กรุงเทพฯ--8 ก.ค.--สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ
ทุกวินาทีล้วนมีความสำคัญต่อผู้ป่วยฉุกเฉิน ดังนั้นการช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพจะทำให้ลดการสูญเสียชีวิตของผู้ป่วย ปัจจุบันนี้จึงถือเป็นเรื่องที่น่ายินดีสำหรับแวดวงการแพทย์ฉุกเฉินของประเทศไทยที่ได้มีการเปิดสอนหลักสูตรนักปฏิบัติการฉุกเฉินการแพทย์ (นฉพ.) หรือเรียกง่ายๆว่า “กู้ชีพ ป.ตรี” เพื่อทำหน้าที่ช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินก่อนถึงโรงพยาบาล โดยปีนี้มีนักศึกษาที่สำเร็จการศึกษาเป็นรุ่นแรกจำนวน 29 คน
นพ.อนุชา เศรษฐเสถียร เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กล่าวว่า สพฉ.ได้ร่วมกับคณะแพทย์ศาสตร์จัดทำหลักสูตรนี้ขึ้นในประเทศไทยเพื่อให้เกิดการเรียนการสอนสำหรับวิชาชีพนี้โดยเฉพาะ ซึ่งผู้ที่เข้าเรียนในสาขาวิชานี้จะมีความสามารถในการช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินก่อนถึงโรงพยาบาล และมีใบประกอบวิชาชีพเป็นของตนเอง ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยฉุกเฉินมีความมั่นใจในการรับบริการด้านการแพทย์ฉุกเฉินทัดเทียมกับนานาประเทศ โดยเป้าหมายต่อจากนี้อีก 10 ปีข้างหน้า สพฉ.คาดว่าจะมีการผลิตบุคลากรในสาขานี้มากกว่า 2,000 คน ซึ่งจะทำให้การช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินมีความครอบคลุมมากยิ่งขึ้น โดยนักปฏิบัติการฉุกเฉินการแพทย์จะกระจายไปทำงานตามโรงพยาบาลในชุดปฏิบัติการฉุกเฉินระดับสูง และในอนาคตหากมีบุคลากรเพียงพอจะกระจายไปทำงานในส่วนของท้องถิ่น เพื่อให้การช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินมีความครอบคลุมมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตามนักปฏิบัติการฉุกเฉินการแพทย์เหล่านี้จะต้องไปฝึกงานภาคปฏิบัติก่อนจะทำงานจริงในโรงพยาบาล 8 แห่ง คือ โรงพยาบาลรามาธิบดี โรงพยาบาลราชวิถี โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า โรงพยาบาลวชิระพยาบาล โรงพยาบาลศูนย์ขอนแก่น โรงพยาบาลศูนย์ลำปาง โรงพยาบาลหาดใหญ่ และโรงพยาบาลมหาราชจังหวัดนครราชสีมา
ด้าน ผศ.นพ.รัตน์ สอนสุภาพ หัวหน้าภาควิชาเวชกิจฉุกเฉิน และผู้ช่วยคณบดีฝ่ายวิชาการและโรงพยาบาลคณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม กล่าวว่า นักปฏิบัติการฉุกเฉินการแพทย์จะทำให้ระบบการแพทย์ฉุกเฉินในประเทศไทยมีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น เพราะในอดีตยังไม่มีหลักสูตรนี้โดยตรงซึ่งที่ผ่านมาหน้าที่ในการดูแลผู้ป่วยฉุกเฉิน ณ จุดเกิดเหตุจะเป็นหน้าที่พยาบาลที่ได้รับการฝึกอบรม ทำให้เกิดข้อจำกัดในการบริการทางการแพทย์ฉุกเฉิน อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มภาระในกับพยาบาลที่ต้องทำงานในโรงพยาบาลด้วย ดังนั้นทางมหาวิทยาลัยจึงร่วมกับ สพฉ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผลักดันหลักสูตรนี้ขึ้นมา เพื่อดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินนอกโรงพยาบาลให้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น โดยเริ่มเปิดสอนครั้งแรกในปี 2553
ทั้งนี้นักปฏิบัติการฉุกเฉินทางการแพทย์ฉุกเฉิน จะเป็นส่วนเติมเต็มให้ระบบการแพทย์ฉุกเฉินมีคุณภาพมากยิ่งขึ้น โดยนักปฏิบัติการฉุกเฉินการแพทย์ที่เข้ารับการศึกษา จะได้เรียนรู้เรื่องการช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉิน ณ จุดเกิดเหตุ และการดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินระหว่างการนำส่งซึ่งจะมีเทคนิคทางการแพทย์ที่จะต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านในการดูแล เช่น การใส่ท่อช่วยหายใจ นอกจากนี้ยังมีความเชี่ยวชาญในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากเหตุสาธารณภัยขนาดใหญ่ และสามารถจัดระบบในการช่วยเหลือได้อย่างมีประสิทธิภาพ สำหรับมหาวิทยาลัยมหาสารคามจะเปิดรับนักศึกษาจาก 3 ส่วน คือ 1.รับนักศึกษาโดยตรงซึ่งคณะจัดสอบเอง โดยเจ้าหน้าที่เวชกิจฉุกเฉิน หรือ EMT-I ที่ผ่านการอบรมด้านการกู้ชีพมา 2 ปี สามารถเข้ามาสอบได้ 2.การรับนักศึกษาโดยตรงของทางมหาวิทยาลัย และ 3.รับนักศึกษาจากการสอบระบบแอดมิดชั่น โดยหลักสูตรนี้จะมีการเรียนการสอน 4 ปี และได้ปริญญาตรีวิทยาศาสตรบัณฑิต (เวชกิจฉุกเฉิน)
นายจัตุรงค์ เตชเจริญศรี ผู้สำเร็จการศึกษานักปฏิบัติการฉุกเฉินทางการแพทย์ กล่าวว่า เคยทำหน้าที่เป็นเจ้าหน้าที่ EMT-I โรงพยาบาลมหาราช จังหวัดนครราชสีมา มากกว่า 10 ปี แต่ต้องการความก้าวหน้าในอาชีพ และอยากทำหน้าที่ในการช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินมีคุณภาพมากขึ้นจึงเข้ามาสมัคร ซึ่งในหลักสูตรของการเรียนการสอนจะได้เรียนรู้การช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉิน ณ จุดเกิดเหตุ ในหลายสถานการณ์ โดยหลังจากนี้จะต้องไปฝึกงานอีก 6 เดือน และจะได้เข้ามาทำหน้าที่ช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินได้อย่างเต็มที่