ใส่อุปกรณ์ผ่านท่อ และสอดเข้าเส้นเลือดที่ขา เพื่อเข้าไปปิดรูที่รั่วนั้น
โดยความสำเร็จของการผ่าตัดขึ้นอยู่กับประสปการณ์ของหมอที่ทำการผ่าตัด และสภาวะการทำงานของหัวใจ