กรุงเทพฯ--8 ก.ค.--ทริสเรทติ้ง
ทริสเรทติ้งจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีประกันในวงเงินไม่เกิน 2,500 ล้านบาทของ บริษัท ไทคอน
อินดัสเทรียล คอนเน็คชั่น จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ “A” พร้อมทั้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันชุดปัจจุบันของบริษัทที่ระดับ “A” เช่นกัน โดยแนวโน้มยังคง “Stable” หรือ “คงที่” ทั้งนี้ อันดับเครดิตสะท้อนถึงสถานะผู้นำของบริษัทในธุรกิจโรงงานสำเร็จรูปและคลังสินค้าให้เช่า ตลอดจนกระแสเงินสดที่สม่ำเสมอจากรายได้ค่าเช่าโรงงานและคลังสินค้า อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตถูกลดทอนบางส่วนจากภาระหนี้ที่เพิ่มสูงขึ้นจากการลงทุนจำนวนมาก ในขณะที่แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” อยู่บนพื้นฐานการคาดการณ์ว่าบริษัทจะยังคงสามารถรักษาความเป็นผู้นำในตลาดโรงงานสำเร็จรูป และคลังสินค้าให้เช่าได้ต่อไป ทั้งนี้ คาดว่าบริษัทจะสามารถเพิ่มอัตราการเช่าและสามารถควบคุมระดับหนี้สินให้เหมาะสมแม้ในช่วงที่มีการขยายการลงทุน
บริษัทไทคอน อินดัสเทรียล คอนเน็คชั่นเป็นผู้นำในธุรกิจโรงงานสำเร็จรูปให้เช่าในประเทศไทย โดยก่อตั้งในปี 2533 และจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในปี 2545 บริษัทได้ขยายธุรกิจสู่การให้บริการคลังสินค้าให้เช่าตั้งแต่ปี 2548 โดย ณ เดือนพฤษภาคม 2557 บริษัทมีโรงงานให้เช่าจำนวน 83 แห่งและมีคลังสินค้าให้เช่าจำนวน 51 แห่งซึ่งตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมและพื้นที่โลจิสติกส์หลักของประเทศ รวมเป็นพื้นที่ให้เช่าทั้งสิ้น 524,170 ตารางเมตร (ตร.ม.)
ปัจจุบันผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทยังคงเป็น บริษัท สวนอุตสาหกรรมโรจนะ จำกัด (มหาชน) (20.5%) กลุ่มซิตี้เรียลตี้ (7.1%) และกลุ่มผู้บริหารของบริษัท (6.7%) ความได้เปรียบในการแข่งขันของบริษัทมาจากผลงานการให้เช่าโรงงานสำเร็จรูปที่มีคุณภาพ รวมทั้งความสามารถในการก่อสร้างโรงงานสำเร็จรูปตามมาตรฐานในราคาที่ต่ำกว่าคู่แข่งจากการใช้ทีมงานก่อสร้างของบริษัทเอง จากรายงานของ CB Richard Ellis (CBRE) ระบุว่าบริษัทยังคงเป็นผู้นำในธุรกิจโรงงานสำเร็จรูปและคลังสินค้าให้เช่าในประเทศไทย ณ เดือนมีนาคม 2557 บริษัทและกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ในเครือมีส่วนแบ่งทางการตลาดของพื้นที่โรงงานให้เช่ารวม 50% ซึ่งสูงกว่าคู่แข่งรายอื่น โดยคู่แข่งสำคัญประกอบด้วย บริษัท เหมราชพัฒนาที่ดิน จำกัด (มหาชน) (19%) บริษัท ปิ่นทอง อินดัสเตรียล ปาร์ค จำกัด (11%) นอกจากนี้ บริษัทยังเป็น 1 ใน 2 ของผู้ให้บริการคลังสินค้าให้เช่ารายใหญ่ของประเทศไทย พื้นที่คลังสินค้าให้เช่าของบริษัทและกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ คิดเป็น 48% ของพื้นที่คลังสินค้าให้เช่าของทั้งประเทศ
ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2557 พื้นที่ให้เช่ารวมของบริษัทเพิ่มขึ้นมาก โดยพื้นที่ให้เช่าของบริษัท (ไม่นับรวมการขายสินทรัพย์เข้ากองทุน) เพิ่มขึ้นรวม 175,657 ตร.ม. เทียบกับการเพิ่มขึ้น 130,000-150,000 ตร.ม. ต่อปีในปี 2555-2556 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการเพิ่มขึ้นของพื้นที่คลังสินค้าในพื้นที่ภาคกลาง พื้นที่คลังสินค้าให้เช่าของบริษัทเพิ่มขึ้น 136,217 ตร.ม. ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2557 เทียบกับการเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 160,000 ตร.ม. ต่อปีในช่วงปี 2554-2555 สำหรับธุรกิจโรงงานให้เช่า พื้นที่เพิ่มขึ้นเท่ากับ 39,440 ตร.ม. ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2557 พื้นที่โรงงานให้เช่าที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่มาจากความต้องการที่เพิ่มขึ้นในเขตภาคตะวันออก ในขณะที่ความต้องการในเขตที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม (จังหวัดอยุธยาและปทุมธานี) ยังไม่ฟื้นตัว
รายได้ค่าเช่าของบริษัทในปี 2556 เพิ่มขึ้น 5% เป็น 1,110 ล้านบาทจาก 1,053 ล้านบาทในปี 2555 สำหรับไตรมาสแรกของปี 2557 รายได้ค่าเช่าอยู่ที่ระดับ 202 ล้านบาท ลดลง 25% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน รายได้ค่าเช่าที่ลดลง เนื่องจากบริษัทขายสินทรัพย์เข้ากองทุนจำนวนมากในช่วงเดือนธันวาคม 2556 รายได้จากการขายสินทรัพย์เข้ากองทุนรวมยังคงเป็นรายได้หลักของบริษัท รายได้จากการขายสินทรัพย์เข้ากองทุนรวมเท่ากับ 4,663 ล้านบาทในปี 2556 และ 498 ล้านบาทในไตรมาสแรกของปี 2557
อัตรากำไรขั้นต้นของค่าเช่าปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็น 76% ในปี 2556 และ 75% ในไตรมาสแรกของปี 2557 หากไม่รวมผลกระทบจากการเปลี่ยนนโยบายบัญชีเรื่องการจัดประเภทสินทรัพย์ใหม่ อัตรากำไรขั้นต้นของค่าเช่าเท่ากับ 68% ในปี 2556 และปรับตัวเพิ่มขึ้นเท่ากับ 72% ในไตรมาสแรกของปี 2557 ซึ่งใกล้เคียงกับช่วงก่อนน้ำท่วมในปี 2553-2554
ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา บริษัทมีค่าใช้จ่ายในการลงทุนเพิ่มขึ้นมากเนื่องจากบริษัทมีการลงทุนสร้างโรงงานและคลังสินค้าเพิ่มเติมเพื่อรองรับความต้องการโรงงานและคลังสินค้าให้เช่าที่เพิ่มสูงขึ้นโดยเฉพาะในเขตภาคตะวันออกและจังหวัดใหญ่ ๆ การขยายพื้นที่ให้เช่าเพิ่มขึ้นมาก ทำให้อัตราการเช่าไม่รวมพื้นที่เช่าล่วงหน้า (Pre-leased area) ณ เดือนพฤษภาคม 2557 ปรับตัวลดลงเป็น 60% เทียบกับ 73% ณ สิ้นปี 2555 อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราการเช่าจะ ค่อย ๆ ปรับตัวดีขึ้น จากความต้องการพื้นที่เช่าคลังสินค้าที่เพิ่มขึ้นในเขตบางนา และความต้องการโรงงานสำเร็จรูปให้เช่าในเขตภาคตะวันออก ทั้งนี้ ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม 2557 บริษัทมีพื้นที่เช่าล่วงหน้า (Pre-leased area) เท่ากับ 89,363 ตร.ม. ซึ่งจะทยอยเข้ามาใช้พื้นที่ในช่วงครึ่งหลังของปี 2557
อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนเพิ่มขึ้นเป็น 65.5% ณ เดือนมีนาคม 2557 จาก 57.3% ในปี 2555 จากการลงทุนในทำเลใหม่ บริษัทมีแผนลงทุนประมาณ 8,000 ล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2557-2558 อย่างไรก็ตาม บริษัทมีความสามารถในการจัดหาเงินลงทุน ทั้งจากการเพิ่มทุนและการขายสินทรัพย์ให้แก่กองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REITs) บริษัทประสบความสำเร็จในการเพิ่มทุนโดยการออกใบแสดงสิทธิในการซื้อหุ้นเพิ่มทุนที่โอนสิทธิได้ (TSRs) ได้รับเงินประมาณ 2,300 ล้านบาทในเดือนมิถุนายน 2557 และในปี 2557 บริษัทมีแผนจะขายสินทรัพย์มูลค่าประมาณ 5,000-6,000 ล้านบาทเข้ากองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REITs)
เหตุการณ์รัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ส่งผลให้สถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองที่ยืดเยื้อมายาวนานได้ยุติลง ในมุมมองของทริสเรทติ้งคาดว่าการประกาศกฎอัยการศึกและรัฐประหารจะส่งผลลบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน
และธุรกิจท่องเที่ยวอย่างน้อยในระยะสั้น อย่างไรก็ตาม ในระยะยาวผลจากการรัฐประหารต่อเศรษฐกิจไทยขึ้นอยู่กับนโยบายและความสำเร็จในการปฏิรูปการเมืองและสังคมที่ดำเนินการโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หากนโยบายดังกล่าวสามารถยุติความขัดแย้งได้ เศรษฐกิจโดยรวมของประเทศจะปรับตัวดีขึ้น ทั้งนี้ คสช. ได้ประกาศแผนปฏิรูปทางการเมืองเพื่อให้เข้าสู่ระบอบประชาธิปไตย แผนปฏิรูปทางเศรษฐกิจที่จะช่วยกระตุ้นการบริโภคและการลงทุนในประเทศ และแผนดังกล่าวได้รับการตอบรับที่ดีจากนักลงทุนและประชาชนทั่วไป
บริษัท ไทคอน อินดัสเทรียล คอนเน็คชั่น จำกัด (มหาชน) (TICON)
อันดับเครดิตองค์กร: A
อันดับเครดิตตราสารหนี้:
TICON155A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 800 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2558 A
TICON158A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 700 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2558 A
TICON162A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2559 A
TICON165A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 650 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2559 A
TICON165B: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 300 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2559 A
TICON169A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 600 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2559 A
TICON171A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 100 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2560 A
TICON171B: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2560 A
TICON177A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2560 A
TICON178A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 300 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2560 A
TICON185A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,200 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2561 A
TICON187A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 350 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2561 A
TICON189A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 300 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2561 A
TICON19OA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 620 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2562 A
TICON191A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 600 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2562 A
TICON205A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2563 A
TICON229A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2565 A
หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันในวงเงินไม่เกิน 2,500 ล้านบาท ไถ่ถอนภายในปี 2567 A
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable