กรุงเทพฯ--7 ก.ค.--กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) จัดประชุมหารือเรื่อง"รายงานการค้ามนุษย์ ประจำปี ๒๕๕๗ ของสหรัฐอเมริกา" เพื่อพิจารณาประเด็นต่างๆ ที่ปรากฏใน TIP Report รวมถึงหาแนวทางการดำเนินงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมี นายวิเชียร ชวลิต ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธานการประชุม พร้อมด้วย พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พล.ต.อ.ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ม.ล.ปุณฑริก สมิติ รองปลัดกระทรวงแรงงาน นางญาณี เลิศไกร อธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ รวมทั้งผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์
ทั้งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ (ปคม.) และคณะกรรมการประสานและกำกับการดำเนินงานป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ (ปกค.) เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุม ชั้น ๘ อาคารหลังใหม่ กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ สะพานขาว กรุงเทพฯ
นายวิเชียร ชวลิต ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เปิดเผยหลังการประชุมว่า ที่ประชุมได้หารือภารกิจการดำเนินการแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ การจัดทำรายงาน และแบ่งการดำเนินงานของแต่ละหน่วยงานที่รับผิดชอบในส่วนต่างๆ ตามกรอบงาน ๕ พี คือ การดำเนินคดี การคุ้มครองผู้เสียหาย การป้องกัน การกำหนดนโยบายกลไกการปฏิบัติงาน และความร่วมมือประเทศต่างๆ เป็นกลไกลหลักในการขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ ทั้งนี้ เพื่อให้การทำงานเกิดผลสัมฤทธิ์ ได้กำหนดให้มีการประชุมติดตามการดำเนินงานทุกเดือนเริ่มตั้งแต่เดือนก.ค. นี้เป็นต้นไป โดยจะนำข้อมูลจากคณะอนุกรรมการที่รับผิดชอบแต่ละด้าน รวมทั้งข้อมูลจากคณะอนุกรรมการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ระดับจังหวัดมาพิจารณาด้วย สำหรับการจัดทำรายงานเสนอต่อสหรัฐฯ โดยปกติในช่วงที่ประเทศไทยถูกจัดอันดับให้อยู่ในอันดับประเทศที่ถูกจับตามมองหรือ Tier ๒ Watch List นั้น จะต้องส่งรายงานในช่วงเดือนพ.ย.ปีที่ถูกประเมิน และก.พ.ในปีถัดไป ซึ่งการทำรายงานเสนอต่อสหรัฐฯครั้งนี้ คาดว่าจะอยู่ในช่วงเวลาดังกล่าว โดยรายงานที่จัดส่งไปสหรัฐฯ จะเป็นไปในรูปแบบทั้งข้อมูลที่จะใช้ประกอบการประเมินในปีถัดไป รวมถึงผลงานที่แสดงให้เห็นถึงผลงานที่ดำเนินงานในปีล่าสุด ส่วนการจัดอันดับเป็นการประเมินฝ่ายเดียวโดยสหรัฐฯ ดังนั้นการปลดล็อคจากอันดับต่ำสุดอยู่ที่สหรัฐฯ ซึ่งสิ่งที่จะดำเนินการหลังจากนี้ไม่ใช่เพื่อแก้ข้อกล่าวหาอย่างเดียว แต่จะดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ให้หมดไป โดยคำนึงถึงสิทธิของพลเมือง ความยุติธรรม สิทธิมนุษยชน รวมถึงแสดงถึงความก้าวหน้าในการดำเนินงานของเราเป็นหลัก
นายวิเชียร กล่าวต่อว่า เพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาการค้ามนุษย์และประเด็นต่างๆที่เกี่ยวข้อง ได้มีการเผยแพร่ต่อสาธารณะและให้ทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วม จึงให้จัดเวทีสื่อสารสาธารณะ โดยเปิดเวทีอธิบายให้องค์กรที่เกี่ยวข้อง ภาคเอกชน ผู้สนใจได้รับทราบข้อมูลว่าที่ผ่านมาทุกฝ่ายได้ขับเคลื่อนการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ดำเนินการประสบผลสำเร็จหรือมีอุปสรรค์ในการแก้ไขปัญหาอย่างไร รวมทั้งเปิดพื้นที่ให้ทุกคนได้มีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ให้สำเร็จ นอกจากนี้ สำหรับประชาชนทั่วไปสามารถแจ้งเบาะแสปัญหาการค้ามนุษย์ทางลับได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ ๐๒-๖๕๙๖๓๘๒-๖ เพื่อเป็นข้อมูลให้กับเจ้าหน้าที่ได้อีก ๑ ช่องทางด้วย